ลงทุนหุ้นโฮลดิ้งต้องดู NAV

โดย ศิริมา จินดาทองดี อรพิน กลิ่นประทุม ศิริเพ็ญ องอาจถาวร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

“บริษัทโฮลดิ้งไม่มีคำนิยามที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่คิดว่าหมายถึงบริษัทที่ถือหุ้นเป็นบริษัทลงทุนอย่างเดียว มีเงินและเอาเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ แต่ตัวเองไม่ได้ประกอบธุรกิจใด ๆ จัดเป็น ที่มี รายได้ทั้งหมดมาจากเงินปันผล บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะไม่มีประเภทนี้เลย” บุญมา วิกันตา-นนท์ หัวหน้าส่วนรับหลักทรัพย์ฝ่าย บริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้คำนิยามบริษัท โฮลดิ้ง

กฎเกณฑ์ที่ใช้พิจารณารับบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ไม่เปิดโอกาสให้ PURE HOLDING COMPANY เข้าจดทะเบียน บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นต้องมีรายได้จากธุรกิจของตนเองอย่างน้อย 30% ของรายได้รวมนั่นคือรายได้เงินปันผลจากบริษัทลูกต้องไม่มากกว่า 70%

สาเหตุที่ไม่รับ PURE HOLDING COMPANY นั้น หัวหน้าส่วนรับหลักทรัพย์ให้เหตุผลว่าการควบคุม PORE HOLDING COMPANY ทำได้ยากมากเพราะผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวจะมีการซื้อ หรือขายหุ้นในบริษัทลูกเมื่อใดก็ได้ ราคาหุ้นจะผันผวนมากนักลงทุนรายย่อยจะเสียเปรียบ...

...ตุลาคม 2534 ปิ่น จักกะพาก แห่งบริษัทเงินทุน (บง.) เอกธนกิจวาณิชธนากรในวงการ TAKE OVER เข้าซื้อฟิลาเท็กซ์ บริษัทผลิตยางยืดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เอกโฮลดิ้ง”

1 ปีให้หลัง เอกโฮลดิ้งเข้าซื้อกิจการประมาณ 6 แห่งโดยเริ่มทยอยซื้อกิจการที่ผู้ถือหุ้นสำคัญ คือ บง.เอกธนกิจถือหุ้นอยู่คือ บริษัทหลักทรัพย์เจเอฟธนาคม, เอกธำรง, และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์-เอกสิน เพื่อเป็นฐานทางการเงิน ขณะเดียวกันก็เริ่มเข้าลงทุนในธุรกิจเรียลเอสเตท คือ สาธรสยาม, ท่าจีน และล่าสุดเมื่อตุลาคม 2535 นี้เข้าลงทุนในพิทักษ์สินประกันภัย (พิจารณาแผนผังการถือหุ้นประกอบ)

ดังกล่าวข้างต้น หากเอกโฮลดิ้งขายธุรกิจของฟิลาเท็กซ์ออกไป เอกโฮลดิ้งก็เข้าข่าย PURE HOLDING COMPANY ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ทั้งที่ระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ฯ ห้ามเมื่อเป็นเช่นนี้ “เอกโฮลดิ้ง” น่าลงทุนซื้อหุ้นหรือ

นอกเหนือจาก PURE HOLDING COMPANY ดังกล่าวแล้ว โดยทั่วไปลักษณะของบริษัท โฮลดิ้ง ยังแบ่งได้อีก 2 ลักษณะกล่าวคือ บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน เช่นหุ้นในกลุ่มซีพี, สหยูเนี่ยน และบริษัทโฮลดิ้งที่เป็น CONGLOMERATE คือถือหุ้นในกิจการที่หลากหลาย อุตสาหกรรม เช่น กลุ่มพรีเมียร์เอนเตอรไพรซ์ (พิจารณาแผนผังการถือหุ้นประกอบ)...

