ธุรกิจข้ามชาติวาดแผนใหม่รับรวมยุโรป


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

“พวกเราได้รับผลสะเทือนกันถ้วนหน้า” แอล. ลินด์เซย์ ฮาลสเตด ประธานกรรมการ ของฟอร์ดในยุโรปให้ความเห็นภายหลังเหตุการณ์ความผันผวนในตลาดเงินยุโรปที่ลุกลามเป็นประเด็นทางการเมืองไปในที่สุด

อันที่จริงแล้ว นับแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา บริษัทธุรกิจในยุโรปต่างตระเตรียมยุทธศาสตร์ใหม่ในการรับมือกับการรวมตลาดยุโรปเป็นหนึ่งเดียวที่จะมีผลทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1993 เป็นต้นไป บรรดานักบริหารผู้มองการณ์ไกลทั้งหลายต่างเคยเชื่อว่าภายหลังจากการลดอุปสรรคในแง่ของกำแพงการค้าแล้ว ภาวะเงินเฟ้อในตลาดยุโรปจะลดต่ำลง ขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ก็มีเพียงการรวมสกุลเงินยุโรปเพื่อใช้หลังการรวมตลาดเดียว

แต่เมื่อถึงตอนนี้ เหตุการณ์วุ่นวายในตลาดเงินยุโรปเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้มีนักธุรกิจไม่กี่รายเท่านั้นที่เชื่อว่าการรวมสกุลเงินเป็นสกุลเดียวจะเป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้ สิ่งที่คนกลุ่มนี้คาดหวังจึงลดระดับลงมาอยู่เพียงแค่ความต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้ เท่านั้น

กระนั้น นักธุรกิจในตลาดยุโรปก็ใช่ว่าจะหมดหวังไปเสียทั้งหมดเห็นได้จากที่ ไนเจล สเตเปิลตัน ผู้จัดการฝ่ายการเงินของรีด อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นกิจการสำนักพิมพ์ชั้นนำประกาศอย่างห้าวหาญเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมาว่า “ความเชื่อมั่นของพวกเราต่ออนาคตของยุโรปยัง ไม่เปลี่ยนแปลง” พร้อมกับตกลงผนวกกิจการกับเอลแซฟแห่งฮอลแลนด์เป็นมูลค่าสูงถึง4,000 ล้านดอลลาร์ สวนทางกับสถานการณ์ที่กำลังปีนเกลียวอยู่ในขณะนั้นแต่เขาก็ยอมรับว่าความวุ่นวายใน ยุโรป “จะทำให้นักธุรกิจต้องคิดทบทวนถึงสองครั้งเมื่อจะวางแผนระยะยาว”

ขณะนี้ ผู้บริหารของบริษัทในยุโรปต่างกำลังเร่งปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจของตนอย่างขนานใหญ่ บีเอที อินดัสทรี่ส์แห่งอังกฤษมีแผนที่จะระงับการขยายธุรกิจประกันภัยในยุโรปไว้ก่อน ด้านโมโตโรลาแม้จะประเมินว่าการลดค่าเงินปอนด์ของอังกฤษรวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยเพิ่มผลผลิตและการส่งออกให้บริษัทได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก็คืออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในอิตาลีและสเปนจะชะลอตัวลง ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วสมอลก็เห็นว่าเท่ากับ “ขาดทุนทั้งสองทาง” นั่นเอง

ผู้บริหารในยุโรปส่วนใหญ่เห็นว่าพวกเขาจะต้องนำเอาความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ไปคิดคำนวณในแผนธุรกิจของตนเพิ่มขึ้น จากฐานเดิมที่เคยพิจารณาเฉพาะประเด็นภาวะเศรษฐกิจ ถดถอยและการปรับโครงสร้างกิจการที่ก่อภาระหนี้สินให้กับกิจการ “เราต้องทบทวนนโยบายทางด้านที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของเราใหม่ทั้งหมด” เอียน เรเวล ผู้จัดการ ฝ่ายการคลังของไอซีไอกล่าว

นอกจากนั้น บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ อาทิ ยูนิลีเวอร์, พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล และเวิร์ลพูล ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากกบริษัทเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยรวมศูนย์การผลิตสินค้าบางประเภท โดยหวังจะได้ประโยชน์จากหลักการประหยัดตามขนาด และไม่คาดคิดล่วงหน้าว่าตลาดเงินจะประสบความผันผวนหนักเช่นนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.