|
เก็บภาพความผันผวนในยุโรป “อีซี่ 1992” อาจไปไม่ถึงฝัน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
ทันทีที่ระฆังสัญญาณตีบอกเวลาเริ่มต้นของปี 1993 ดังขึ้น นั่นคือนิมิตหมายว่าตลาดร่วมยุโรปอันเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดมานานกว่าสามทศวรรษจะก้าวล่วงสู่ภาคของการปฏิบัติเต็มรูปเสียที ทว่า ชั่วเวลาอีกเพียงสามเดือนก่อนถึงกำหนดการดังกล่าวกับปรากฎเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหวั่นใจกับอนาคตของการรวมยุโรป ไม่ว่าจะเป็นความปั่นป่วนในตลาดการเงินยุโรป เมื่อกลางเดือนกันยายน ติดตามด้วยผลการลงประชามติรับสนธิสัญญามาสทริชท์ในฝรั่งเศลที่ผ่านด้วยคะแนนเฉียดฉิวเพียงราว 51% แน่นอนว่าเป้าหมายปลายทางอันสวยหรูของสหภาพยุโรปยังต้องคงไว้แต่วิถีทางไปสู่ จุดหมายนั้นอาจต้องผ่านการใคร่ครวญตรวจสอบอย่างรอบคอบมากขึ้นเสียแล้ว ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่น่าจับตามองควบคู่ไปด้วยก็คือความพยายามของยุโรปในการก้าวขึ้นมาทาบรัศมี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นในการเป็น ผู้นำทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลกนั้น จะเป็นจริงได้หรือไม่?
ยุโรปในท่ามกลางความผันผวน
เหตุการณ์วุ่นวายในตลาดการเงินของยุโรปอุบัติขึ้น เมื่อเหล่านักเก็งกำไรการเงินพากันเทขายเงินสกุลปอนด์ของอังกฤษและเงินสกุลลีร์ของอิตาลีอย่างขนานใหญ่ในช่วงกลางเดือนกันยายน หลังจากที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศมุ่งดำเนินนโยบายรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้สูงตามเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในยุโรปมาตลอดผลคืออังกฤษซึ่งกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่แล้วต้องเผชิญหน้ากับภาวะทรุดดิ่งต่อเนื่องทั้งค่าเงินปอนด์ก็มีแนวโน้มดิ่งลงอีกในที่สุดจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการถอนตัวออกจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรายุโรป (EXCHANGE RATE MECHANISM) หรือ อีอาร์เอ็ม ชั่วคราวเพื่อจะได้ไม่ต้องปรับค่าเงินให้เป็นไปตามกลไก ฯ ส่วนอิตาลีนั้นมีปัญหาขาดดุลงบประมาณอยู่ เมื่อมาตรการขึ้นดอกเบี้ยไม่บรรลุผลจึงหันไป ลดค่าเงินลงพร้อมกับถอนตัวจากอีอาร์เอ็มเป็นการชั่วคราวเช่นกัน
ส่วนเหตุการณ์วุ่นวายครั้งที่สองปะทุขึ้นให้เห็นหลังการเทขายเงินปอนด์ราวหนึ่งสัปดาห์ กล่าวคือผลการลงประชามติรับสนธิสัญญามาสทริชท์ในฝรั่งเศส ผ่านมาได้ด้วยคะแนนเฉียดฉิวเพียง 51% ทั้งที่สนธิสัญญาดังกล่าวนั้นถือเป็นเค้าโครงสำคัญในการจัดตั้งสหภาพทางการเงินและการเมืองยุโรปโดยก่อนหน้านี้ชาวเดนิชได้แสดงประชามติปฏิเสธสนธิสัญญาฉบับนี้ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ขณะที่ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและกรีซลงมติยอมรับส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มอีซีก็กำลัง
เตรียมแผนการนำเสนอสนธิสัญญาดังกล่าวให้รัฐสภาของตนพิจารณา และมีแนวโน้มว่าการลงมติยอมรับจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
“รถด่วนสายยุโรป” ถึงวันชะลอความเร็ว
บรรดานักธุรกิจในยุโรปส่วนใหญ่มีความเห็นว่าแม้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ลงตัวดีนัก แต่ก็ใช่ว่าการรวมยุโรปจะถึงกาลยุติลง นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า “รถด่านสายยุโรป” ขบวนนี้อาจจะแล่นเร็วเกินไป ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่จะชะลอความเร็วเพื่อให้ชาวยุโรปได้มีเวลาพิจารณาในรายละเอียดของแนวคิดการรวมยุโรปเสียก่อน
นอกจากนั้น การที่ระบบการเงินยุโรป (EUROPEAN MONETARY SYSSTEM) หรืออีเอ็มเอส ต้องสะดุดไปนั้น ยังมีส่วนช่วยภาคธุรกิจในประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนตัวลงด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นอังกฤษที่เคยยึดนโยบายรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้สูงไว้ เพื่อพยุงค่าเงินปอนด์ให้แข็งเมื่อเทียบกับเงินมาร์กเยอรมนีก็จะมีเวลาสำหรับปรับตัวก่อนนำเงินปอนด์กลับเข้าอีอาร์เอ็มอีกครั้ง ส่วนบริษัทข้ามชาติของสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่นและยุโรปเองที่เคยทุ่มลงทุนอย่างหนักในตลาดแห่งนี้เพื่อเตรียมการรับมือการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวในเดือนมกราคมก็จะไม่ได้สูญเงินเปล่า เนื่องจากการควบคุมตามแนวชายแดนระหว่างประเทศในกลุ่มอีซีจะถูกยกเลิกไปนับแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าอย่างแน่นอน ขณะที่การก่อตัวของสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟต้า ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอีซีทั้งหมดและนอร์เวย์ สวีเดน ออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยสองประเเทศหลังนี้มีโครงการที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ อีซีอีกด้วยความพยายามที่จะให้สนธิสัญญามาสทริชท์บรรลุเป้าหมาย ยังเห็นได้จากข้อเสนอและประเด็นที่น่าพิจารณาดังนี้
