ไทยเดย์ฯดึง"ครุกแมน"แนะจุดยืนเอเชีย-ไทย


ผู้จัดการรายวัน(8 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ฝีปากกล้า ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Princeton สหรัฐฯ คอลัมนิสต์ชื่อดังใน นิตยสาร New York Times และเจ้าของผลงาน The Return of Depression Economics บรรยายพิเศษเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของไทยและภูมิภาคเอเชีย ในวันที่ 17 - 18 พ.ค.นี้ ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า

นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเดย์ดอทคอม จำกัด เปิดเผยว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียและประเทศไทยเมื่อปี 2540 สถาบันการเงิน การคลัง หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ ห้างร้านต้องประสบภาวะผันผวนอย่างรุนแรง จนทำให้ธุรกิจหลายรายต้องปิดกิจการและปรับตัวกันอย่างมาก เหตุดังกล่าวเป็นบทเรียนอันสำคัญของ เอเชียและประเทศไทยรวมถึงประชาคมโลก ดังนั้นเพื่อเตรียมตัวในการป้องกันและเฝ้าระวังวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต บริษัท ไทยเดย์ดอทคอม จำกัด จึงได้ร่วมกับ International Herald Tribune Manager Daily จัดงานสัมมนา "Warning System; Positioning of Thailand & Southeast Asia" by Paul Krugman ขึ้น

จากผลงานการวิเคราะห์ของ พอล ครุกแมน ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2537 เคยระบุถึงความมหัศจรรย์ของเอเชียว่าเกิดจากแรงงานไม่ใช่จากผลิตภาพ (Productivity) หลังจากนั้น 3 ปี เอเชียก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด ต่อมาในปี 2541 เสนอให้เอเชียควบคุมการปริวรรตเงินตราเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และมหาเธร์ โมฮัมหมัด ตัดสินใจใช้มาตรการนี้ และในปี 2546 เขาเตือนว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 3 วันนี้น้ำมันโลกบาร์เรลละกว่า 50 ดอลลาร์

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ในปี 2548 นักธุรกิจ นักบริหารการเงินการคลังทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยจะได้ฟังมุมมองของครุกแมน ในเรื่องทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ด้านอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราของไทยและภูมิภาคเอเชีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเติบโตและมีอิทธิพลของประเทศจีนในอนาคต นโยบายที่มีต่อผู้ก่อการร้ายของประเทศสหรัฐอเมริกา ผลกระทบด้านการกระจายรายได้ของประเทศในโลกที่สามที่จะได้รับจากกระแสโลกาภิวัฒน์และเรื่อง FTA หรือเขตการค้าเสรี

ด้าน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะนักวิชาการที่ปรึกษาการจัดงาน กล่าวว่า พอล ครุกแมน วัย 52 ปี เป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Princeton รัฐนิวเจซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ประจำในนิตยสาร New York Times ที่เขียนบทความด้านเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องซับซ้อนและยากให้เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย และยังเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อดังเรื่อง The Return of Depression Economics Krugman ยังเป็นเจ้าของทฤษฎีใหม่ "New Trade Theory" ที่เป็นผลงานทางวิชาการด้าน การค้าและการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้เมื่อปี ค.ศ.1991 ยังได้รับรางวัล John Bates Clark Medal จาก The American Economic Association ที่เป็นรางวัลสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

"ช่วง 3 ปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 พอล ครุกแมน เคยพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจในเอเชีย ที่เรียกว่า "เอเชียมิราเคิล" โดยระบุว่าการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นอย่าง รวดเร็วของเอเชียเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่เป็นภาพลวงตา และสาเหตุที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วเป็นเพราะว่าเกิดจากการใช้แรงงานราคาถูก และใช้ทรัพยากรอย่างท่วมท้นซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เรื่อยๆ ต่อมาเมื่อแรงงานถูกใช้อย่างเต็มที่และวัตถุดิบถูกใช้ไปหมดจนไม่เหลือ เศรษฐกิจก็ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้จนเกิดภาวะชะงักงัน และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด แล้ววิกฤตก็เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์จริงๆ Krugman บอกว่าเอเชียไม่ได้เพิ่มผลิตภาพเลยแต่เพิ่มรายได้ส่วนหนึ่งจากการเก็งกำไร เอาเงินโอนไปโอนมาไม่ได้มีอะไรที่ผลิตเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา แต่ละคนไม่ได้มีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคนเลยเชื่อเขา เขาจึงดังมากจากคำพยากรณ์ดังกล่าว" ดร.วรากรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนา "Warning System; Positioning of Thailand & Southeast Asia" by Paul Krugman สามารถสั่งซื้อบัตรได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 265 8888 หรือ http://www.saminar@manager.co.th งานจัดให้มีขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม (กาลาดินเนอร์) วันที่ 18 พฤษภาคม (งานสัมมนา) พฤศภาคมนี้ ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.