“CARAVAN” ความฝันสิบปีของเวนิกา วิล เทวกุล


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

“CARAVAN” นิตยสารรายเดือนสี่สีเล่มล่าสุดของเมืองไทยที่ตีพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษทั้งเล่ม และจัดตัวเองเป็นสิ่งตีพิมพ์สำหรับชาวมหานครที่เรียกกันว่า “ CITY MAGAZINE” ของเมืองไทย

เจ้าของนิตยสารเล่มนี้เป็นคนไทย ชื่อ เวนิกา วิล เทวกุล

เวนิกาหรือนิกกี้ ชื่อที่ถูกเรียกมากกว่าชื่อจริง โดยเฉพาะในแวดวงโฆษณาที่คลุกคลีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เริ่มงานด้านการตลาดให้กับบริษัท J.L.MORRISONS SONS AND JONES MARKETING ในเครือ ของ GUINNESS GROUP หลังจากทำงานได้ 3 ปี ก็ลาออกมาตั้งบริษัท วิล คอร์เปอร์เรชั่น รับงานด้านกราฟฟิค ดีไซด์ จนเป็นที่ยอมรับของวงการโฆษณาและสิ่งพิมพ์ในฝีมือการออกแบบ จึงขยายงานโดยเปิดบริษัท วิล แอดเวอร์ไทซิ่ง เมื่อปี 2533

“อยากทำหนังสือสักเล่มให้คนอ่านที่มีความคิด มีสมองอยากให้หนังสือมีเนื้อหาสาระที่ให้ความจริงในข้อขัดแย้งที่ไม่มีใครอยากพูดถึงแต่เรากล้าทำ รวมทั้งมีรูปเล่มสวยแบบอาร์ตแมกกาซีน และเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะต้องการให้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนจากเมืองไทยสู่ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็นำเรื่องราวน่าสนใจของประเทศอื่น ๆ กลับมาให้คนไทยอ่าน” เวนิกา กรรมการผู้จัดการบริษัท วิล บอกถึงความฝันเมื่อสิบปีที่แล้ว และมาสำเร็จจนเป็นนิตยสารชื่อคาราวาน เมื่อมกราคมปีนี้

คาราวานหมายถึงขบวนแถวนักเดินทางที่รอนแรมไปบนเส้นทางอันยาวไกล เวนิกาเลือกชื่อนี้ในฐานที่ต้องการให้หนังสือในความฝันของเธอเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร เนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ เสมือนนักเดินทางนำเรื่องราวแห่งดินแดนที่ตนจากมา บอกเล่าแก่ผู้คนตามเส้นทาง

ประสบการณ์ในวงการโฆษณาและการตลาดของเวนิกาทำให้หนังสือใหม่อย่าง คาราวานมีความพร้อมสูงในหลาย ๆ ด้านแม้จะเป็นนิตยสารฉบับแรกของบริษัท วิล คอร์เปอร์เรชั่น ภายใต้ชื่อ GALLEON PUBLISHING

ความได้เปรียบข้อหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับความอยู่รอดของนิตยสารในบ้านเราคือ ยอดการขายโฆษณา คาราวานกำหนดอัตราค่อนข้างสูงถึง 50,000 บาทต่อหนึ่งหน้าเต็มสี่สี และวางเป้าไว้ว่า เล่มหนึ่งจะมีโฆษณาลง 25% ของจำนวนหน้าพิมพ์ทั้งหมดในเล่ม

ฉบับปฐมฤกษ์ของคาราวานมีทั้งหมด 116 หน้า เวนิกาและลูกทีมอีกสามคนหาโฆษณาลงได้ 32 หน้าครึ่ง เท่ากับว่าทะลุเป้าหมายที่วางไว้ 3 หน้าครึ่ง

ในจำนวนนี้เป็นโฆษณาของลูกค้า 3 ใน 4 รายที่วิล แอดเวอร์ไทซิ่ง เป็นผู้วางแผนการตลาดและการซื้อสื่อโฆษณาให้คือ กาโต้เฮาส์และร้าน CROSS ROADS ของบริษัท JAGTAR AND SONS ลงโฆษณารายละหน้าและเสื้อยี่ห้อ KOO KAI มีโฆษณา 2 หน้า

“การมีบริษัททำโฆษณา ไม่ได้ช่วยให้มีโฆษณาเพิ่มขึ้นโดยตรง แต่อาจจะช่วยส่งเสริมทาง อ้อม โดยอาศัยประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มานาน” เวนิกากล่าว