1. การรวมยุโรปแบบสองขั้นตอน แนวทางดังกล่าวนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ปั่นป่วนในตลาดการเงินยุโรป และเป็นข้อเสนอใหม่ที่ต้องการชะลอการรวมสหภาพยุโรปอย่างเป็นขั้นตอนโดยให้ประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กอาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจก่อน และมีเยอรมนีกับฝรั่งเศสเป็นแกน การรวมตัวของกลุ่มนี้มีแนวโน้มก้าวไปถึงขั้นการรวมตัวเป็นสหภาพทางการเมืองด้วยอีกทั้งยังรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อให้ลดต่ำลง ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การรวมสกุลเงินได้ในที่สุด ส่วนอังกฤษ สเปน โปรตุเกส กรีซ ไอร์แลนด์ และ อิตาลี ซึ่งมีเศรษฐกิจอ่อนตัวกว่าจะรวมตัวกันในภายหลัง โดยที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากกว่า อย่างไรก็ตามข้อเสนอที่ว่านี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกเนื่องจากเห็นว่าอาจก่อความยุ่งยากติดตามมาอีกหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า อุตสาหกรรม ยุโรปจะเสียเปรียบเมื่อต้องแข่งขันกับคู่แข่งจากสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่น
2.
3. การชะลอตัวของตลาดร่วม ตามเป้าหมายของการรวมตลาดยุโรปเป็นหนึ่งเดียวนั้นภายในสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ กิจการด้านพลังงานการไปรษณีย์และโทรคมนาคมจะต้องถูกแปรรูป สู่ภาคเอกชนแทนที่รัฐจะผูกขาดไว้ แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายดังกล่าวคงไม่อาจบรรลุได้ภายในสิ้นปีนี้หรือแม้แต่ในอีกสองหรือสามปีข้างหน้า ทั้งนี้ด้วยข้อติดขัดเกี่ยวกับการผ่อนคลายข้อกำหนดการผูกขาดต่าง ๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
4.
5. ลักษณะการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความรู้สึกแบบชาตินิยมกำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในยุโรป หลังจากที่หลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาภายในไม่ว่าจะเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง หรืออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น การกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะกรณีของรถยนต์ที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
6.
ช่องโหว่ของมาสทริชท์
หากมองย้อนกลับไป การรวมสหภาพทางการเงินและการเมืองยุโรปตามสนธิสัญญามาสทริชท์ นั้นมีช่องโหว่และจุดคลุมเครืออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ระบุให้มีการรวมสกุลเงินยุโรปเข้าด้วยกันและจัดตั้งธนาคารที่เป็นอิสระขึ้นแห่งหนึ่งภายในปี 1999 ที่เกิดขึ้นหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอีซีที่ เนเธอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภายในระยะเวลาเพียง 2 วันสนธิสัญญาความยาว 311 หน้าดังกล่าวก็เป็นรูปเป็นร่างออกมาโดยที่ไม่ได้ผ่านการปรึกษาหารือบุคคลกลุ่มอื่น โดยลืมไปว่าแม้แนวความคิดการรวมยุโรปเป็นตลาดเดียวจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับส่วนผสมของชีสที่ผลิตในฝรั่งเศล จนกระทั่งขนาดความกว้างของถุงยางอนามัย ยังไม่นับถึงการทำความเข้าใจกับสาระของสนธิสัญญา ดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ในอังกฤษจะพูดถึงสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ในอังกฤษจะพูดถึงสนธิสัญญาฉบับนี้ว่าเป็นการมอบหมายอำนาจการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ให้กับประเทศสมาชิก ขณะที่ชาวเยอรมนีจะเห็นว่าการรวม ศูนย์อำนาจนั้นจะเป็นการสร้างสถานภาพของประเทศให้กลายเป็น “สหรัฐฯ แห่งยุโรป” เป็นต้น
ในส่วนของนักธุรกิจเองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปเช่นกัน ผู้นำธุรกิจในเยอรมนีเห็นด้วยกับการรวมสหภาพทางการเมืองก่อนการรวมตัวทางการเงิน ส่วนนักธุรกิจอังกฤษยังคงหวาดระแวงอยู่ว่า หลังการรวมสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างเยอรมนีจะเป็นผู้ครอบงำสหภาพไปในที่สุด ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนตัวอย่างไอร์แลนด์ อิตาลี และกรีซจะต้อนรับสนธิสัญญาฉบับนี้ ด้วยเห็นประโยชน์จากข้อเสนอที่ให้ประเทศสมาชิกที่มีฐานะดีกว่าถ่ายเทเงินทุนไปยังประเทศที่ยากจนกว่านั่นเอง
อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งในการรวมยุโรปตลาดเดียวก็คือ “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน” ซึ่งได้แก่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินที่ก่อความวิตกกังวลให้กับกลุ่มอีซีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการไหลบ่าของชาวยุโรปตะวันออกที่ยากจนและไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก ความไม่พอใจดังกล่าวยังก่อกระแสนิยมขวา และพรรคการเมืองต่อต้านยุโรปขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะในฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมนี
ค่าใช้จ่ายในการรวมเยอรมนีก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ก่อความตึงเครียดขึ้น เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรี เฮลมุท โคห์ล ของเยอรมนีประกาศนโยบายยกระดับมาตรฐานการครองชีพของเยอรมนีทั้งสองให้ทัดเทียมกันในปี 1990 โคห์ล ได้ประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอยช์มาร์กและโอสท์มาร์ก ในสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่งโดยไม่ฟังคำทัดทานของบุนเดสแบงก์หรือธนาคารกลางของเยอรมนีแต่อย่างใด ปัญหาติดตามมาก็คือ บรรดาธุรกิจในเยอรมนีตะวันออกพบว่าตลาดส่งออกของตนในยุโรปตะวันออกและรัสเซียนั้นต้องพังทลายลงต่อหน้า เพราะผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวไม่สามารถซื้อหาสินค้าในระดับราคาเดียวกับโลกตะวันตกได้
นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการรวมเยอรมนียังทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมทั้งรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่เยอรมนีก็สามารถผ่านปัญหาดังกล่าวไปได้ โดยยังคงความเป็นประเทศที่มีเงินออมสูงและไม่ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณ เศรษฐกิจยังคงมีการเติบโต ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจนนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นสูงได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
กระนั้น ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปนั้นหาได้อยู่ในสภาพเดียวกับเยอรมนี อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปทรุดลงจากระดับ 4% ในปี 1988 มาอยู่ที่ 0.8 % เมื่อปีที่แล้ว และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงเป็นกว่า 9% ระบบการเงินยุโรป (อีเอ็มเอส) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1979 เพื่อปูทางสู่การรวมสกุลเงิน ยุโรปจึงไม่อาจดำเนินไปอย่างราบรื่นเสียแล้วเพราะสภาพที่เป็นอยู่จะทำให้ประเทศอีซีอื่น ๆ ถูกกดดัน ให้ต้องดำเนินนโยบายตามบุนเดสแบงก์ที่เข้มงวดกับการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้สูง เพื่อป้องกัน ไม่ให้ค่าเงินลดต่ำลง ขณะที่ฝ่ายนักธุรกิจชั้นนำมีความเห็นว่า อีเอ็มเอสนั้นเป็นระบบที่ตายตัวเกินไป และไม่เหมาะกับกลุ่มอีซีที่สมาชิกทั้ง 12 ประเทศมีความแตกต่างกันออกไป
ลอเรนซ์ มาร์ติน ผู้อำนวยการของสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งลอนดอนชี้ว่า “คุณไม่มีทางบรรลุเป้าหมายการตั้งสหภาพยุโรปได้ด้วยการรวมสกุลเงินของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน” ซึ่งสอดคล้องกับนักธุรกิจอีกรายหนึ่งที่เห็นว่า “ภาคธุรกิจนั้นต้องการให้ยุโรปมีเสถียรภาพทางการเงินแต่ใน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเช่นนี้ มันเป็นเรื่องที่ประหลาดที่สุด”
และบทสรุปที่ให้ภาพเด่นชัดที่สุดเมื่อพิจารณาจากภาคธุรกิจเองเห็นจะได้แก่คำกล่าวของจ๊าคส์ คาลเว็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกิจการผลิตรถยนต์เปอร์โยต์ที่ว่า “เราเปิดตลาดร่วมให้กับผู้ผลิตรถจากญี่ปุ่นโดยที่ไม่ได้อะไรคืนกลับมาแม้แต่น้อย”
สหภาพยุโรปจะเป็นเพียงฝันอันเลือนลางหรือไม่? “รถด่วนสายยุโรป” จะวิ่งไปได้ไกลถึงไหน ? ล้วนเป็นภาพที่น่าจับตามองต่อไปอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|