...ปลายปี 2531 กลุ่มบริษัทไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น ทำให้เจ้าหน้าที่รับหลักทรัพย์ของตลาดหลัก-ทรัพย์ ฯ ต้องทบทวนหลักการรับจดทะเบียนของบริษัทที่มีเจ้าของกลุ่มเดียวกันหรือผู้บริหารกลุ่มเดียวกันให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้เพียงบริษัทเดียวในกรณีที่บริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจคล้ายคลึงอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ทำให้นักลงทุนสับสนในการลงทุน และด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อป้องกันเรื่อง CONFLICT OF INTEREST ที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตามหากเข้าข่ายเป็นเจ้าของกลุ่มเดียวกันหรือผู้บริหารกลุ่มเดียวกันแต่ธุรกิจอยู่ในต่างอุตสาหกรรม ก็สามารถแยกเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้

ปัจจุบันบริษัทที่เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ในลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก แทบทุกบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ติดปัญหาเรื่องการถือ หุ้นในบริษัทอื่นแล้วล้วนแล้ว แต่มีบริษัทย่อยเข้ามาร่วมด้วย นัยสำคัญที่นับว่าต้องนำมาร่วม ในโครงสร้างของบริษัทแม่คือการถือหุ้นร่วมกันเกินกว่า 51%

จากกฎเกณฑ์ของทางการดังกล่าว การเข้าไปลงทุนในบริษัทโฮลดิ้งประเภทนี้ จะไม่แตกต่างจากการวิเคราะห์บริษัทอื่นเท่าใดนัก

ส่วนบริษัทโฮลดิ้งที่เป็น CONGLOMERATE ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือบริษัทพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ที่มีบริษัทลูกหลายกลุ่มธุรกิจเช่น ธุรกิจการค้าและบริการ ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการผลิตเพื่อการส่งออก

การกระจายกลุ่มธุรกิจดังกล่าวออกไปมากมายเช่นนี้ประเด็นสำคัญก็คือมีผลต่อบริษัทประเภทนี้อย่างไร ?

PURE HOLDING COMPANY บริษัทที่เป็นโฮลดิ้งมีผลการบริหารงานขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนของผู้บริหาร รายได้หลักจะมาจากเงินปันผลของบริษัทลูก หากผู้บริหารมองการณ์ไกลบริษัทลูกที่ไปลงทุนมีผลประกอบการที่ดี บริษัทโฮลดิ้งก็จะมีรายได้มากตามไปด้วย

การลงทุนในบริษัทโฮลดิ้งประเภทนี้จึงคล้ายคลึงกับการลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารเงินลงทุนให้ กล่าวคือเป็นลักษณะของ PORTFOLIO จะต่างกันที่สินค้าที่ผู้จัดการกองทุนเข้าไปลงทุน

ดังนั้น มูลค่าของบริษัทโฮลดิ้งนี้จึงสามารถที่จะคำนวณขึ้นมาจากค่า NAV ( NETASSET VALUE) ได้เช่นกันเพียงแต่ว่านักลงทุนต้องระวังในเรื่องตัวเลขที่คำนวณออกมาด้วย เพราะแต่ละสำนักจะไม่เหมือนกัน

ส่วนความกังวลของทางการที่กลัวความผันผวนของรายได้ของบริษัทโฮลดิ้งอันเกิดจากการเล่นกลของผู้บริหาร กล่าวคือคิดจะขายหรือซื้อหุ้นตัวใดก็ได้นั้นเป็นข้อกังขาที่เกิดขึ้นจากการตั้งสมมุติฐาน “ใจคนสุดหยั่ง” นั่นเอง

ทว่า เมื่อในวงการการเงินบ้านเราในขณะนี้ผู้บริหารที่ยอมเสียภาพพจน์จากการเล่นกลโยกเงินจากบริษัทสู่กระเป๋าตนเองจนทำให้นักลงทุนเสียหาย ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อใดที่ทำเช่นนั้นในสังคมวงแคบ ๆ เช่นนี้ ย่อมมีเพียงครั้งแรกคงไม่มีใครยอมให้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองตามมา

