|

บีบีเอส เครือข่ายไฮเทคเพื่อคนเหงา
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
บีบีเอส (BBS) หรือ BULLENTIN BOARD SYSTEM ทำหน้าที่คล้าย ๆ “ชมรมวีอาร์” (ชมรมวิทยุสมัครเล่น) ในการเป็นเครือข่ายติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเพียงแต่เครื่องมือไม่ใช่วิทยุแต่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อนำความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกับคนอีกนับร้อยนับพันไม่ว่าในหรือนอกประเทศ
บีบีเอส จึงเป็นโลกมหัศจรรย์ที่อาศัยเทคโนโลยีที่ออนไลน์สร้างสรรค์ความรู้ ความบันเทิงและข่าวสารข้อมูลด้วยปัจจัยราคาคอมพิวเตอร์ที่ถูกลงมากและการขยายหมายเลขโทรศัพท์สองล้านเลขหมายกับการพัฒนาเป็นโปรแกรมภาษาไทย ทำให้ข้อจำกัดเดิม ๆ หมดไปในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา
เพียงงบการลงทุนขั้นต้นกับการซื้อโมเด็มตัวหนึ่งไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ต่อเข้ากับสายโทรศัพท์กับเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ แค่นี้ก็สามารถตั้งบีบีเอสไว้คุยกับคนคอเดียวกันทั้งในและนอกประเทศได้แล้วที่บ้านโดยควักกระเป๋าจ่ายค่าโทรศัพท์ครั้งละสามบาทเท่านั้น
ณ สิ้นปีที่แล้ว ในเมืองไทยมีบีบีเอสจำนวน 33 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 5 แห่งที่กระจายตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เช่นที่เชียงใหม่ที่ใช้ชื่อเครือข่ายว่า CHIANGMAIUNI กับ TG ส่วนที่นครราชสีมาคือ PULSE และที่ชลบุรี THESIS MAKER
บีบีเอส ส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บค่าสมาชิก แต่เปิดใช้เป็นบางช่วงเวลาหรือตลอด 24 ชั่วโมง ลักษณะการจับกลุ่มคนคอเดียวกัน ก็มีบางกลุ่มเป็นนักศึกษา ที่ทำเพื่อความสนุกสนาน เช่น กลุ่ม CASTLE จะตั้งศูนย์บีบีเอส โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ที่บ้าน 539-7914 ติดต่อตั้งแต่สองทุ่มถึงหกโมงเช้า หรือกลุ่มที่สนใจเรื่องดำน้ำก็มีกลุ่ม SCUBA โทร.578-1018 และ 578-0419 ส่วนกลุ่มช่างภาพก็มี PHOTOMANIA 578-0020 หรือกลุ่มกราฟฟิกดีไซน์ก็มี GRAPHIC VISION โทร.319-7916 เป็นต้น
ดังนั้นเวลาดึกสงัดที่ไม่มีใครใช้สายโทรศัพท์แล้ว คนเหงา ๆ เหล่านี้จะจดหมายถึงใครบางคนเป็นการเฉพาะแบบส่วนตัวหรือแบบสาธารณะชนิดอยากประกาศก้องโลกว่าคิดค้นโปรแกรมและเกมใหม่ ๆ ก็มี บางทีก็มีการแลกเปลี่ยนทัศนะการเมือง ศาสนา ปรัชญา สุขภาพ ฯลฯ
แต่กลุ่มที่นับว่าใหญ่ที่สุดมีสายโทรศัพท์อัตโนมัติมากที่สุดแปดสาย ก็คือ “MANNETOS” ซึ่งมีฐานสมาชิกไม่ต่ำกว่าสามพันราย ที่เป็นคนอ่านหนังสือคอมพิวเตอร์ในเครือแมนกรุ้ฟ แล้วสนใจอยากหาเพื่อนคุยเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ หรือปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์ตลอดจนเรื่องรอบ ๆ ตัว
“สมาชิกที่ใช้แมนเนตแล้วจะค่อนข้างติด เพราะเขาสามารถคุยและโต้ตอบกับคนได้หลาย ๆ คนและเสนอความคิดเห็นโดยมีขีดจำกัดน้อย อย่างตอนที่มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีการใช้แมนเนตรายงานข่าวมากเหมือนกัน แถมยังวิจารณ์การเมืองด้วย” ระวิช ภุมรินทร์ บรรณาธิการ “นิตยสาร พีซีวีค” เล่าให้ฟัง ระวิชทำหน้าที่ดูแลด้านเทคนิคของระบบแมนเนตตั้งแต่แรกเริ่มหลังจากจบสาขาวิศวกรรม จากเทคโนโลยีลาดกระบังแล้ว
MANNET นี้แพร่หลายไปมากในระยะแค่สามปี เริ่มต้นจากสายโทรศัพท์เดียว สมาชิกต้องรอสายทีละนาน ๆ เป็นชั่วโมง และจะมีพนักงานแมนเนตนั่งคีย์คำตอบที่ถามปัญหาคอมพิวเตอร์เข้ามาวันละไม่ต่ำกว่าร้อยฉบับ แต่ภายหลังเมื่อระบบลงตัว แค่รอโทรศัพท์ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ใช้ได้
นอกจากนี้ในระยะหลังยังได้มีการดึงเอานักเขียนชื่อดังอย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ และลาว คำหอม เข้ามาเพิ่มสีสันให้กับการสื่อสารโลกมหัศจรรย์ บางทีก็มีมวลหมู่สมาชิกที่เขียนมาถามก็มี
“ผมได้หยุดใช้แมนเนตไปตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้วเพราะต้องเพ่งสายตาตลอด และเขียนจดหมายออนไลน์ไปหาลาว คำหอม เขาก็ไม่ตอบสักทีก็เลยไม่ได้ติดต่อนักเขียนอื่น ๆ ได้ เพราะแมนเนตเขาติดตั้งให้นักเขียนสองคนเท่านั้น แต่ระหว่างนั้นก็มีสมาชิกบางคนเขียนมาถามถึงการเขียนต้นฉบับและค่าตอบแทนก็มี” ศิลปินแห่งชาติ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าให้ฟัง
สมาชิกคนหนึ่งจะใช้บริการได้ตามปกติคนละ 40-60 นาที แต่จริง ๆ คนที่ใช้จะไม่มีเวลามากที่จะดูข้อมูลข่าวสารนับร้อยชิ้น จึงใช้วิธีดาวน์โหลดใส่ไฟล์ไปเก็บที่เครื่อง พออ่านเสร็จอยากตอบคำถามก็ส่งมาเลย
สำหรับมือใหม่ที่อยากรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้ MANNET ก็ไม่ยาก เพียงแต่ติดตั้งโมเด็มเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าจะเลือกติดต่อใช้ภาษาไทย ก็โหลดโปรแกรมไทยไดรเวอร์ไม่ว่าจะเป็น THAIPRO หรือ VTHAI ก็ได้ไว้ที่หน่วยความจำของเครื่อง ก่อนที่จะทำการเรียกโปรแกรมสื่อสาร แต่ต้องกำหนดรหัสภาษาไทยเป็นสมอ.