ความเป็นบริษัทที่ช่ำชองงานกราฟฟิคดีไซน์มาก่อนทำให้การจัดวางรูปเล่มของคาราวาน ซึ่งใช้งานคอมพิวกราฟิคเข้ามาผสมผสาน มีความลงตัวที่สวยงาม การมีช่างภาพฝีมือดี ทำให้นิตยสารเล่มนี้เน้นศิลปะในการถ่ายภาพมาก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายแบบแฟชั่น ภาพถ่ายบุคคล การบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพ ตลอดถึงหน้าโฆษณาก็พิถีพิถัน

ช่างภาพฝีมือดี อย่างเช่น PHILIP BLENKINSOP ชาวออสเตรเลีย ได้รับรางวัลถ่ายภาพเชิงข่าวยอดเยี่ยมจากหลายประเทศ เป็นคนหนึ่งในจำนวน 4 คนที่เข้ามาร่วมงานกับคาราวานโดยผ่านทางบริษัท LIGHT HOUSE PHOTOGRAPY AGENCY ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในเครือของบริษัท

วิล คอร์เปอร์เรชั่น

บริษัทไลท์เฮาส์ จะมีสตูดิโอถ่ายภาพบริการให้ตลอดจนหางานถ่ายภาพให้ด้วย ช่างภาพที่ต้องการเป็นสมาชิกต้องเสียค่าจดทะเบียน 5,000 บาทต่อปี และถูกหักประมาณ 20% จากรายได้ที่ ได้รับจากงานที่ทางบริษัทจัดหาให้

“รูปภาพทั้งหมด เป็นภาพที่ช่างภาพตั้งใจถ่ายเพื่อลงคาราวานเท่านั้นไม่ได้เอารูปเก่าหรือทำ ก๊อปปี้เพื่อลงฉบับอื่นด้วย รวมทั้งเนื้อหาก็เช่นเดียวกัน” เวนิกา เล่าถึงที่มาของเนื้อในของหนังสือ

คาราวาน มีบรรณาธิการบริหารเป็นคนไทย คือ ภารวี วงศ์จิรชัยหรืออัลเบิร์ต ซึ่งเป็นเพื่อนกับ เวนิกามาตั้งแต่วัยเด็กแม้จะเติบโตขึ้นมาในประเทศไทย แต่อัลเบิร์ตก็คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย เพราะเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก และไปต่อไฮสกูลที่อเมริกา จนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกลับมาทำงานเป็นก๊อปปี้ไรท์เตอร์ให้กับบริษัทเมอริเดียนเอเจนซีและบริษัทเรนทรี ประมาณ 2 ปี จึงกลับไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

ในระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์ อัลเบิร์ตเขียนบทความทางศิลปะส่งให้นิตยสารหลายฉบับ เช่น ARTLINK ของออสเตรเลีย และ FAR EASTERN ECONOMIC REVEIW

อัลเบิร์ตเข้ามารับหน้าที่บ.ก.ให้กับคาราวานเป็นรุ่นที่สาม หลังจากที่เวนิกาทดลองมาสองทีมแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2536 แต่หนังสือออกมายังไม่ถูกใจ ทำให้ต้องยืดเวลาออกหนังสือจากที่ตั้งใจว่าเป็นพฤศจิกายนปีที่แล้ว มาเป็นมกราคมของปีนี้

“ตอนนี้จำนวนคนอ่านนิตยสารภาษาอังกฤษอาจจะน้อย แต่มั่นในว่าต่อ ๆ ไปคนอ่านจะเพิ่มมากขึ้น ดิฉันเชื่อเรื่องการสร้างตลาดมากกว่าการตามใจตลาด ดิฉันมั่นใจว่าจากปากต่อปาก คนจะรู้จักคาราวานมากขึ้นเรื่อย ๆ” เวนิกา พูดด้วยความมั่นใจกับนิตยสารคาราวาน ที่จะติดตลาดผู้อ่านอย่างแน่นอน แม้ว่า จะเป็นภาษาอังกฤษและมีราคาเล่มละ 120 บาท ซึ่งแพงกว่าเล่มอื่นเกือบหนึ่งเท่าตัว

ตลาดหนังสือของคาราวานจะไม่อยู่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น เวนิกากำลังติดต่อกับผู้จัดจำหน่ายของลอสแอลเจลิสและลอนดอนเพื่อหาลู่ทางในการส่งออกคาราวานไปวางแผงในเมือง ใหญ่ ๆ ของอเมริกาและอังกฤษ คาดว่า “คาราวาน” เล่มที่ 6 จะออกวางแผงในเมืองใหญ่ ๆ ของอเมริกาและอังกฤษ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.