|
สนทนานักลงทุน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจจะขยายบทบาทการเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีมากขึ้น และบริษัทประเภทนี้นับวันก็จะเพิ่มเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ ฯ มากขึ้น การตัดสินใจลงทุนในโฮลดิ้งคอมปะนี จึงเป็นประเด็นซับซ้อนในการวิเคราะห์พอสมควร “ผู้จัดการ” ได้สัมภาษณ์ อุดมศักดิ์ ชาครียวณิชย์ เพื่อหาคำตอบในประเด็นสำคัญนี้
ถาม ลักษณะของบริษัทโฮลดิ้ง เป็นอย่างไร
ตอบ ผมกำลังมองPURE HOLDING COMPANY อยู่อย่างเราพูดกันตรง ๆ หลักทรัพย์เอเชีย คุณเคยมีคำถามไหมว่าทำไมเราถึงมีทุนจดทะเบียนสูงมาก เราเป็นหลักทรัพย์ที่มีทุนจดทะเบียนสูงมากนะ 1,300 ล้านบาท ประวัติหลักทรัพย์เอเชียเดิมจริง ๆ บริษัทเราเป็นบริษัทโฮลดิ้งมาก่อน เพราะฉะนั้น มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือบริษัทโฮลดิ้งมักจะมีทุนจดทะเบียนสูงปัญหาที่ตามมา คือเมื่อไรที่มีทุนจดทะเบียนมาก แน่นอนคุณต้องพยายามหารายได้ เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นของคุณ ให้มันดูออกมาสวย พูดง่าย ๆ รายได้ต่อทุนจดทะเบียน คุณต้องสูงพอสมควร อย่างของเราเองหลักทรัพย์เอเชีย ของเราเหนื่อย แค่หุ้นละ 1 บาท 130 ล้านบาท เหนื่อยนะ
ถาม ปัญหาที่สำคัญอื่นของบริษัทโฮลดิ้งคืออะไร
ตอบ ปัญหาบริษัทโฮลดิ้งที่สำคัญโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ คือมันตุกติกกันได้ง่ายมาก เอากำไรถ่ายเทจากบริษัทโฮลดิ้งไปให้อีกบริษัทหนึ่ง เช่นวันดีคืนดี มันมีการ crossing ทำสัญญาจัดซื้อจัดขายหุ้นกันย้อนหลัง เพราะราคาหุ้นที่เขาอยู่ในตลาดมันขึ้นคือทำสัญญาย้อนหลังไป 7 เดือนเขาไม่รู้นี่ว่าราคาหุ้นในตลาดฯ ตอนนี้เป็นเท่าไร เขาทำหนังสือสัญญาย้อนหลังเสร็จ cross ออกไปเลยสัญญาว่าบริษัทโฮลดิ้งจะขายหุ้นให้กับนายนั่น นายนี่ ถ้าจะมองในแง่นั้น เป็นการถ่ายเทผลประโยชน์จากบริษัท ไปให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ง่าย ๆ
แต่ในแง่ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ข้อมูลก็เปิดเผยมากกว่า ปัญหาดังกล่าวก็ทำได้ยากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับกันประการหนึ่งว่าบริษัทโฮลดิ้งเหล่านี้ เจ้าของเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังคงครองความเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถึงแม้มันจะเป็น PUBLIC COMPANY หรือ LISTED COMPANY ก็ตาม
นอกจากนี้ในแง่ของการวิเคราะห์ ทางด้านงบการเงินต่างก็ปวดหัวพอสมควร และยังมี CROSS HOLDING กันอีกด้วย
ถาม นักลงทุนต่างประเทศเขามองเกี่ยวกับบริษัทโฮลดิ้งบ้านเราอย่างไร
ตอบ 0.0001 เปอร์เซ็นต์ คือต้องพูดคำจำกัดความของบริษัทโฮลดิ้งให้ชัดเจนก่อน คือเวลาพูดถึง บริษัทโฮลดิ้ง ภาพที่ผมมองคือมันเป็น PURE HOLDING COMPANY กล่าวคือ เป็นบริษัทที่เข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นเท่านั้น ไม่มีธุรกิจเป็นของตนเอง เช่นบริษัทเอกโฮลดิ้ง เป็นต้น ผมบอกได้เลยว่า บริษัทโฮลดิ้งประเภทนี้ ผมไม่เคยได้รับการขานตอบจากฝรั่งเลย แต่อย่างในกรณีของ CPF (บริษัทเจริญโภค-ภัณฑ์อาหารสัตว์)มันต่างกันจริง ๆ เขาสนใจในหุ้นของกลุ่มซีพี เพราะว่าอะไร เป็นธุรกิจการเกษตร แล้วเราก็แนะนำเขาว่า คุณอย่าไปดูตัวอื่นเลย คุณดู CPF ตัวเดียวก็พอ
ถาม CPF ที่เราดู เราไม่ได้บอกเขาว่าเป็นโฮลดิ้งแต่เราบอกว่าเป็นซีพี
ตอบ ใช่ ถูกต้อง
ถาม ถ้าเป็นเช่นนี้ในฐานะนักลงทุนธรรมดา ก็ไม่ควรเข้าไปลงทุนหรือ
ตอบ ผมก็ไม่อยากจะพูดอย่างนั้นหรอก ผมว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างในแง่ของการวิเคราะห์ ถามผมตอนนี้ผมจะไม่สามารถตัดสินใจได้ทันทีผมอาจจะไปหาที่ส่วน RESEARCH ว่า บริษัทโฮลดิ้งไปถืออะไรกันบ้าง?