สำหรับ “เอกโฮลดิ้ง” ที่คาดว่าในอีกไม่นานคงจะขายธุรกิจยางยืดออกไปลักษณะบริษัทเข้าข่ายโฮลดิ้งนี้น่าลงทุนหรือไม่นั้น นอกจากการวิเคราะห์ในขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปเหมือนกับบริษัทจำกัดแล้ว

ด้วยความเป็นบริษัทโฮลดิ้งประเภทที่ลงทุนในบริษัทลูกด้วยวัตถุประสงค์ของการลงทุนเป็นหลัก (INVESTMENT) ดังนั้นผลตอบแทนที่สำคัญคือกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (CAPITAL GAIN) มากกว่าที่จะหวังรายได้เงินปันผลจากบริษัทลูก

ดังจะเห็นได้จาก บริษัทที่เอกโฮลดิ้งเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ประกันภัย และเรียลเอสเตท ต่างมีแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมสูงมากและทิศทางของบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้สุดท้ายล้วนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ

สำหรับ CONGLOMERATE HOLDING COMPANY ธุรกิจที่มี PORTFOLIO ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง แต่เมื่อความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนย่อมไม่สูงด้วยเช่นกัน นักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงจึงสามารถลงทุนได้ในระยะยาว

การวิเคราะห์บริษัทนี้ค่อนข้างลำบากเพราะมีความสลับซับซ้อนมากด้วยเหตุว่าต้องวิเคราะห์กันหลายอุตสาหกรรมและนำมารวมกันเพื่อตัดสินใจอีกครั้ง

การคำนวณมูลค่าของบริษัท ก็ใช้วิธีคำนวณจาก NAV เช่นเดียวกับบริษัทโฮลดิ้งประเภทอื่น

จากการวิเคราะห์ที่ยุ่งยากจนนักวิเคราะห์หลายค่ายแทบจะไม่วิเคราะห์กัน ทำให้นักลงทุนไม่ค่อยสนใจตามไปด้วยแต่ทิศทางของบริษัทประเภทนี้กลับค่อนข้างน่าสนใจ

เพราะหากมีวาณิชธนกร (INVESTMENT BANKER) หรือ ผู้บริหารของบริษัทนั้น ๆ เองเข้ามาวิเคราะห์อย่างละเอียดอาจจะพบว่าามีธุรกิจบางส่วนมีมูลค่าแท้จริงสูงกว่ามูลค่าของบริษัทโฮลดิ้งแล้ว จัดโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยแยกตัวของธุรกิจที่มีมูลค่าสูงกว่าออกมา (SPRINT OFF) มูลค่าโดยรวมของบริษัทนี้ก็จะเพิ่มขึ้น !

สำหรับกรณีของพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ที่เข้าข่ายโฮลดิ้งประเภทนี้นั้น การเข้าลงทุนในแต่ละบริษัทล้วนแล้วแต่เพื่อการบริหารงานทั้งสิ้นดังนั้นการพิจารณาว่าจะเข้าไปลงทุนในบริษัทนี้หรือไม่นั้น ควรพิจารณาจากคุณภาพของบริษัทลูกและมูลค่า NAVของบริษัท

ปัจจุบันสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทโฮลดิ้งยังมีน้อยมาก นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไร ซึ่งจะซื้อหรือขายมักฟังข่าวมากกว่าฟังผลวิเคราะห์บริษัทโฮลดิ้งที่จะเกิดขึ้นแล้วสามารถเวียนว่ายในตลาดรอง แห่งนี้ได้

ในช่วงแรกนี้คาดว่าจะเป็นพวก PURE HOLDING COMPANY เพราะความหวือหวาของราคาคงจะทำให้นักลงทุนในตลาดไทยได้ลุ้นกันพอสมควร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.