ไอบีเอ็มคลอดหน่วยงานใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีเอ็มกำลังปฏิรูปองค์กรใหม่ในส่วนธุรกิจด้านพีซีแม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นจะ ทำเพื่อรับมือกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างเข้มข้นโดยมุ่งให้องค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ก็มิได้เป็นไปตามที่ทางบริษัทคาดหมายไว้ทั้งหมด

ไอบีเอ็มเรียกองค์กรใหม่นี้ว่า “หน่วยปฏิบัติงานที่เป็นเอกเทศ” โดยไม่ใช่แผนกงานใหม่ แต่ตั้งเป็นบริษัทและเรียกชื่อใหม่ว่า ไอบีเอ็ม เพอร์ซันนอล คอมพิวเตอร์ โค แต่อย่างไรก็ดี โรเบิร์ต คอร์ริแกน ผู้บริหารของบริษัทใหม่นี้ก็ยังคงจะต้องรายงานผลการดำเนินงานกับ เจมส์ เคนนาวิโน รองกรรมการผู้-จัดการใหญ่ของไอบีเอ็ม แม้ว่าทางไอบีเอ็มจะไม่ตั้งเป้าสำหรับรายได้ของบริษัทใหม่ที่ในปีที่แล้วมีรายได้ราวเจ็ดพันล้านดอลล่าร์

แม้กระนั้นก็ตาม ไอบีเอ็มพีซีก็มีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น สิ่งหนึ่งคือสามารถแยกธุรกิจในส่วนโปรแกรมปฏิบัติการ O/S2 ออกมาเป็นอิสระจากธุรกิจเวิร์ค สเตชั่นของไอบีเอ็มส่งผลให้คอร์ริแกน มีอิสระที่จะมุ่งเน้นเฉพาะ PS/1, PS /2, พอร์เทเบิลและพีซีราคาถูกรุ่นใหม่ “แวลู พอยท” ที่กำลังจะวางตลาด ไอบีเอ็ม พีซีนั้นมีพนักงานถึง 1,200 คนที่เคยทำงานในแผนกจัดจำหน่ายที่รับผิดชอบในการจำหน่าย เครื่องพีซีให้กับพ่อค้าขายส่ง นั่นหมายความว่าปัจจุบันไอบีเอ็มมีเสรีภาพมากขึ้น ในการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ดีโครงสร้างใหม่อาจมีผลให้คอร์ริแกนต้องควบคุมต้นทุนของบริษัทด้วยตัวเองโดยเขากล่าวว่า “นั่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขาที่จะต้องควบคุมกิจการในทุก ๆ ส่วนของบริษัท” แต่ก็ใช่ว่าเขาจะสามารถบริหารงานทั้งหมดของบริษัทได้ งานบางอย่างนั้นก็ยังคงอยู่เหนือ การควบคุมของคอร์ริแกน แม้ว่าตัวเขาเองจะต้องมีความรับผิดชอบกับความสำเร็จและความล้มเหลวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานของบริษัททั่วโลก มิหนำซ้ำองค์กรใหม่นั้นยังกำหนดให้ตัวแทนของไอบีเอ็ม พีซีในยุโรป เอเชียและลาตินอเมริกานั้นไม่ต้องรายงานการดำเนินงานต่อคอร์ริแกนซึ่งทำให้บางทีตัวแทนเหล่านั้นอาจดำเนินงานสวนทางกับนโยบายของ คอร์ริแกนได้ นอกจากนั้นแล้ว ไอบีเอ็มพีซี ยังไม่มีหน่วยงานในการขายที่รับผิดชอบโดยตรง พนักงานขายของบริษัทยังคงสามารถจำหน่ายเครื่องพีซีได้ โดยตรงกับลูกค้ารายใหญ่

คอร์ริแกน กล่าวว่าเขากำลังสนับสนุนให้มีอิสระในเชิงภูมิศาสตร์ คือแต่ละภูมิภาคนั้นสามารถผลิตและกำหนดราคาที่เหมาะสมกับตลาดนอกจากนั้นยุทธศาสตร์อันดับแรกที่จะต้องทำนั้นคือต้องเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่รวมทั้งมีการลดราคาสินค้าขนานใหญ่เป็นขั้นต่อมา

แต่อย่างไรก็ดีไอบีเอ็มพีซีจะดำเนินงานเป็นผลหรือไม่อย่างไรนั้นคงต้องรอดูผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นจึงจะสามารถกล่าวได้ว่าการปรับองค์กรดังกล่าวจะประสบผลอย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.