และถ้ามองในแง่การลงทุนผมว่าค่อนข้างจำกัดวิเคราะห์ลำบาก เมื่อเทียบกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง อย่างคุณไปซื้อแบงก์มองธุรกิจแบงก์เป็นอย่างไร แนวโน้มไตรมาสนี้จะเป็นเท่าไรพูดกัน ง่าย ๆ ว่าการวิเคราะห์ จะง่ายกว่า
แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง บริษัทโฮลดิ้ง หากไม่มีการตุกติกทางบัญชี มันก็น่าสนใจเพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจมันก็ต้องการกระจายความเสี่ยง ซึ่งเป็นผลดีของบริษัทโฮลดิ้งที่เห็นชัด คือการก่อเกิดรายได้ที่ค่อนข้างคงที่ เพราะการลงทุนหากกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจหลาย ๆ ประเภทธุรกิจใดประเภทหนึ่งอาจจะแย่ลง อีกประการหนึ่งอาจจะดีขึ้นแต่ก็คงจะเป็นจุดที่นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วยว่าบริษัทโฮลดิ้งไปลงทุนในธุรกิจประเภทไหนบ้าง สัดส่วนอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ตามมาแทนที่จะเป็นการวิเคราะห์เพียง 1 ชั้นก็เป็น 2-3 ชั้น และที่สำคัญมากคือข้อมูลได้รับการเปิดเผยมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้มันค่อนข้างใหม่สำหรับนักลงทุน
ถาม การวิเคราะห์บริษัทโฮลดิ้งควรทำอย่างไร
ตอบ การวิเคราะห์ที่สำคัญคือแหล่งรายได้ของบริษัทโฮลดิ้งมาจากตรงไหน อย่างกรณีของเรา เมื่อคุณมาวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชีย คุณก็ต้องมองเหมือนกันว่า แหล่งรายได้ของเราเป็นอย่างไร คุณก็บอกว่าของเรามาจากค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทั้งนั้น ค่านายหน้า คุณก็มองว่าคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ 90% เหลืออีก 10% เป็นกำไรที่มาจาก PORT FOLIO คุณก็ต้อง BREAKDOWN เหมือนกัน คุณมองบริษัทโฮลดิ้งคุณก็ต้องมองเหมือนกัน ยิ่งถ้าเรามอง PURE HOLDING COMPANY ซึ่งไม่มีธุรกิจในตัวมัน รายได้ของมันได้มาจากบริษัทลูกทั้งหมดที่เข้าไปถือ คุณก็อาจจำเป็นต้อง BREAKDOWN ลงไปในงบรวม ( CONSOLIDATE) ดังนั้นในแง่ของบริษัทโฮลดิ้งนี้ หากเขาไม่เปิดเผยการถือครองของหุ้นต่าง ๆ ก็เท่ากับว่าเขาปิดหูปิดตาคุณ
นอกจากนี้หากเราจะซื้อหุ้นตัวไหนนักลงทุนเองก็ต้องเชื่อใจผู้บริหาร ว่าผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการลงทุนคือมองในแง่ของรายได้บริษัทพวกนี้ ถ้าคุณมองบริษัทโฮลดิ้งผมถามนิดหนึ่งว่ารายได้ของบริษัทพวกนี้มาจากไหนจากบริษัทลูกที่เข้าไปลงทุนใช่ไหม ถ้าบริษัทลูกยังไม่สามารถส่งผลกำไร ในแง่ของเงินปันผลหรืออะไรก็แล้วแต่ ไปยังบริษัทแม่ที่เป็นโฮลดิ้งได้ ผมถามว่ารายได้บริษัทแม่มาจากไหน การเติบโตของบริษัทนี้มาจากไหน ผลตอบแทนจากบริษัทลูกที่เข้าไปลงทุน คือเงินปันผล ที่จ่ายคืนให้บริษัทแม่ บริษัทแม่ก็รับไป รายได้ของบริษัทก็จะโตขึ้น ๆ พร้อมที่จะขยายงานต่อไป
นอกจากเงินปันผลแล้ว ยังมีเทคนิคอื่นที่จะนำรายได้จากบริษัทลูกออกมาให้บริษัทแม่เช่นคุณขายหุ้นราคาถูก ๆ ให้บริษัทแม่ซื้อไว้ โดยที่ราคาตลาดมันอาจจะแพงก็ได้ แต่คุณ CROSS หุ้นมาได้ถูก
ทั้งนี้บริษัทลูกที่บริษัทโฮลดิ้งเข้าไปลงทุนอาจจะไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยคุณอาจจะขายผมในราคาพาร์ เมื่อคุณจะเพิ่มทุนขึ้นมา ผมซื้อคุณในราคาพาร์สุดท้ายเมื่อบริษัทโฮลดิ้งต้องการรับรู้กำไร ก็ทำได้โดยขายออกไปให้คนอื่นในราคา BOOK VALUE
ถาม ถ้าหากทั้งบริษัทโฮลดิ้งและบริษัทลูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ด้วยกันทั้งคู่ เราควรจะลงทุนในบริษัทใด
ตอบ การที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทลูก ก็ต้องดู นโยบายของบริษัทว่าต้องการทำให้กำไรต่อหุ้นตัวไหนมากกว่ากัน
ถาม ทิศทางของบริษัทโฮลดิ้งจะมีมากขึ้นหรือไม่
ตอบ ผมว่าธรรมชาติของธุรกิจ จะนำไปสู่การมีบริษัทโฮลดิ้งในที่สุดมันต้องมีมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|