|
อภิพร ภาษวัธน์ งานนี้ห้ามกระพริบตา
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
สงครามเศรษฐกิจระหว่างปูนซิเมนต์ไทย กับปิโตรเคมิกัลไทย (TPI) เป็นข่าวคราวที่หลายคน สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ที่จู่ ๆ หันหน้ามาชนกันยังกะเป็นศัตรูกันมานานนับศตวรรษ
จะว่าไปแล้ว ความจริงทั้งสองยักษ์ เพิ่งเป็น “ศัตรู” ทางธุรกิจกันไม่นานนี้เอง โดยเริ่มจากธุรกิจเม็ดพลาสติกแท้ ๆ !!!
กล่าวคือ สำหรับวงการเม็ดพลาสติกไทยนั้น TPI คือเจ้าของวงการอุตสาหกรรมนี้มานาน โดยเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวของประเทศ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง เพื่อทำหน้าที่ผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดในประเทศแบบผูกขาด (MONOPOLY) มาหลายปี
จะกำไรมากหรือกำไรน้อยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเมื่อคราวที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ EASTERN SEABOARD ขึ้นมานั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศคือ ก๊าซธรรมชาติ มาผลิตวัตถุดิบหลายอย่าง และหนึ่งในโปรดักส์หลักของโครงการนี้ ก็คือเม็ดพลาสติกชนิดต่าง ๆ นั่นเอง
“ความใหญ่” ของปูนซิเมนต์ไทย ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนในอุตสาหกรรม ทำให้เครือซิเมนต์-ไทย ได้รับการทาบทามจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของปิโตรเคมีแห่งชาติ มาร่วมทุนด้วยในบริษัทเพื่อผลิตวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตเม็ดพลาสติก
แต่ในเมื่อร่วมลงทุนในปิโตรเคมีแห่งชาติ ถึง 15.9% อันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดรองจากปตท. แล้ว ความคิดของปูนซิเมนต์ไทย ที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว จึงไม่ได้หยุดแค่นั้นการเตรียมทำ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง (DOWNSTREAM) ของปูนซิเมนต์ไทย จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยการตั้งบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน (TPE) ขึ้นมาดำเนินงานเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภท PE
คนที่ปูนซิเมนต์ไทย ส่งมารับผิดชอบโปรเจ็คใหม่นี้คือ อภิพร ภาษวัธน์ อดีตวิศวกรควบคุม โรงงานโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ที่เริ่มงานกับปูนซิเมนต์ไทย มาตั้งแต่ปี 2519 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะมาดูงานปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทยนั้น อภิพร มีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย
จะว่าไปแล้ว แม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการปิโตรเคมีหรือเม็ดพลาสติก แต่สำหรับวงการพลาสติกแล้ว ปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้เป็น “คนหน้าใหม่” เลยทีเดียว เพราะในอดีต ปูนใหญ่เคยมีประสบการณ์การร่วมทุนกับดาวเคมีกัล ของสหรัฐอเมริกา ตั้งบริษัทแปซิฟิคพลาสติก(ประเทศไทย) อยู่แล้วเพียงแต่เป็นงานในเรื่องการใช้เม็ดพลาสติก ไม่ใช่ผลิตอย่างที่ TPE ดำเนินการ
คนในวงการพลาสติกกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ถึงวิวัฒนาการพลาสติกในประเทศไทยว่ากำลังจะ เริ่มยุคที่ 3 ในปีหน้า
กล่าวคือ ยุคแรกของวงการพลาสติกไทย เริ่มเมื่อก่อนปี 2527 คือยุคที่มีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นยุคที่ผู้นำเข้าหรือผู้แปรรูปเม็ดพลาสติกไทยเจอปัญหามาก เพราะไทยเป็นผู้นำเข้ารายเล็กมาก จึงไม่มีการต่อรองกับผู้ส่งออกมากนัก
ยุคต่อมาของวงการพลาสติกไทย คือนับตั้งแต่ปี 2528 ที่รัฐบาลพลเอกเปรม เริ่มวางแผนงานโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด อันเป็นระยะของการตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในไทยบางประเภท ซึ่งใน ยุคนี้เองที่เป็นยุคที่ปูนซิเมนต์ไทย เริ่มเข้ามาอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมนี้
ยุคที่สามของธุรกิจพลาสติกไทยนั้น จะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และจะเป็นยุคพิสูจน์ฝีมือ คนชื่ออภิพร ภาษวัธน์ เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เพราะยุคที่สามของวงการพลาสติกไทยนั้นถือว่าจะเป็นยุคที่การผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ และจะต้องมีการส่งออกไปยังประเทศผู้ใช้เป็นวัตถุดิบ ขณะเดียวกัน เป็นยุคที่ประเทศไทยจะต้องมีการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งเดิมที่เคยส่งมาไทยอย่างประเทศเกาหลี หรือประเทศผู้ผลิตรายใหม่ ๆ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่โครงการปิโตรเคมีของทั้งสอง เริ่มมีการผลิตเช่นเดียวกับไทย และเป็นประเทศที่ต้นทุนวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ต่ำกว่าไทยด้วย
ที่หนักที่สุดก็คือ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องมีการส่งออกแล้วการเผชิญหน้ากับเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เริ่มต้นเป็นปีแรก ดูจะท้าท้ายความสามารถของอภิพรมาก กล่าวคือ เมื่อนั้นจะเป็นการเริ่มต้นของการลดภาษีเม็ดพลาสติก อันเป็นหนึ่งในสินค้าในระบบภาษีของ AFTA
จะว่าไปแล้ว AFTA นี้เป็นเรื่องที่ TPE เสียเปรียบรายอื่น ๆ มากไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในต่างประเทศ หรือในประเทศอย่าง TPI เพราะเพิ่งเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้แค่ปีสองปี ขณะที่คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานในสิงค-โปร์หรือในประเทศอย่าง TPI ต่างก็มีประสบการณ์ธุรกิจนี้มานานนับ 10 ปี จึงสามารถที่จะปรับตัวได้ทันกับการประกาศเรื่อง AFTA ของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน
คำกล่าวสั้น ๆ ของอภิพรเกี่ยวกับการเกิด AFTA ที่ว่า “เราพร้อมที่จะรับมือกับการประกาศ AFTA” ของเขานั้นดูจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารของปูนใหญ่มากทีเดียวทั้ง ๆ ที่เป็นธุรกิจใหม่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน อภิพร กล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกในสายตาของผู้บริหารว่า เป็นอุตสาห-กรรมเบสิกที่จะเป็นอุตสาหกรรมหลัก (ของเครือ) ในอนาคต และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูงตามเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้ง เครือซิเมนต์ไทย ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้ด้วยการลงทุนถึง 7 บริษัทด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 2,700 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ที่จะต้องลงทุนนับหมื่นล้านบาทในอนาคตนั้น เป็นเครื่องชี้ว่าทิศทางของเครือซิเมนต์ไทยในทางปิโตรเคมี น่าจะเป็นที่ต้องจับตามอง
และชื่อของอภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการ TPEในฐานะผู้ดูเรื่องนี้คนแรกของปูนซิเมนต์ไทย ก็น่าสนใจและควรจับตาไม่น้อยเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|