เอสเอเอ โรงเรียนสอนคนเล่นหุ้น


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

“ที่นี่เป็นเหมือนเครื่องมือป้องกันไม่ให้นักเต้นบนเวทีหุ้นต้องบอบช้ำจากการเพลิดเพลินไปตามจังหวะกระทิงหรือเชื่องตามจังหวะหมี” แหล่งข่าวในบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งเปรียบถึงสถานะของ “เอสเอเอ”

“เอสเอเอ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาไทยว่า สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (สมาคม ฯ) นั้น ได้กลายเป็นโรงเรียนสอนให้คนรู้จักเล่นหุ้นอย่างมีหลักวิชามากขึ้นดังที่บุรินทร์ กันตะบุตร กรรมการ ผู้อำนวยการให้ภาพกว้างว่า “เราเป็นโรงเรียนผลิตคนป้อนตลาดทุน” ทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ โบรกเกอร์ หรือแม้แต่นักลงทุนส่วนบุคคล

เริ่มตั้งแต่หลักสูตร CFA ( CHARTERED FINANCIAL ANALYST) ของสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็น หลักสูตรที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานสูงสุดแห่งวิชาชีพและจรรยาบรรณในธุรกิจการเงินและการลงทุน ช่วย ทำให้คนเรียนพัฒนาเทคนิคและทวีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การเงินได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

“ถ้าดูทั่วโลก ซีเอฟเอ ถือว่าดีที่สุดในโลก เหมือนปริญญาโทหรือเทียบเท่าเอ็มบีเอ สาขาวิเคราะห์การเงิน จะแยกออกเป็น 7 แขนง เช่น บัญชีก็เรียนเพื่อมาวิเคราะห์ดูว่าผลตอบแทน แนวโน้มบริษัทนี้เป็นอย่างไร ถือเป็นแนววิเคราะห์ที่ลงลึกเฉพาะเรื่อง โดยมีวิทยากรซีเอฟเอจากต่างประเทศมาเป็นคนอบรม” บุรินทร์กล่าวถึงหลักสูตรสากลที่ใช้ภาษาอังกฤษและใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี ถ้าไม่ผ่านก็ต้องสอบใหม่จนกว่า

จะผ่าน ซึ่งน่าจะมีที่จบได้เป็นรุ่นแรกในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตร CISA (CHARTERERD INVESTMENT AND SECURITIES ANALYST) เป็นหลักสูตรเดียวและใช้ตำราเดียวกับซีเอฟเอ แต่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องและเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทยโดยเฉพาะด้วยการใช้หลักสูตรภาษาไทย เพื่อให้คนที่ขาดความชำนาญภาษาอังกฤษได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ เพิ่มพูนความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น

“ซีซ่าจึงเป็นหลักสูตรที่เข้ากับตลาดทุนไทยได้ดีกว่า เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่นหรืออีกหลายประเทศจะเปลี่ยนมาใช้ซีซ่ากันมาก เพราะซีซ่าคือหลักสูตรซีเอฟเอ เหมือนกันถึง 85 % เพียงแต่ตัดส่วนที่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้นทิ้งไปประมาณ 15%” บุรินทร์เปรียบเทียบหลักสูตรทั้งสอง และส่วนใหญ่ทางองค์กรจะเป็นคนส่งเข้าคอร์ส

แต่ที่เป็นหลักสูตรยอดฮิตสำหรับตลาดทุนไทยขณะนี้คือ มินิซีซ่า เพราะสั้น เร็ว ถูกกว่าหลักสูตร ทั้งสอง ทำให้สนองตอบความต้องการของตลาดทุนที่โตวันโตคืนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้

ต่างกับซีเอฟเอที่ต้องเสียค่าอบรมถึงคอร์สละ 144,350 บาท ขณะที่ซีซ่าตกคอร์สละ 75,600 บาท และใช้เวลานาน

แต่มินิซีซ่า เรียกว่ารวดเร็วทันใจใช้การได้ทันที สอดคล้องกับยุคไฮเทคของสังคมคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง..!

