ชุมพรปาล์มเข้าตลาดฯ ทางรอดของอุตสาหกรรมปาล์มไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

หนึ่งปีที่ผ่านมาของธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยภายหลังการเริ่ม เปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า ดูเหมือนว่า จะยังมองไม่เห็นผลกระทบมากนัก ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เชื่อกันมาตั้งแต่ตอนแรก ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเกิดอาฟต้ามากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียแล้ว ไทยเสียเปรียบในการผลิตแทบจะ ทุก ๆ ด้าน

เชื่อกันว่าการที่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับปาล์มของไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบก็เนื่องจากกลุ่มทุนในธุรกิจนี้สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน

“ตอนแรกนี้เมื่อเทียบเรากับมาเลเซีย ดูเหมือนจะไม่ต่างกันมากนัก” สุภิสิทธิ์ ช่อเรืองศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) บอกกับ “ผู้จัดการ” ถึงธุรกิจปาล์มของไทยในวันนี้ ก่อนที่จะเสริมรายละเอียดต่อ

รายละเอียดที่เห็นชัดในธุรกิจปาล์มระหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องปาล์มที่ใกล้เคียงกันในวันนี้ก็คือ ผลผลิตน้ำมันจากปาล์ม ซึ่งหลาย ๆ โรงงานของไทย โดยนับเฉพาะ โรงงานที่ได้มาตรฐาน สามารถที่จะผลิตน้ำมันได้ในสัดส่วนประมาณ 20-21% ของน้ำหนักปาล์มขณะที่มาเลเซีย อยู่ในระดับประมาณ 19-22%

นี่คือความสำเร็จของอุตสาหกรรมปาล์มของไทย ที่สามารถ “สร้าง” สายพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตดีขึ้นมาเองได้ หลังจากมีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศมาทดดลองหลาย ๆ พันธุ์จากหลาย ๆ ประเทศ

แต่ธุรกิจปาล์มของไทยยังด้อยกว่ามาเลเซียในเรื่องของทุน ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีบริษัทที่ทำธุรกิจปาล์ม 2 บริษัท กระจายหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนจากประชาชนเข้าเสริมเงินทุนจากเจ้าของเดิม คือสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและเอบิโก้

“อุตสาหกรรมปาล์มของมาเลเซีย เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ระดับชาติเช่นเดียวกับยางพาราพวกนี้ มีเงินลงทุนมาก มีการดำเนินธุรกิจแบบอินเตอร์ หากทุนไทยไม่หนาพอก็ยากที่จะต่อสู้ในตลาดโลกได้” คนรู้เรื่องปาล์มคนหนึ่งอธิบายให้ฟัง

ดังนั้น เมื่อคิดที่จะใหญ่ก็ต้องเตรียมระดมทุนเข้าสู้

ล่าสุด ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ก็เลยตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินทุนมาขยายงานในยุคที่อุตสาหกรรมปาล์ม เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกฎหมายอาฟต้า และโลกที่กำลังไร้พรมแดน

เมื่อโลกไร้พรมแดนในยุคการค้าเสรี ผู้ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด !!!

นั่นคือเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น

ถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการรองผู้จัดการ กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า การระดมทุนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์ม จากปีละ 30 ตันผลปาล์มสดต่อชั่วโมง เป็นปีละ 45 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ จะเริ่มได้ในประมาณกลางปี หลังจากที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว

“การลงทุนครั้งนี้จะใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่น เยอรมนีหรือออสเตรเลีย” ถกลกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ถึงเงินลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป ที่ขายในราคาหุ้นละ 55 บาทจากราคาพาร์ 10 บาทจำนวน 4.5 ล้านหุ้น จากการเพิ่มทุนของบริษัทจาก 165 ล้านบาทเป็น 210 ล้านบาท

ว่าไปแล้ว กลุ่มทุนที่ดำเนินการในชุมพรอุตสาหกรรมปาล์ม(มหาชน) ไม่ได้เป็นนักธุรกิจใหม่ แต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขาเพิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมปาล์ม หลังจากที่เดิมและในวันนี้ พวกเขาอยู่ในธุรกิจ น้ำตาลมาโดยตลอด

โดยบริษัทในเครือของกลุ่มนี้ก็คือ รุ่งเรืองปาล์มออยล์ปะทิวการเพาะปลูกและพรีซิสชั่นแมคแค-นิคอล ซึ่งเป็นบริษัทที่ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์ม (มหาชน) ถือหุ้น ขณะที่ตระกูลผู้ก่อตั้ง คือตระกูล “ถวิลเติมทรัพย์” ยังคงทำธุรกิจน้ำตาลอยู่คือ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลหนองใหญ่ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช หรือเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาที่ดินด้วยการจับมือกับชาญ โสภณพนิช ตั้งบริษัท บำรุงราษฎร์เอ็ม.ซี. เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมที่ซอยนานา และยังมีโครงการอีกแห่งที่ซอยประสานมิตร

ที่สำคัญที่พวกเขาเชื่อในเรื่องการขยายการลงทุนก็คือพวกเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ

ทั้งนี้เพราะ ในเครือข่ายของพวกเขา คือปะทิวการเพาะปลูก และรุ่งเรืองปาล์มออยล์ เป็นบริษัท ผู้ผลิตปาล์มที่มีที่ดินเป็นของตนเอง กล่าวคือ ปะทิวการเพาะปลูก มีที่ดินถือครองที่เป็นสวนปาล์มอยู่ประมาณ 10,000 ไร่ ขณะที่รุ่งเรืองปาล์มออยล์ มีที่ดินเป็นสวนปาล์มของตนเองอีกประมาณ 12,000 ไร่ อันเป็นเครื่องค้ำประกันอย่างดีว่าพวกเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องผลปาล์มดิบที่เป็นวัตถุดิบเข้าโรงงาน

อีกประการก็คือ พวกเขาสามารถที่จะพัฒนาพันธุ์ที่จะให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มได้ด้วย

การที่ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ขยายการลงทุนถึง 50% นั้น ถกลให้การอธิบายว่า เนื่องจากในปัจจุบันการบริโภคน้ำมันพืชของไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ กล่าวคือยังอยู่ในระดับ 7-8 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ระดับ 30 กิโลกรัมเท่ากับญี่ปุ่น “หรือแม้แต่มาเลเซียก็ยังมีอัตราการบริโภคอยู่ในระดับคนละ 20 กิโลกรัมต่อปี”

เป็นตัวเลขที่ทำให้กลุ่มทุนนี้ตัดสินใจยอมแปรสภาพเป็นมหาชน

และนี่คือทางออกที่ดีทางหนึ่งของธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มของไทยในยุคอาฟต้าเริ่มมีผลบังคับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.