หลังจากนั้นป้อนชื่อและนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษและป้อนข้อมูลส่วนตัวเรียบร้อยแล้วระบบจะตอบรับและบริการให้ข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ เพียงแต่กดปุ่ม ENTER เพื่อให้แสดงหน้าจอต่อไป
ขั้นตอนต่อไปคือ การเลือกเมนูรายการหลักเจ็ดอย่างตั้งแต่ หนึ่ง- MAN GROUP BUSINESS LINE เกี่ยวกับเครือแมนกรุฟ สอง- IT INDUSTRY ข่าวความเคลื่อนไหวเทคโนโลยีใหม่ ๆ สาม- VENDORS สี่- BBSING เมนูข้ามโลกที่จดหมายติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งใน BBSING จะมี “ FIDONET” U’ NINET/US และล่าสุดที่เชื่อมกับไต้หวันในชื่อ “DATANETLINK” ห้า-ข่าวสังคมและตลาดหุ้น หก- ELECTRONIC MAIL ซึ่งทางเจ้าหน้าที่แมนเนตจะไม่เข้าไปดูเพราะถือว่าเป็นส่วนตัว เจ็ด- FILE LIBRARIES ห้องสมุดและแปด-เกมส์
“คนที่ใช้จะใช้ประจำเลยอาทิตย์ละสองครั้ง อาจจะมีกลุ่มพวกคนเหงา ๆ ที่โทรเข้ามาทุกวัน ๆ ช่วงปี 2535 เราลงทุนไม่ต่ำกว่าสองล้านบาทขยายระบบเป็น LAN ที่ใช้คอมพิวเตอร์หลายตัวเชื่อมต่อกัน และทางดาต้าเน็ทของชินวัตรก็ให้ความร่วมมือ ในปีที่แล้วเราก็มีบริการใหม่ แทนที่จะฝากข้อความจดหมายไว้ ก็สามารถคุยกันได้เลยทันที แต่ละคนหมุนโทรศัพท์ เข้ามาคุยพร้อม ๆกันสามสายได้เลย” ระวิชผู้ดูแลเล่าให้ฟัง
เพียงแค่โทรศัพท์ครั้งละสามบาทเท่านั้น สมาชิก MANNET ก็มีสิทธิ์ส่งจดหมายคุยแบบออนไลน์กับคนที่อเมริกาโดยผ่านศูนย์เครือข่ายไทยสารที่โยงเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
“ทุกครั้งที่คนส่งจดหมายหรือข้อมูลเข้ามา เราจะมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แมนเนตก่อนว่าไม่มีไวรัส และไม่ใช่โปรแกรมผิดกฎหมายเสื่อมเสียศีลธรรม เช่นซอฟท์แวร์ลามก หรือไปกอปปี้โปรแกรมเขามาโดยต้นสังกัดไม่รู้ ในระบบแมนเนตของเราจะไม่ปล่อยให้ทำแบบนี้! ดังนั้นที่ร้องเรียนกันมากว่า พวกบีบีเอสทำลามกนั้น ผมคิดว่ามีน้อยมาก ๆ” ผู้ดูแลแมนเนตเล่าให้ฟัง
ถึงแม้จะมีกฎหมายบ้านเมืองเอาผิดกับการเผยแพร่ภาพอนาจารก็ตาม แต่จริง ๆ แล้วตำรวจไม่มีกำลังเพียงพอจะสำรวจตรวจตรา ทำให้พวกซอฟท์แวร์โป๊เล็ดรอดออกมาเผยแพร่กับเยาวชน โดยผ่าน บีบีเอสได้ง่ายดาย
การเซ็นเซอร์ข้อมูลจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้อย่างมาก ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์อีกด้วย
โลกของบีบีเอสยังคงอัดแน่นด้วยความรู้ ข่าวสารทันโลกและความบันเทิงสำหรับคนขี้เหงา หรือถ้าเหงามาก ๆ นึกอยากจะหาคู่รักคู่รสสักคนหนึ่งบริการบีบีเอสแบบคอลัมน์ลุงหนวดก็กำลังก้าวเข้ามาในสังคมไทยยุคไฮเทคนี้ให้เลือกใช้กันตามใจ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|