|
ภาพชีวิตของสามัญชนเขมรวันนี้
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและบรรดานักวิเคราะห์ตลอดจนนักธุรกิจส่วนใหญ่ต่างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเขมรกำลังดีวันดีคืนตามลำดับและถนนธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกกำลังทอดยาวเข้าสู่ดินแดนที่เพิ่งผ่านพ้นไฟสงครามมาไม่นานแต่การคาดหมายใด ๆ จะมีความหมายมากไปกว่าเสียงสะท้อนจากสามัญชนคนเดินดินชาวเขมรเองที่จะเป็นผู้ชี้ชัดว่าพวกเขามี “ชีวิตที่ดี” กว่าแต่ก่อนหรือไม่ ? อย่างไร?
กับคำถาม “คุณคิดว่าเศรษฐกิจเขมรกำลังดีขึ้นหรือแย่ลง” สิโธเจ้าของร้านขายเครื่องเขียนในตลาดทายให้ความเห็นว่า “ดิฉันคิดว่าเงินเฟ้อคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามราคา ของมัน และคนทั่วไปก็เข้าใจดีที่จริงตอนนี้ทางร้านขายดีกว่าเมื่อก่อนวันหนึ่ง ๆ มีกำไรราว 15,000-20,000 เรียล ถึงจะไม่มากมายนักแต่ก็พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้”
ส่วนจัน ธร เจ้าของภัตตาคารฟราเทอร์ไนต์ เผยความรู้สึกว่า “ช่วงหลังนี้ธุรกิจดีขึ้นมากเรามีรายได้มากขึ้นมีกำไรมากขึ้นยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นตามค่าเงินเรียลในตลาดมืดปีที่แล้วเรามีรายได้ 150,000 เรียลแต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวแล้ว ดูเหมือนว่าตั้งแต่เจ้าหน้าที่อันแทคเข้ามามีลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น แต่ถึงยังไงธุรกิจในช่วงกลางคืนก็ไปได้ไม่ดีนักเพราะมีพวกหัวขโมยและมีการฆาตกรรมมากถ้ามีความปลอดภัยมากขึ้นธุรกิจคงดีตามไปด้วย”
แม้แต่คนขี่สามล้อรับจ้างวัยฉกรรจ์อย่างพิรูนก็มีทัศนะต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขมรน่าสนใจไม่น้อย “ทุกคนรู้ดีว่าตอนนี้มันวุ่นวายไปหมด และถึงแม้ค่าจ้างสามล้อจะแพงขึ้นกว่าเดิมมากแต่ผมก็มีรายได้แค่วันละ 3,000 เรียล ซึ่งก็พอสำหรับค่ากินอยู่ไปวัน ๆ เหมือนเมื่อก่อนนั่นแหละ” ทว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลร้ายต่อกลุ่มข้าราชการอย่างเห็นได้ชัดที่สุดหูตโสถนักบัญชีประจำกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า “เงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายให้พวกเราแค่ 30,000 เรียลนั้นไม่พอแม้แต่จะเป็นค่าอาหารเช้า ตอนนี้พวกเราต้องพึ่งภรรยาที่ขายของอยู่ในตลาด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างยากเย็น แต่มาตรฐานการดำเนินชีวิตของเราคงดีขึ้นอย่างช้า ๆ”
ครูโรงเรียนมัธยมบักตูกอย่างอุม สีนูนก็พูดในทำนองเดียวกันว่า “เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินเดือน 32,000 เรียล (ราว 15 ดอลลาร์) พวกเราทุกคนต้องมีทำธุรกิจส่วนตัวหรือประกอบอาชีพเสริมไม่งั้นต้องอดตายแน่ดิฉันกับพี่สาวก็ขายอาหารในโรงเรียนไปด้วยอีกหน่อยดิฉันอาจจะลาออกแต่กำลังรอดูอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้างในอนาคต แต่ถึงอย่างไรดิฉันยังรักอาชีพครูอยู่” และเมื่อถามคำถามเดียวกันนี้จากยาย หญิงชาวนาและขอทานผู้เร่ร่อนบนถนนอาจารย์เมียนแล้วคำตอบแบบไม่ยี่หระต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของเธอก็คือมันก็ไม่ได้ไม่เสียอะไรนี่ทุกปีฉันต้องเข้าเมืองมาขอทานแล้วก็มีเงินพอเลี้ยงตัวไปวัน ๆ ถึงจะไม่ใช่เรื่องที่ควรทำเท่าไหร่แต่ฉันไม่มีใครอีกแล้วที่นาที่กัมปงสปือก็ทำนาไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|