|
โออิชิดันยี่ห้อ"D-Thai"นำร่องน้ำลำไยขายมิ.ย.
ผู้จัดการรายวัน(8 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ตันโออิชิ" เดินหน้าตลาดน้ำลำไย เริ่มวางตลาด มิ.ย. นี้ขายคู่ชาเขียวโออิชิ ภายใต้แบรนด์ "D-Thai" แต่กระทรวงเกษตรฯยังหาลำไยอบแห้งให้ไม่ได้ ขณะที่ พาณิชย์คุย บริษัทจากต่างประเทศ 9 แห่ง เตรียมซื้อล่วงหน้าลิ้นจี่ 2 หมื่นตัน และลำไย 1 แสนตัน "เจ๊หน่อย" จับมือทหารสำรวจผลผลิตลำไยกันแจ้งเกินจริง
วานนี้(7 เม.ย.) นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รมช.พาณิชย์ ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนการค้าไทย และ นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ เครือโออิชิ กรุ๊ป ในการประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการเครือ โออิชิ กรุ๊ป กล่าวถึงการแปรรูปน้ำลำไย ว่า บริษัทเตรียมรับซื้อลำไยอบแห้ง จากกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 800 ตัน เพื่อส่งออกเป็นลำไยอบแห้งไปยังประเทศจีน 400 ตัน ส่วนทีเหลืออีก 400 ตัน จะแปรรูปเป็นน้ำลำไย ปริมาตร 500 มล. ราคาจำหน่ายอยู่ระหว่างการตัดสินใจคาดว่าน่าจะประมาณขวดละ 15-20 บาท
เริ่มต้นได้วางแผนการผลิตเป็น 3 รสชาติ คือ รสต้นตำรับ รสผสมใบแป๊ะก๊วย และรสผสมว่านหางจระเข้ โดยจะวางจำหน่ายควบคู่ไปกับน้ำดื่มชาเขียวโออิชิ พร้อมกันนี้ ยังจะวางจำหน่ายตามสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สนามบิน และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ด้วย ขณะเดียวกันจะเริ่มจำหน่ายเดือนมิ.ย. นี้ โดยมีนายกฯเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้
โดยขณะนี้ได้วางตราสินค้า(แบรนด์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อ "D-Thai" โดยอาจจะมีคำว่าโดยโออิชิ กำกับอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า D-Thai มาจากคำว่า Delicious แปลว่า อร่อย กับคำว่า Thailand ภายใต้หลักการ อร่อย สดชื่น สุขใจได้ช่วยเกษตรกร โดยคนไทยที่ซื้อสินค้าดังกล่าวนอกจากจะได้อิ่มอร่อยสดชื่น แล้วยังจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
นายตัน ยังกล่าวด้วยว่า กำไรที่ได้จากการจัดจำหน่ายจะมอบให้กับเกษตรกรทุกบาททุกสตางค์ ขณะเดียวกันรัฐอาจจะนำแบรนด์ดังกล่าวไปทำการตลาดสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ทุเรียนอบแห้ง ลิ้นจี่ ข้าว และ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญคือขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่สามารถจัดหาลำไยอบแห้งมาให้ได้เลย เมื่อถามทางเจ้าหน้าที่ก็เห็นเฉยๆ ถึงแม้ตอนนี้จะมีเครื่องจักรพร้อมที่จะผลิตอยู่แล้วก็ตาม
"สุดารัตน์"ดึงทหารสำรวจลำไย
นางสุดารัตน์ กล่าวภายหลังการหารือว่า ได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดการผลไม้ที่กำหนดไว้เป็น 3 แนวทาง คือ 1. จำหน่ายสินค้าให้หมด 2.ราคาสินค้าสูงขึ้นจากเดิม และ 3.ใช้กลไกตลาดในการดึงราคาสินค้า ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้น คาดว่าจะไม่ต้องใช้เงินจากรัฐในการอุดหนุนสินค้าเหล่านี้อีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเพาะปลูกพืชของเกษตรกรทุกชนิด เพื่อให้สามารถวางแผนการจัดการสินค้าด้านการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยเริ่มจากลิ้นจี่และลำไยก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานกับ เจ้าหน้าที่ กรมแผนที่ทหาร ทำการสำรวจจำนวนผลผลิต โดยใช้ภาพถ่ายสารสนเทศทางอากาศ(GIS) ในการสำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแจ้งปริมาณผลผลิตเกินกว่าความเป็นจริง
ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ยังหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตร โดยจัดหมวดหมู่สินค้า ตามแบบจำลองบอสตันโมเดล เป็น 4 กลุ่มสินค้า คือ
1. กลุ่มสินค้าที่ต้องสร้างรายได้ ประกอบด้วย กุ้ง ไก่ ปศุสัตว์ ผักและผลไม้ ซึ่งกลุ่มจะต้องรักษาสถานภาพการส่งออก รวมทั้งสร้างมาตรฐานหรือคุณภาพการผลิตพร้อมทั้งการเปิดตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม
2. กลุ่มสินค้าใหม่และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน คือ ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ คือ ยางพาราและอุตสาหกรรมไม้ยาง โดยกลุ่มนี้จะต้องหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับสินค้า
3. กลุ่มที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงได้อาหารภายในประเทศ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด โคนม ถั่วเหลือง เป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องจัดให้มีอยู่ต่อไป เนื่องจากเป็นอาหารหลักในการบริโภคในประเทศ และ
4. กลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนและได้รับผลกระทบที่รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงราคา ได้แก่ หอม กระเทียม กาแฟ ลำไย ลิ้นจี่ และทุเรียน ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องหาแนวทางในการลดพื้นที่เพาะปลูกและจำกัดโซนเพาะปลูก
นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำปฏิทินผลผลิตทางการเกษตร ตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธภาพในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการวางแผนการผลิต การตลาด และการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อระบายผลผลิตให้ได้มากที่สุด
ขายล่วงหน้า 1.2 แสนตัน
นายสุริยา กล่าวถึงแนวทางการจัดการด้านการตลาดลำไยและลิ้นจี่ฤดูกาล 2548 ว่า ในปีนี้มีเป้าหมายในการระบายลำไยสดให้ได้มากที่สุด โดยจะทำการส่งออกให้ได้ 25% ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 1.2 แสนตัน แบ่งเป็น ลำไย 1 แสนตัน และ ลิ้นจี่ 2 หมื่นตัน ที่เหลือจากการส่งออกต่างประเทศ จะทำตลาดในประเทศ ผ่านกรมการค้าภายใน สหกรณ์การเกษตรฯ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) แต่ปริมาณสินค้าที่ขายในประเทศต้องรอตัวเลขจากสำรวจอีกครั้งหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ในระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย.นี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญบริษัทที่เป็นคู่ค้าในการนำเข้าผลไม้จากไทย จำนวน 9 บริษัท ใน 6 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย จีน แคนาดา เยอรมัน ไต้หวัน อินเดีย และ เนเธอแลนด์ เพื่อทำความตกลงซื้อขายล่วงหน้า (Forward Market) โดยการซื้อขายล่วงหน้าจะทำให้สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ ทั้งปริมาณความต้องการสินค้าและราคาที่คาดว่าจะขายได้ ซึ่งจะทำให้วางแผนการจัดจำหน่ายสินค้าล่วงหน้าได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|