ความล้มเหลวการรวม กิจการระหว่างกลุ่มทรีนีตี้ วัฒนาและ บล.ยูไนเต็ดกลาย
เป็นข้อสงสัยของวงการการเงินที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายจากทั้งสองฝ่าย
นับตั้งแต่ ภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ และพนักงานอีกกลุ่มเดินออกจาก บล.เอกธำรง
(ปัจจุบันคือ บล.เคจีไอ) หลังจากขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นใหม่แล้วมาจัดตั้งกลุ่มบริษัททรีนีตี้
วัฒนา ช่วง ต้นปี 2544 ที่มี บล.ทรีนีตี้เป็นธุรกิจหลัก โดยได้รับความช่วยเหลือ
ทางด้านการให้บริการ back office จาก บล.ยูไนเต็ด
ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะซับโบรกเกอร์ ก็ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นผ่านบล.ยูไนเต็ดจนกระทั่งฝ่ายแรกขยับขึ้นเป็นโบรกเกอร์เบอร์
22 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และด้วยการเอื้อประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจซึ่งกันและกัน
ทั้งสองจึงตกลงที่จะรวมกิจการเข้าด้วยกันและบรรยากาศน่าจะจบลงด้วยดี แต่ความล้มเหลวก็เกิดขึ้น
ท่ามกลางข้อสงสัยของหลายฝ่ายแม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้เซ็นบันทึกความเข้าใจให้รวมกิจการกันแล้ว
"การยกเลิกรวมกิจการกันเกิดจากความเห็นในเรื่องการดำเนินธุรกิจไม่ตรงกัน"
ศิริพงษ์ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริหาร บล.ยูไนเต็ด กล่าว
ความล้มเหลวของดีลนี้เกิดขึ้น ช่วงที่หลายๆ คนกำลังสนุกสนานกับเทศกาลสงกรานต์
แต่ผู้บริหาร บล.ยูไนเต็ดกำลังหาทางออกกรณีการเลิกรวมกิจการกับกลุ่มทรีนีตี้
เนื่อง จากกังวลต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา
"ราคาหุ้นของบริษัทน่าจะปรับตัวลงหลังนักลงทุน ทราบข่าวเรื่องนี้" ศิริพงษ์บอก
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารฝ่าย บล.ยูไนเต็ดไม่ได้ ออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิเสธการรวมกิจการ
ครั้งนี้เพียงแต่อธิบายว่าแผนการการดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วยการตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด
3% และกำลังมีสถาบันการเงินที่ไม่ใช่กลุ่มทรีนีตี้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ
"แผนการที่พวกเขาประกาศออกมาแตกต่างไปจากข้อเสนอของพวกเรา" ภควัติเล่า
"หากรวมกันแล้วต้องเน้นลูกค้ารายย่อยแล้วค่อยขยายฐานออกไปยังระดับภูมิภาค
เน้นพัฒนาพนักงานการตลาด บทวิจัย รวมถึงเน้นธุรกิจวาณิชธนกิจที่สำคัญ การทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
เมื่อแนวความคิดไม่ตรงกันทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหยุด เพราะการรวมกิจการกันเป็นเรื่องการบริหาร
ซึ่ง บล.ยูไนเต็ดอาจ จะเกิดความวิตกกังวลในอนาคตถ้าปล่อยให้ดีลนี้ประสบความสำเร็จ
ดังนั้น การยกเลิกกันถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสายตาของฝ่ายปฏิเสธ และเป็นเรื่องปกติในโลกธุรกิจ
เพราะการรวมกิจการกันนั้นต้องเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน แต่จะประสบความ สำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น
หลังกลุ่มทรีนีตี้ถูกปฏิเสธก็ต้องกลับมาสร้างธุรกิจด้วยตนเอง หลังจากสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปประมาณ
1% จากเดิม ประมาณ 3.5% ส่งผลให้การเติบใหญ่หยุดชะงักลงพอสมควร "พวกเราคิดว่าเมื่อรวมกันแล้วจะทำงานได้เร็วมากขึ้น"
ภควัติบอก "เมื่อดีลล้มเหลวเราทำงานตามแผนเดิมต่อไป"
แผนเดิมที่ว่านี้คือการเป็นโบรกเกอร์ซึ่งทำสำเร็จแล้ว มีส่วนแบ่งการตลาดติด
1 ใน 5 และเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ "นับตั้งแต่วันแรกที่ทำงานพวกเราก็มีเป้าหมาย
ชัดเจน ส่วนการรวมกิจการนั้นเป็นโอกาสเท่านั้น" กัมปนาท โลห เจริญวนิช กรรมการอำนวยการ
บล.ทรีนีตี้กล่าว
สำหรับบล.ยูไนเต็ดผลกระทบได้สะท้อนออกมาแล้ว โดยเฉพาะส่วนแบ่งการตลาดลดลงไปที่ระดับ
1.90% จากเป้า 4% ที่ เคยตั้งไว้หากดีลนี้ประสบความสำเร็จ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเหลือ
แค่ 1.20% ถือเป็นเรื่องที่บริษัทต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้ถือหุ้นโดยเร็ว
ไม่เช่นนั้นการปฏิเสธรวมกิจการกับกลุ่มทรีนีตี้ วัฒนา ครั้งนี้จะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุด