|

บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้เบิกฟ้าใหม่การสื่อสารด้วย “อีรีเดียม”
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
ความมุ่งมั่นที่จะสร้างศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานบริหารบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (ยูคอม) ได้ตัดสินใจร่วมลงทุนในโครงการที่จะให้บริการโทรศัพท์ทั่วโลกด้วยโครงการ “อีรีเดียม”โดยถือหุ้น 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของเงินลงทุน ทั้งหมด 20,000 ล้านบาท
โครงการ “อีรีเดียม” (IRDIUM) นี้เป็นผลิตผลทางความคิดของบริษัทโมโตโรลาอิงค์ สหรัฐฯ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันเก่าแก่กับตระกูล “เบญจรงคกุล” ผู้ค้าของโมโตโรล่ามาแสนนานในนามของบริษัท ยูคอม จนกระทั่งยูคอมสามารถสะสมทุนเป็นปึกแผ่นขยายกิจการในเครือถึง 6 แห่งและกิจการร่วมทุน 3 บริษัท เป็นผู้นำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมด้วยการได้รับสัมปทานโครงการส่วนใหญ่ ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
ความหมายสำคัญของการลงทุนมหาศาลในโครงการ “อีรีเดียม” ครั้งนี้ บ่งบอกถึงการที่ยูคอม ได้รับสิทธิเป็นผู้ติดตั้งสถานีภาคพื้นดิน (GATEWAY) ซึ่งเป็น 1 ใน 20 รายที่ได้รับสิทธินี้เท่านั้น และ ยูคอมได้พยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริหารโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียนนี้ด้วย รวมถึงภูมิภาคอินโดจีน
โครงการอีรีเดียมจะใช้ดาวเทียมชนิดวงโคจรต่ำ (LOW EARTH ORBIT) จำนวน 77 ดวงซึ่งจะโคจรเหนือผิวโลกในระดับต่ำประมาณ 780 กม. และเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างชัดเจน กลุ่มดาวเทียมจะมีวงโคจร 7 วง แต่ละวงจะประกอบด้วยดาวเทียม 11 ดวงและดาวเทียมแต่ละดวงจะโคจรรอบโลก ทุก ๆ 1 เซนติเมตรในทุก ๆ 40 นาที สัญญาณดาวเทียมทุกดวงจะเชื่อมต่อเนื่องกัน ทำหน้าที่เสมือนเป็น CELLSITE ภาคพื้นดินของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอยรับส่งสัญญาณกับเครื่องลูกข่ายอีรีเดียมทำให้มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว้างขวางทุกจุดของโลกภายในปี 2539
ในส่วนของ GETEWAY นี้จะเป็นสถานีภาคพื้นดินที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างเครือข่ายดาวเทียมอีเรเดียมกับระบบชุมสายโทรศัพท์ตามบ้าน และชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการ ให้บริการเขตประเทศข้างเคียง
แต่ GATEWAY นี้ ยูคอมไม่มีสิทธิจัดตั้ง ดังนั้นสิทธิที่ยูคอมได้รับจากอีรีเดียมจะต้องเสนอต่อหน่วยราชการไทยให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบและจัดตั้ง กรณีที่ทางการเห็นว่าไม่คุ้ม GATEWAY นี้ก็อาจจะเกิดในประเทศเพื่อนบ้านไทยได้
“อันนี้จะไม่มีผลกระทบต่อยูคอม หากไม่มีการจัดตั้งสถานี GETEWAY ขึ้นในไทยเพราะเราจะ ได้รับผลตอบแทนเป็นค่า AIR TIME จากผู้ใช้ทั่วโลก แต่การจัดตั้ง GATEWAY ในไทยจะเป็นประโยชน์มากเพราะนั่นคือเราจะเป็นศูนย์กลางการสื่อสารในภูมิภาคนี้” พิทยาพล จันทรสาโร ผู้บริหาร ซึ่งรับ ผิดชอบโครงการนี้ของยูคอมกล่าว
แต่คู่แข่งอันน่ากลัวงานนี้คือ โครงการ “อินมาแซท” ( INTERNATIONAL MARITIME SATTLELITE ORGANIZATION) ซึ่งเป็นโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมระหว่างประเทศที่มีคอนเซปท์เหมือนกันมาก จนกระทั่งบริษัทโมโตโรลาต้องทำหนังสือร้องเรียนประธานาธิบดีจอร์จ บุช ให้ระงับโครงการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของอินมาร์แซทจนกว่าโครงการอีรีเดียมของเอกชนจะได้มีโอกาสสร้างตัวเองในตลาดได้
อินมาร์แซทเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพื่อให้บริการสื่อสารดาวเทียม บน ยานพาหนะต่าง ๆ เช่นเรือเดินทะเล รถยนต์ เครื่องบิน มีประเทศสมาชิก 59 ประเทศการให้บริการ ผ่านดาวเทียม 11 ดวง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเรือเดินทะเล
ในประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เข้าร่วมถือหุ้นและให้บริการเฉพาะอินมาร์แซท-เอ และอินมาร์แซท-ซี
ล่าสุด “อินมาแซท” ได้เข้ามาเปิดตัวบริการ “อินมาร์แซท-พี” เพื่อเปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์ โดยใช้ดาวเทียม “อินมาร์แซท” เสริมโทรศัพท์ลูกข่ายนอกบริการแต่บริการอินมาร์แซท-พี นี้อยู่ระหว่างศึกษา และคาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2541
ถึงแม้จะมีอินมาแซทเป็นคู่แข่ง แผนการขยายตลาดของยูคอมก็มิได้หยุดยั้งการรุกคืบเข้าไป ลงทุนในประเทศอินโดจีน ยูคอมได้ให้ความสนใจในประเทศกัมพูชาอันดับแรกเพราะความพร้อม ด้านการลงทุนมีมากกว่าเวียดนามและลาวโดยเจาะตลาดลูกค้าที่ทำงานให้องค์การสหประชาชาติเป็น กลุ่มเป้าหมายหลัก และได้ทำสัญญาติดตั้งวิทยุโทรคมนาคมในรถยนต์ของสหประชาชาติจำนวน 8,000 คันเท่านั้น ขณะที่ตลาดเพจเจอร์หรือเซลลูลาร์คงมีบ้างประปราย
ส่วนที่เวียดนาม ซึ่งเป็นสนามรบสำหรับนานาชาติ เช่น ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลียที่เข้าไปลงทุนในนามของโมโตโรลา ต้องติดขัดปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกาและเวียดนามทำให้การเข้าไปลงทุนต้องใช้ในชื่อของยูคอม
“ที่เวียดนามเราวิเคราะห์แล้วว่า เขาต้องการรับเทคโนโลยีสูงมาก ๆ แต่เขาให้สัมปทานแค่ปีเดียว เขาไม่ปล่อยให้ประเทศอื่นเข้าไปกอบโกยโดยที่เขาไม่ได้รับประโยชน์ แต่สำหรับยูคอม ถ้าเราต้องเข้าไปแล้วต้อง MAKE MONEY ได้ไม่ได้ทำเพื่อให้ได้แค่ชื่อเท่านั้น” นี่คือนโยบายการลงทุนของยูคอมที่บุญชัยเคยกล่าวไว้
การก้าวไปสู่การลงทุนระดับพันกว่าล้านบาทในโครงการอีรีเดียมนี้ ได้พลิกสถานะของยูคอมกลายเป็นผู้นำในโลกแห่งการสื่อสารภูมิภาคนี้ในทศวรรษหน้าได้ถ้าหากโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมทุนทั้งภาคเอกชนและหน่วยราชการ สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารยูคอมได้พยายามดึงหน่วยราชการสำคัญ ๆ เช่นองค์การโทรศัพท์ ฯ การสื่อสารแห่งประเทศไทยและกรมไปรษณีย์โทรเลขเข้าร่วมด้วย แต่ทั้งสามหน่วยงานนี้ยังไม่นำเงินมาลงทุนกับภาคเอกชน ทำให้ผู้บริหารยูคอมต้องหาทางออกปัญหานี้เพราะทางบริษัทแม่ โมโตโรลาได้กำหนดเงื่อนไขร่วมทุนไว้สองแบบคือ หนึ่ง-ลงทุนด้วยตัวเงินโดยร่วมหุ้นกับยูคอม หรือสอง-เป็นหุ้นลมซึ่งต้องเข้าไปถือหุ้นในบริษัทแม่ โดยนำเงินปันผลมาจ่ายเป็นค่าหุ้น
“ในภาคเอกชน ยูคอมได้เชิญเทเลคอม เอเชีย ผู้รับสัมปทานโครงการโทรศัพท์สองล้านเลขหมายเอไอเอส ผู้ให้บริการเซลลูลาร์ 900 บริษัท TAC ผู้ให้บริการเซลลูลาร์ 800 และได้เชิญ TT&T ผู้รับสัมปทานโทรศัพท์หนึ่งล้านเลขหมาย ผมเชื่อว่าทุกบริษัทให้ความสนใจ เพราะเป็นการพลิกโฉม การให้บริการโดยนำแม่ข่ายไปไว้บนท้องฟ้า” บุญชัยประธานบริหารยูคอมกล่าวถึงการหาพันธมิตร ธุรกิจในโครงการ
นอกจากนี้ยูคอมยังได้ปูพื้นฐานที่จะเข้าไปตั้งสถานีรับสัญญานในประเทศต่าง ๆ แถบอาเซียนนี้บ้างแล้ว คือ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว เวียดนาม และเขมร
จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานบริหารแห่งยูคอมคนนี้จะสามารถรุกก้าวธุรกิจโทรคมนาคมสู่ระดับตลาดโลก ด้วยโครงการ “อีรีเดียม” ที่ลงทุนร่วมพันกว่าล้านบาทหรือไม่?
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|