“อาจารย์มารวย (ผดุงสิทธิ์) เป็นคนริเริ่มหลักสูตรนี้ในปี 2535 ถือเป็นหลักสูตรที่คนนิยมมากที่สุด” บุรินทร์เล่าถึงที่มาของหลักสูตรที่แพร่หลายทั่วไปในวงการตลาดทุน ซึ่งเปิดรับสมัครไปแล้ว 10 รุ่น จำนวนร่วม 800 คน และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 11

มินิซีซ่า ใช้เวลาเรียนน้อยมาก คือ ทุกวันเสาร์จำนวน 10 วัน “แต่ได้มาตรฐานและถือว่าถ้าเพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ลงทุนอย่างน้อย 10% ก็คุ้มแล้ว เพราะจะเป็นความรู้ติดตัวที่ไม่มีวันสิ้นสุด” บุรินทร์ชี้ถึงสาเหตุที่ผู้คนยอมลงทุนเงิน 19,099.50 บาทกับวิชาที่คิดว่าตัวเองจะได้ไป ขนาดที่นักเล่นหุ้น บางคนอุตส่าห์บินจากเชียงใหม่ทุกเสาร์เพื่อมาเรียนคอร์สนี้โดยเฉพาะ

เพราะมินิซีซ่าเป็นหลักสูตรพื้นฐานการวิเคราะห์ การเงิน หลักทรัพย์โดยจะเริ่มฉายภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจไทย โครงสร้างตลาดทุนไทยการดูงบดุล ตลอดไปถึงการวิเคราะห์หุ้นทั้งในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค ซึ่งจะต้องดูประกอบกัน และถือว่าเป็นการอบรมที่เน้นพื้นฐานการปฎิบัติเป็นหลัก

“เหมือนกับการปฐมนิเทศน์ทุกพื้นที่ของการวิเคราะห์หุ้นแต่ไม่ลึก จุดประสงค์ คือให้เขามีความรู้ มีแนวคิด พออ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้เรื่อง เช่นที่บอกว่าจีดีพีดีมาก มีทั้งที่พูดถึง 7.7% หรือ 8.2% นั้นมีความสำคัญยังไงต่อหุ้น หรือการที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น 3 บาท 5 บาทมีความหมายและมีผลยังไงต่อคอร์สของแต่ละ อุตสาหกรรม” บุรินทร์ยกตัวอย่างถึงหลักสูตร

โดยเฉพาะ ตั้งแต่รุ่นที่ 8 ซึ่งเริ่มเปิดสอนในเดือนมกราคม ที่ผ่านมานี้ ได้จัดให้เล่นเกมส์เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้นจริงโดยจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 4 คน สมมุติให้แต่ละกลุ่มมีเงินทุนกลุ่มละ 10 ล้านบาท มีกติกาให้กระจายไปลงทุนในแต่ละธุรกิจในลักษณะคล้ายกับทำตัวเหมือนกองทุน ซึ่งต้องมีกลุ่มลงทุนมากหน่อย ไม่ใช่เล่นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อจบหลักสูตรใครที่ทำกำไรได้สูงก็จะได้คะแนนมากที่สุด

นอกเหนือจากเดิมที่กำหนดหลักสูตรแค่ 2 แบบ คือแบบแรก ใครที่เข้าเรียนครบ 80% ของชั่วโมง ก็ถือว่าจบ อีกแบบหนึ่งคือ ให้ยกตัวอย่างหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นกรณีศึกษารายงานวิเคราะห์ในตอนท้ายหลัก-สูตรว่ามีเหตุผลอย่างไรในการเลือกซื้อหุ้นตัวนั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะสมัครใจเลือกแบบไหน โดยจะมีประกาศนียบัตรรับรองที่ต่างกัน

ตอนนี้ เรียกว่า มินิซีซ่าเป็นที่นิยมเกินกว่าที่บุรินทร์คาดไว้..!

จากปี 2536 ที่จัดไป 5 รุ่น ๆ ละประมาณ 80 คน จบไป 396 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2535 ถึง 77% ที่มีเพียง 224 คน

โดยสัดส่วนคนที่เรียนจะมาจากกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สูงถึงประมาณ 68% รองลงมาเป็น นักลงทุนส่วนตัวกว่า 13% ตามด้วยพนักงานแบงก์ในระดับ 6% เศษ เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์และผู้สื่อข่าวอยู่ที่ 4% กว่าและ 3% กว่าตามลำดับ

“การที่โบรกเกอร์ส่งคนเข้าไปเรียนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่าหนึ่งปีเพื่อเสริมความรู้ให้แน่นหนาและแนะนำลูกค้าได้มากขึ้น” แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าว “อย่างตะวันออกฟายแน้นซ์บางครั้งส่งเข้าเรียนถึงคอร์สละเป็น 10 คนขึ้นไป”

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในวงการหลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า “ปกติของเราจะมีอบรมความรู้พื้นฐานเหล่านี้แก่พนักงานใหม่อยู่แล้ว แต่การที่เราส่งเข้าเรียน ทำให้เราได้คอนเนกชั่นและสังคมที่กว้างขึ้น”

ส่งผลให้สมาคม ฯไม่เป็นแต่เพียงโรงเรียนสอนคนเล่นหุ้นให้เป็นเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมใหม่ของเหล่าโบรกเกอร์ไปด้วย..!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.