|
มังกรผยอง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
หลายคนคิดว่าเมื่ออังกฤษตัดสินใจที่จะส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนคงจะถือเป็นวาระสุดท้ายของอาณานิคมแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันเมื่อการส่งมอบในปี 1977 ใกล้จะมาถึงนั้นเศรษฐกิจฮ่องกงกำลังบูม มูลค่าอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นจากสองปีที่แล้วถึง 60%
เหตุผลคือนักธุรกิจตะวันตก บริษัทธุรกิจการเงินจากโตเกียวรวมทั้งนักธุรกิจเชื้อสายจีนจาก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมุ่งหน้าสู่ฮ่องกงขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งโลกกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซา พวกนักธุรกิจจึงมองหาเมืองที่กำลังจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ฮ่องกงถือเป็นที่ตั้งที่ได้เปรียบเนื่องจากมีแหล่งเงินทุน มีผู้ประกอบการของฮ่องกงและไต้หวันที่มีความสามารถ รวมทั้งมีตลาดบนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีจำนวนถึง 1,200 ล้านคน มีแรงงานราคาถูกรวมทั้งทรัพยากรที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์จากจีนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ดียังมีอุปสรรคในการสร้าง “ศตวรรษแห่งมังกร” ที่ชาวจีนในดินแดนโพ้นทะเลวิตกกังวลอยู่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และของฮ่องกงเองหลังปี 1977 เป็นสิ่งที่ น่าจับตามอง รวมทั้งปักกิ่งและฮ่องกงเองก็ยังมิได้มีการเจรจากันอย่างจริงจังในเรื่องการรวมดินแดน แต่เป็นที่คาดกันว่าการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในราวปลายปีนี้จะมุ่งพิจารณาถึงแผนการการปฏิรูป ทางเศรษฐกิจของ เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นหลัก
แต่เมื่อไม่พิจารณาถึงปัจจัยทางด้านการเมืองจะเห็นได้ว่ามีการลงทุน การค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเข้ามาในประเทศจีนเป็นอย่างมากอันถือเป็นการผูกมัดจีนทั้งสามเข้าด้วยกัน และจะมีส่วนช่วยสร้างดุลให้เกิดขึ้นในเอเชีย เมื่อจีนทั้งสามรวมกันนั้นจะมีเงินตราสำรองรวมถึง 160,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าญี่ปุ่นที่มี 70,500 พันล้านดอลลาร์ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของญี่ปุ่นทีเดียว
มีการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนมากรวมทั้งผู้ประกอบการจากฮ่องกงและไต้หวัน ที่ต่างทุ่มลงทุนเป็นจำนวนเงินถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานทางตอนใต้ของจีนอย่างเช่นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และเทียนสิน ขณะเดียวกันบริษัทของรัฐบาลจีนในปัจจุบันนั้นเข้าไปลงทุนในฮ่องกงมากที่สุดนักวิเคราะห์เห็นว่า “ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับจีนทั้งหมด” แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสหรัฐฯได้ตัดสินใจขายฝูงเครื่องบินขับไล่ มูลค่าหกพันล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน
การที่เศรษฐกิจจีนเริ่มกระเตื้องขึ้นนั้นถือเป็นการท้าทายญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ขณะที่ในปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ และเริ่มรู้สึกว่าพ่อค้าชาวจีนกำลังจะเข้ามาแทนที่พวกตน
ส่วนทางวอชิงตันนั้นมีความรู้สึกที่ผสมผสานกันเกี่ยวกับการเติบโตขึ้นของจีนขณะที่การรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นกดดันให้ทางกรุงปักกิ่งต้องมีนโยบายเสรีมากขึ้นแต่ยิ่งจีนเปิดเสรีมากขึ้นก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐฯ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯจึงจับตามองการค้าและการทหารของจีนอย่างใกล้ชิดขณะที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มาถึง 15 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ส่งผลให้ประธานาธิบดี จอร์จ บุช บีบให้จีนเปิดตลาดการค้ามากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|