รักษาสายตาสั้นด้วยแสงเลเซอร์

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อใดที่คนเดินผ่านคุณไป 4 คน คุณเคยสังเกตไหมว่า หนึ่งในสี่นั้นจะเป็นคนสายตาสั้น เขา หรือเธออาจจะสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ก็ได้แต่ความผิดปกติทางสายตาเช่นนี้จะพบว่าคน ในเมืองเป็นมากกว่าคนชนบทเพราะวิถีชีวิตคนในเมืองต้องใช้สายตามากกว่า โดยเฉพาะในนักศึกษา หรือ นักธุรกิจ

จักษุแพทย์ สมบัติ ตันโชติกุล แห่งโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ได้ประมาณการว่า 25% ของพลเมืองไทยเป็นคนสายตาสั้น ไม่ว่าจะสั้นน้อยไม่เกิน 200 สั้นปานกลาง 200-600 หรือสั้นมาก ไม่ต่ำกว่า 600-1,000 ก็ตามที่บรรดาจักษุแพทย์ได้พยายามแก้ไขปัญหาให้บุคคลเหล่านี้ด้วยการแนะนำให้สวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์

แต่วิธีดังกล่าวมีคอนเซปท์การแก้ปัญหาคนสายตาสั้นที่ดูล้าสมัยไปเสียแล้ว เมื่อเทียบกับวิธีรักษาแบบใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน !

นั่นคือวิธีรักษาสายตาสั้นด้วยเครื่องเลเซอร์

นับว่ามนุษย์มีความชาญฉลาดที่สามารถนำเอาพลังคลื่นความยาวของแสงเหนือม่วงหรือแสงอุลตร้าไวโอเล็ตมาสร้างคุณประโยชน์มหาศาล ในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่สามารถรักษาดวงตาอันเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและไวต่อการสัมผัสอันบอบบางได้ ดังปรากฏในเครื่องเลเซอร์ EXCIMER ที่มีความยาวคลื่น 193 นาโมมิเตอร์ มูลค่า 16 ล้านที่โรงพยาบาลจักษุ รัตนิซื้อมาใช้รักษาคนไข้

หลักการเบื้องต้นการรักษา ก็คือการเจียระไนส่วนนูนเกินไปของผิวกระจกตาให้ลดลงด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในก๊าซอาร์กอนฟลูออไรด์ ARF 1 เข้าไปตัดทอนผิวเพียง 1/5 ของผิวกระจกตาเท่านั้นเพื่อให้ส่วนนูนน้อยลง ทำให้แสงไปตกบนจอรับภาพ (เรตินา) พอดี ทำให้ภาพที่ปรากฏแก่สายตาเห็นชัดเจน

แสงเลเซอร์ EXCIMER นี้จะมีคุณสมบัติรักษาสายตาสั้น เพราะให้พลังงานสูงในการตัดผิวกระจกได้เรียบ โดยปราศจากรอยไหม้หรือเถ้าถ่านเหมือนเลเซอร์ที่ใช้ปฏิกิริยาความร้อง และมีความ แม่นยำสูงโดยแต่ละนัดตัดผิวกระจกตาเพียง ? ไมครอน (1ไมครอน = 1/10,000 ซม.) เท่านั้น และ ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือภายในลูกตา

เทคโนโลยีใหม่นี้ อาจจะเคยได้ยินหรือพบเห็นในข่าวสารที่ปรากฎในอเมริกาหรือยุโรปนานนับปี กว่าจะข้ามโลกมาเกิดขึ้นที่เมืองไทย แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการรักษาให้กับผู้มีปัญหาสายตาที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก เพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาสายตาสั้นได้ข้างละ 25,000 บาท หรือ 50,000 บาทสำหรับดวงตาคู่แสนสวยของคุณ

“ผมมีคนไข้เป็นฝรั่งชาวสวิสเซอร์แลนด์ เขาไปรักษาสายตาสั้นสองข้างนี้ที่เมืองนอกเสียค่าใช้จ่ายไป 176,000 บาท และที่เกาหลีเขาก็คิดค่ารักษาข้างละ 35,000 บาท ผมคิดว่าเมื่อเทียบกับที่นี่เราให้บริการรักษาที่ราคาถูกกว่ามาก” จักษุแพทย์สมบัติเล่าให้ฟัง

แต่การรักษาด้วยวิธียิงแสงเลเซอร์นี้จะได้ผลดีมาก ถ้าคุณเป็นคนสายตาสั้นคงที่ไม่เกิน 400 สายตาไม่เอียงเกิน 100 ไม่เป็นโรคต้องห้ามบางอย่าง เช่น โรค “พุ่มพวง” หรือแพทย์เรียกสั้น ๆ ว่า SLE ไม่เป็นตาต้อหิน ต้อกระจก ม่านตาอักเสบ หรือกระจกตาเสื่อม (KERATOCONUS) ตลอดจนสภาพจิตใจปกติ ไม่กลัวเกินเหตุและให้ความร่วมมือกับหมอเมื่อต้องจ้องเป้าตลอดเวลา ที่ยิงแสง เลเซอร์มา

