สถาพร ชินะจิตร แล้วเขาก็ได้เป็นเบอร์ 1

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากว่างเว้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมาเกือบ 1 ปีเต็ม ในที่สุดธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ก็ได้สถาพร ชินะจิตร ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะ กรรมการสรรหา ให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ตำแหน่งดังกล่าวก่อนหน้านี้ ภายหลังจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ลาออก เพื่อไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมปีก่อน ก็ได้ว่างเว้นมาโดยตลอด โดยการดำเนินงานประจำวัน อยู่ภายใต้การดูแลของธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการ

การเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ของ สถาพร ชินะจิตร นับว่าพลิกความคาดหมายของหลายคนเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวที่ค่อนข้างหนักแน่นว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยากจะได้กรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคชาติพัฒนาเข้ามารับตำแหน่ง

ส่วนสถาพรไม่เคยมีชื่อปรากฏเป็นตัวเต็งมาก่อน เพราะหลังจากที่เขาได้ลาออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยขอเกษียณตัวเองก่อนกำหนดจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานบริหารความเสี่ยง และสนับสนุนองค์กร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชื่อของเขาก็เงียบหายไปจากแวดวงการเงิน

สถาพรจัดได้ว่า 1 ในพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีแบ็กกราวน์มาจากคนแบงก์ชาติ เช่นเดียวกับอดีตผู้บริหารระดับสูงในแบงก์นี้อีกหลายๆ คน เช่น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หรือเสรี จินตนเสรี ฯลฯ

เขาไต่เต้าจากตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่าย และได้ขึ้นมารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในยุคที่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของธนาคารหลังการลาออกของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เมื่อปลายปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องขอเข้ารับการช่วยเหลือในการเพิ่มทุนจากทางการ

สถาพรมีประสบการณ์ในแวดวงธนาคารมาแล้วหลายสายงาน โดยเฉพาะสายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างคุณหญิงชฎา กับดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กำลังคุกรุ่นอยู่นั้น ไม่เคยมีใครคาดคิด มาก่อนว่าสถาพรจะตัดสินใจเดินออกจากธนาคารไทยพาณิชย์

ในทางตรงข้าม ในระหว่างที่กระแสความขัดแย้งระหว่าง ทั้ง 2 คน กำลังรุนแรงอย่างหนัก ถึงขั้นที่มีข่าวว่าคณะกรรมการ ธนาคารอาจจะไม่ต่ออายุงานให้กับคุณหญิงชฎา ชื่อของสถาพรยังติดเป็น 1 ใน 2 ตัวเต็งที่มีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน

แต่หลังจากข่าวนี้ปรากฏออกมาได้เพียงวันเดียว วันรุ่งขึ้น ก็มีข่าวออกมาว่าเขาได้ตัดสินใจลาออก โดยการเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด และการลาออกของเขา จึงถูกจับโยงเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประธานกรรมการบริหาร กับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเพิ่มเข้าไปอีก

จากเอกสารข่าวของเอ็กซิมแบงก์ การประกาศรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้เริ่มกระทำอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2544 หรือกว่า 6 เดือนก่อนที่สถาพรจะตัดสินใจลาออกจากธนาคารไทยพาณิชย์

ดังนั้นไม่ว่าการลาออกของสถาพร จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งกับ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย จริงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือเขาได้มองหาลู่ทางเติบโตในสายงานที่อื่นไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว

และวันนี้เขาก็สมหวัง เพราะตำแหน่งเบอร์ 1 ในเอ็กซิมแบงก์ น่าจะดีกว่าที่เก่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.