สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นบนเส้นทางแห่งการแข่งขัน

โดย สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับการล้มเหลวของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา บิล คลินตันและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โมริฮิโร โฮโซกาวา ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการค้าทวิภาคี อันเป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกามีการขาดดุลกับญี่ปุ่นถึงกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐและเป็นการขาดดุลติดต่อกันนับเป็นทศวรรษแล้ว

ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดสองชาตินี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตรรกทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็หลีกเลี่ยงได้ยาก

ในส่วนของประธานาธิบดีคลินตันนั้น การเรียกร้องที่จะให้ประเทศญี่ปุ่นเปิดประตูการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถขยายธุรกิจที่ได้เปรียบในเชิงการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันภัย ธุรกิจโทรคมนาคม เครื่องมือการแพทย์ และอื่น ๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมที่คลินตันได้ทำไว้ตอนหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีการดำเนินนโยบาย ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น การประนีประนอมหรือการอ่อนข้อต่อญี่ปุ่น ก็ย่อมหมายถึงการเสียคะแนน และความนิยมตลอดจนคำมั่นที่มีต่อประชาชน

ในส่วนของผู้นำญี่ปุ่นนั้น อาจกล่าวได้ว่าการเป็นรัฐบาลผสมถึง 7 พรรคนั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของรัฐบาล ตลอดจนความเปราะบางของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโฮโซกาวา

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นี้ได้ฟันฝ่าอุปสรรคสำคัญ ๆ 2 ประการมาได้อย่างหวุดหวิด กล่าวคือ การยินยอมที่จะเปิดประตูการค้าพืชผลเกษตรเพื่อเปิดทางให้การเจรจาแกตต์รอบอุรุกวัยประสบความสำเร็จ ถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมสำคัญสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเสี่ยงต่อความอยู่รอดไม่น้อย ดังในกรณีของรัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งถึงกับต้องลาออก

นอกจากนั้นความสำเร็จในการดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมือง ภายหลังจากการเจรจากับ ฝ่ายค้านในนาทีสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของโฮโซกาวานั้น ถือเป็นการฟันฝ่าอุปสรรคที่สำคัญ

ความสำเร็จทั้งในเรื่องการประนีประนอมในกรอบของแกตต์ก็ดี หรือในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองก็ดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนและคะแนนนิยมส่วนตัวที่ประชาชนญี่ปุ่นมีต่อโฮโซกาวา อาจกล่าวได้ในอีกนัยหนึ่งก็คือ เสถียรภาพของรัฐบาลโฮโซกาวาเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัว ของคะแนนนิยมที่ประชาชนญี่ปุ่นมีต่อตัวผู้นำรัฐบาล และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประนีประนอมทั้งสองประการสำเร็จและสามารถรักษาความต่อเนื่องของรัฐบาล แม้จะมีความเปราะบางจากจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลสูงถึง 7 พรรคก็ตาม

เงื่อนไขดังกล่าวย่อมหมายความว่า การรักษาคะแนนนิยมส่วนตัวของโฮโซกาวาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง สำหรับการรักษาความอยู่รอดของรัฐบาลการยินยอมต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในการเปิดประตูการค้าเพิ่มเติมจากที่เคยประนีประนอมในกรอบของแกตต์ ย่อมหมายถึงผลกกระทบต่อความนิยมของประชาชนที่มีต่อผู้นำญี่ปุ่น และส่งผลในรูปของบูมเมอแรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้ว

สหภาพการณ์หรือตรรกทางการเมืองดังกล่าวจึงนำไปสู่การไม่อาจหาข้อยุติหรือการประนีประนอมระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น และนำไปสู่ความล้มเหลวในการประชุมสุดยอดที่ผ่านมาเพื่อหาทาง คลี่คลายปัญหาการค้า อันเกิดจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบจากความล้มเหลวดังกล่าวนั้นในประการแรกก็คือ เป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็น

ในอดีตอาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นมักจะต้องยินยอมประนีประนอมให้แก่สหรัฐอเมริกา ผิดกับสหภาพยุโรปที่เริ่มแสดงแนวโน้มในการที่จะแสดงกำลังภายในในการต่อรองต่าง ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 การปฏิเสธของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้อาจถือเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ อันเป็นสัญลักษณ์ของความปีกกล้าขาแข็งของญี่ปุ่นและเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่านับวันผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นนั้นจะแตกต่างกับสหรัฐอเมริกา

ในอดีตผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น มักจะถูกบดบังด้วยผลประโยชน์แห่งชาติในด้านความมั่นคง ในกรอบของโลกยุคสงครามเย็น น้ำหนักของความมั่นคงย่อมอยู่เหนือเศรษฐกิจและ ในกรอบดังกล่าวนี้เอง การประนีประนอมของญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับความมั่นคงภายใต้การปกป้องของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

อย่างไรก็ตามในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงภายหลังสงครามเย็น ภยันตรายในด้านภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงโดดเด่นขึ้นมาและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งสอง

มีการประเมินกันว่าความล้มเหลวดังกล่าวจะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ภายหลังการล้มเหลวของการเจรจาดังกล่าว ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาได้มีท่าทีที่จะใช้แรงบีบคั้นต่อญี่ปุ่น ความจริงสหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินการได้หลายทาง ประการแรก อาจใช้กลยุทธ์บีบค่าเงินเยนให้แข็งตัวเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในด้านการส่งออก อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวมีอันทรุดลงไปอีก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกด้วย ทั้งยังอาจนำไปสู่การพังทลายของรัฐบาลโฮโซกาวา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้นำสหรัฐ ฯ คงไม่ประสงค์ที่จะเห็น

หนทางอื่น ๆ ที่ผู้นำสหรัฐ ฯ อาจใช้ได้นั้นประกอบด้วยการดำเนินตามมาตรา 301 ตลอดจนการขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (ANTI-DUMPING) หรืองัดเอากฎหมายต่อต้านการผูกขาด (ANTI-TRYST) มาเล่นงานธุรกิจญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะคาดเดาไว้ว่าผู้นำสหรัฐอเมริกา คงจะใช้มาตรการบีบคั้นที่คำนึงถึงเป้าหมายสองประการ กล่าวคือในทางหนึ่งจำต้องแสดงถึงท่าทีเอาจริงเพื่อรักษาหน้าและการรักษาคำพูด ของประธานาธิบดีคลินตัน แต่ในอีกทางหนึ่งก็คือพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการรุนแรงจนส่งผลกระทบ ต่อเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้โฮโซกาวา ผู้นำของญี่ปุ่นเองนั้นเมื่อได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อรักษาคะแนนนิยมในทางสาธารณะจากการประชุมสุดยอดแล้ว แรงบีบคั้นและผลกระทบทางธุรกิจต่อการดำเนินมาตรการของสหรัฐอเมริกา คงจะเป็นข้ออ้างเพื่อการประนีประนอมในภายหลังได้

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นคงไม่เกิด เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นการทวนกระแสเจตนารมณ์ของแกตต์รอบอุรุกวัยที่เพิ่งตกลงลุล่วงไปได้ไม่นาน ในทางตรงข้ามระยะที่เรียกว่า “COOLING- OFF PERIOD” ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายครุ่นคิดเพื่อนำไปสู่การหาทางคลี่คลาย และลดการเผชิญหน้า อันอาจจะนำไปสู่การประนีประนอมในที่สุด

อาจกล่าวได้ว่าการล้มเหลว ในการประชุมสุดยอดของผู้นำสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่นที่ผ่านมานี้คือจุดเริ่มต้นของการแสดงออกของโลกยุคหลายขั้วอำนาจ และเป็นการปิดม่านของโลกภายใต้การครอบงำของขั้วใดขั้วหนึ่งโดยเฉพาะ ?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.