|
100 บริษัทชั้นนำของผู้จัดการ
โดย
สรร เกษมสถิตจงกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
“มีเพียง 10 บริษัทเท่านั้นที่ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบครึ่งของทุกบริษัทในตลาดหลัก-ทรัพย์ฯ และทำกำไรสูงถึง 40% ของยอดกำไรรวมของทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ถ้าวัดจาก ความสามารถในการทำกำไรและความมั่นคงแล้วบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ดีที่สุด”
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ในฐานะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศผลการประกอบการของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยรวมยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน
โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ สามารถสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 416.32 พัน-ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.89 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตามประมาณการของสภาพัฒน์ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 10.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรายได้เฉลี่ยบริษัทละ 1.39 พันล้านบาท
แต่มีเพียง 54 บริษัทเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้ของบริษัทที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในจำนวนนี้ หากไม่รวมกลุ่มธนาคารซึ่งมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้วจะมีบริษัทที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย เหลือเพียง 39 บริษัทเท่านั้นและเมื่อรวมรายได้ของบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 10 บริษัทแรก จะพบว่ามี สัดส่วนถึง 44.59 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของบริษัททั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์
การที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในขณะเดียวกันบริษัทต่าง ๆ มีความจำเป็นในการขยายตัว เพื่อรักษาระดับการเจริญเติบโต ประกอบกับนโยบายการค้าเสรีของรัฐบาล จึงทำให้การแข่งขันทวี ความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันทางด้านราคาต้นทุนการดำเนินงานจึงสูงขึ้นอันส่ง ผลให้กำไรสุทธิลดลง
แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะเพิ่มขึ้น 10.5 เปอร์เซ็นต์แต่การทำกำไร กลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 46.35 พันล้านบาท
และหากเปรียบเทียบบริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 10 อันดับแรกซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แล้วจะพบว่ามีมูลค่าคิดเป็น 41.5 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ากำไรสุทธิของตลาด
ในระยะครึ่งปีแรกบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้เพิ่มมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 3,463.77 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33.32 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิกลับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์จึงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการลงทุนส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งยังไม่สามารถก่อรายได้ในงวดบัญชีปัจจุบัน
โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมทั้งตลาด 3.92 เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับ 4.43 เปอร์เซ็นต์ และเปรียบเทียบกับ 10 บริษัทแรกซึ่งให้ผลตอบแทนสูงสุดในระดับ 18.17 เปอร์เซ็นต์
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ มีขนาดสินทรัพย์เฉลี่ย 11.54 พันล้านบาทแต่มีเพียง 29 บริษัทเท่านั้นที่มีขนาดสินทรัพย์สูงกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากการถ่วงของธนาคารขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของประชาชน
หากไม่รวมกิจการธนาคาร บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะมีขนาดสินทรัพย์เพียง 2.5 พันล้านบาท (100 ล้านเหรียญ)
หรือหากเทียบเป็นมูลค่าตามราคาตลาด (MARKET CAPITAL) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะมีมูลค่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1992 เฉลี่ยประมาณ 4.47 พันล้านบาท (178.2 ล้านเหรียญ) เท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์คู่แข่งของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดเมื่อสิ้นปี 1991 ประมาณ 182.6 และ 370.6 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดสูงกว่าขนาดเฉลี่ยกลับ มีเพียง 58 บริษัทจากจำนวน 299 บริษัทเท่านั้น นอกจากนั้นสินทรัพย์ประมาณ 65.49 เปอร์เซ็นต์ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ เป็นสินทรัพย์ของบริษัทขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก
กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเล โดยเฉพาะการส่งออกปลาทูน่าโดยมีรายได้และกำไรสุทธิลดลงเฉลี่ย 1.05 และ0.47 เปอร์เซ็นต์ทั้งนี้เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบและการกีดกั้นทางการค้า
นอกจากกลุ่มการเกษตรแล้วกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากบริษัทในกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นการรับจ้างทำของและพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างสูง โดยมีรายได้และกำไรสุทธิเฉลี่ยลดลง 2.70 และ 210.84 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงคือกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ในอดีตยังคงสร้างกระแสรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะการก่อสร้างจะชะลอตัวลงก็ตามอย่างไรก็ตาม การรับรู้รายได้ในวิธีการบันทึกทางบัญชี และมีผลต่อการดำเนินงาน ค่อนข้างสูง
ส่วนการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ เมื่อมองในด้านความมั่นคงของธุรกิจโดยพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ ยอดรายรับ ยอดกำไรสุทธิและส่วนของ ผู้ถือหุ้นพบว่า บริษัทที่มีความมั่นคงสูงเป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ยังคงเป็นบริษัทที่มีลำดับสูงที่สุด โดยมีรายรับรวมต่ำกว่าการบินไทยเท่านั้น
นอกจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แล้ว บริษัทชั้นนำในประเทศที่มีความมั่นคงระดับสูง คือการบินไทย ปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ และกลุ่มพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
การเปรียบเทียบเมื่อมองในด้านความสามารถในการทำกำไร เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ผลตอบแทนต่อยอดขาย ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และกำไรสุทธิต่อหุ้น พบว่าความสามารถในการทำกำไรกระจายสู่กลุ่มบริษัทต่าง ๆ ออกไปค่อนข้างกว้าง
บริษัทที่น่าสนใจในด้านผลการดำเนินการคือ ทิสโก้ คริสเตียนีแอนด์นีลเซ่น อเมริกันสแตนดาร์ด และเครือซิเมนต์ไทย
แต่เมื่อมองทั้งด้านความมั่นคงและความสามารถในการทำกำไรแล้ว ควรให้เครดิตกับแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ และกฤษดามหานคร
วิธีการสำรวจ
ข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอนี้เป็นการวิเคราะห์จากรายงานงบการเงินประจำงวดครึ่งปี (ม.ค.-มิ.ย. 2535) ของบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 299 บริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ในระยะครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนจากการเปรียบเทียบ และจัดอันดับปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ อย่างไรก็ตามบริษัทต่าง ๆ มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแตกต่างกันไป ปัจจัยที่จะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบจึงจำเป็นต้องใช้ปัจจัยและอัตราส่วนที่มีลักษณะร่วมของแต่ละธุรกิจคือ
1) รายได้รวม เป็นรายได้จากการดำเนินงานจากธุรกิจหลักและรายได้อื่น ๆ
2) กำไรสุทธิภายหลังจากดอกเบี้ยและภาษี
3) สินทรัพย์รวมตามมูลค่าทางบัญชี
4) ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงทุนเรือน หุ้น กำไรสะสม และส่วนล้ำมูลค่าหุ้น
5) อัตราผลตอบแทนต่อยอดขาย
6) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม
7) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
8) กำไรสุทธิปรับราคาพาร์เพื่อการเปรียบเทียบ
9) อัตราการเติบโตของรายได้
การจัดอันดับตามปัจจัยต่าง ๆจะทำการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่าง ๆ ทั้งนี้ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ที่มิใช่หุ้นสามัญ และจะนำเสนอเพียง 100 บริษัทตามยอดรายได้รวม
ส่วนการคำนวณเพื่อสรุปผลการดำเนินงานโดยรวม ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนนลำดับของปัจจัยที่ใช้ใน การจัดลำดับ ทั้ง 9 ปัจจัยดังแสดงไว้ข้างต้นแล้ว โดยได้เพิ่มลำดับของยอดรายได้รวมระยะเดียวกับปีก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|