2 พฤษภาคม 2545 ถือเป็นวันเริ่มการทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
การบินไทย วันแรกที่ดูจะไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าใดนัก สำหรับกนก อภิรดี เพราะในวันเดียวกันกับที่เขาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
เขาก็ต้องรับหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธาน และกรรมการ การบินไทย ของ ดร.วีรพงษ์
รามางกูร
แม้ในช่วงการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในตำแหน่งนี้ต่อสื่อมวลชน
เขาพยายามแสดงสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับย้ำให้ผู้สื่อข่าวดูท่าทีของเขาว่าไม่มีความหนักใจเกิดขึ้นแต่อย่างใด
แต่ก็ไม่ทราบว่าในใจของเขา เป็นไปตามที่แสดงออกหรือเปล่า
การบินไทยได้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น ก่อนหน้าที่เขาเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเพียงไม่ถึงอาทิตย์
ดร.วีรพงษ์ได้ถูกแรงกดดันจากกลุ่มนักบินกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่ากลุ่มนักบินรักความเป็นธรรม
เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่พอใจคำสั่งแต่งตั้งบุคคลที่นักบินกลุ่มนี้ไม่ยอมรับ
ให้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบุคลากรการบิน
ถึงขั้นมีการขู่ว่าจะหยุดบิน
แม้เหตุการณ์วุ่นวายจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงอย่างรวดเร็วเพราะการตัดสินใจลาออกของ
ดร.วีรพงษ์ แต่ในความรู้สึกของกนกนั้นเขายังคงต้องเดินหน้า เล่นบทบาท ในการนำการบินไทยให้เดินหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในการเข้ารับตำแหน่งวันแรก นอกจากการกล่าวนโยบาย ต่อหน้าผู้บริหาร และพนักงานกว่า
200 คนแล้ว กนกยังได้เปิดแถลงนโยบาย และสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำในการบินไทยกับสื่อมวลชน
สาระสำคัญในนโยบายที่เขาแถลง นอกจากเป้าหมายรายได้ที่เขาต้องการให้การบินไทยมียอดขายเพิ่มขึ้นไปเป็น
ปีละ 2 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงแผนการจัดซื้อเครื่องบิน และปรับปรุงที่นั่งใหม่
ซึ่งเป็นแผนการต่อเนื่อง แล้ว เขายังส่งสัญญาณบางอย่างลงไปถึงระดับพนักงาน
ซึ่งกำลังเกิดการแตกแยกกันอย่างหนัก มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย
"การบินไทยมีผู้บริหารที่มีความหลากหลาย สิ่งที่ผมจะทำหลังจากนี้ คือเป็นกาวใจ
เพื่อที่จะทำให้ความแตกต่างของแนวความคิดของแต่ละคน สามารถสอดประสานกันได้"
กนกประกาศ
นอกจากนี้เขายังสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยการให้เป้าหมายกับระดับบริหารว่า
ทุกๆ คนมีโอกาสได้เข้ามานั่งแทนในตำแหน่งของเขาอย่างเท่าเทียมกันในอนาคต
"แผนงานหลายอย่างที่ผมจะทำ เป็นเสมือนการเตรียมตัวสำหรับ ผู้บริหารระดับสูงให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็น
DD"
พนักงานในการบินไทยนั้นมีหลายฝ่ายหลายแผนก แต่ฝ่ายที่ถือว่ามีบทบาท และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการบริหารงาน
ของ DD ในอดีตที่ผ่านมาคือฝ่ายช่าง
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ดูเหมือนกนกจะตั้งใจแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า เขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับฝ่ายช่าง
เพราะเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่เขากล่าวให้เครดิตเป็นพิเศษ
"การบินไทยมีความเป็นเอกในหลายๆ ด้าน เท่าที่ผม ทราบ ฝ่ายช่างของที่นี่
เป็น 1 ใน 2 วิสาหกิจ เพียง 2 แห่งที่มีอยู่ในเมืองไทย ที่มีการนำ Six Sigma
โปรแกรมเข้ามาใช้ ซึ่งนอกจากฝ่ายช่างของการบินไทยแล้ว ยังมีเพียงอีกแห่งเดียว
คือบริษัทบ้านปู"
Six Sigma โปรแกรม เป็นระบบพัฒนาคุณภาพการจัด การที่สามารถลดความสูญเสีย
และความผิดพลาดในกระบวน การผลิตลงได้มากที่สุด ซึ่งกนกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
เพราะถือว่าเป็นธุรกรรมที่ทำยาก ต้องอาศัยความมีวินัยสูง
"ระบบนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกัปตันชูศักดิ์ และต่อเนื่อง มาจนถึงสมัยคุณกอบชัย
ซึ่งในรายละเอียดนั้น ในวันข้างหน้า ผมจะให้คุณกอบชัยมาเล่าให้พวกเราฟัง"
กัปตันชูศักดิ์ที่เขากล่าวถึง คือกัปตันชูศักดิ์ พาชัยยุทธ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายช่างที่มีบทบาทสูงที่สุดคนหนึ่งของการ
บินไทย ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุออกไปแล้ว
ส่วนกอบชัย ก็คือกอบชัย ศรีวิลาส รองกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน
ซึ่งรักษาการในตำแหน่ง DD อยู่เกือบ 6 เดือน ในช่วงก่อนที่กนกจะเข้ามารับงานอย่างเป็นทางการ
การให้เครดิตฝ่ายช่าง และอดีตผู้นำฝ่ายช่าง น่าจะเป็น การกรุยทางการทำงานของกนก
กับพนักงานกลุ่มนี้สามารถทำได้อย่างราบรื่นขึ้น
แต่ปัญหาคือการบินไทยยังมีพนักงานอีกหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายต่างก็มีผู้บริหารระดับนโยบายคอยเกื้อหนุนอยู่ในบอร์ด
บทบาทกาวใจของกนก จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าติดตาม