“ผู้ที่เหมาะสมกับการรักษานี้ควรจะมีสายตาอยู่ในระดับคงที่แล้ว คือตั้งแต่อายุ 18-25 ปีขึ้นไประยะความสั้น100 กว่าถึง 600 สามารถรักษาได้ผล 100% ถ้าสั้นมากกว่านี้ก็ต้องใส่แว่นตาหรือเลนซ์ประกอบ เช่นถ้าสายตาสั้น 1,000 เรายิงเลเซอร์ 600 ที่เหลือใส่แว่นหรือเลนส์ 400 แต่เมื่อมองด้วยตาเปล่าก็สามารถมองชัดขึ้นกว่าเดิมซึ่งมองได้แค่ 10 ซม.จากตาเท่านั้น” นพ.อุทัย รัตนิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน กล่าว

สาเหตุที่ต้องรักษาผู้มีสายตาสั้นได้เพียงแค่ 600 เพราะหลักการรักษาด้วยแสงเลเซอร์จะยิงแสงตัดทอนผิวกระจกตาเพียงแค่ 1/5 ของผิวเท่านั้นแพทย์จะไม่ยิงลึกกว่านี้ ในกรณีสายตาสั้นถึง 1,000 ถ้าต้องตัดผิวกระจกตาออกไปมาก จะไม่บังเกิดผลดีต่อการรักษา

“ขณะนี้เราต้องทำดวงตาทีละข้างหลังจากที่รักษาจนกระทั่งสายตาข้างนั้นคงที่แล้ว จึงจะแนะนำให้ทำอีกข้างหนึ่ง ซึ่งก็จะใช้เวลาห่างกันประมาณ 4 เดือน” จักษุแพทย์สมบัติให้คำแนะนำ

ปัจจุบันได้มีผู้มีปัญหาสายตาสั้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสุภาพสตรีทั้งสิ้น ตัดสินใจรับการรักษาด้วยวิธีสมัยใหม่นี้ ซึ่งใช้เวลารวดเร็วที่สุดเพียง 15-30 นาที โดยเวลายิงแสงเลเซอร์เพียง 10-15 วินาทีเท่านั้น

ขั้นตอนก่อนการรักษาสายตาสั้นด้วยเครื่องเลเซอร์ แพทย์จะตรวจประวัติโดยประเมินความชัดของสายตาในระดับแสงสว่างแตกต่างกันด้วยเครื่อง GLARE VISUAL METER และวินิจฉัยตาโดยใช้เครื่องพล็อตกระจกตา (COMPUTERIZED CORNEAL TOPOGRAPHY) เป็นคอมพิวเตอร์แสดงภาพกระจกตาดำว่าโค้งมากหรือน้อย โดยจะแสดงสีสันที่ต่างกันเป็นสัญลักษณ์ เครื่องนี้จะมีประโยชน์มาก ๆ ในการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีกระจกตาดำโค้งผิดปกติ (KERATOCONUS) ตลอดจนใช้เปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังการรักษา

หลังจากนั้น ขั้นตอนรับการรักษาแพทย์จะหยอดยาชาที่ตา และยาหดม่านตาโดยจะไม่มีการ ฉีดยาชา จากนั้นจะใส่เครื่องมือช่วยถ่างตา เพื่อมิให้ตากระพริบโดยกำหนดให้ตาจ้องนิ่งที่ดวงไฟที่เครื่องเลเซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างเตียง

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะคุยกับผู้รับการรักษาให้ทราบขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเครื่องเลเซอร์ รวมทั้งเสียงที่เกิดขึ้นจากการยิงแสง เป็นขั้นการเตรียมตัวเตรียมใจ

เมื่อคุ้นเคยและสามารถมองได้นิ่งไม่กรอกตาแล้ว จักษุแพทย์ก็จะเริ่มปรับผิวหน้ากระจกตา ให้เรียบเสมอกัน จัดแสงเลเซอร์ให้โฟกัสลงบนกระจกตาผู้รับการรักษา

เพียงชั่วแค่พริบตาเดียว เสี้ยวเวลาไม่ถึง 10-30 วินาทีแล้วแต่ระยะสั้นของสายตา การยิงแสงเลเซอร์ก็เสร็จสิ้น แพทย์จะดูผลของการยิงเลเซอร์ด้วย SLIT LAMP และเช็ดผิวกระจกตา จากนั้นก็ใส่ ยาและปิดตาข้างที่รักษาเท่านั้น เมื่อพ้นจากห้องนั้นก็สามารถกลับบ้านได้เลย แพทย์จะให้ยาแก้ปวดทานในช่วง 2-3 วันแรกผู้รับการรักษาจะไม่มีปัญหาเรื่องตาถูกกระทบกระเทือน เพราะการรักษาวิธีนี้ไม่ได้ทำให้เกิดรายฉีกขาด เพียงแต่มีการถลอกที่เซลล์บุผิวกระจกตาจากการยิงแสงเลเซอร์ ซึ่งจะหายภายใน 3-4 วัน

“การรักษานี้รับประกันความปลอดภัยและประกันผลเมื่อทำครั้งแรกถ้าหากสายตาไม่อยู่ในระดับที่เราต้องการจะต้องทำซ้ำใหม่ เราจะทำให้ฟรี” จักษุแพทย์สมบัติกล่าว

ในที่สุด ผู้รับการรักษาก็ไม่ต้องซ่อนเบื้องหลังแว่นตาอันน่ารำคาญใจอีกต่อไป คุ้มไหมเมื่อต้องจ่ายถึง 50,000 บาทสำหรับดวงตาคู่งามสดใสของคุณ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.