|
ทางสองแพ่งของ “รัฐบาลชวน”
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
การสานต่อข้อตกลงร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฎว่านโยบายดังกล่าวกลับกลายมาเป็นความกดดันทางการเมืองอย่างหนักต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจใน “รัฐบาลชวน” ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้ามารับหน้าที่ในรัฐบาล
เพราะ 15 รายการที่จะต้องนำเข้าสู่ข้อตกลงการลดอัตราภาษีอย่างเร่งด่วน (FAST TRACK) คือซีเมนต์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่อง-อิเล็กทรอนิกส์) เฟอร์นิเจอร์ไม้ (เฟอร์นิเจอร์หวาย) น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิก และผลิตภัณฑ์แก้ว แคโทดที่ทำจากทองแดงนั้น
มีอยู่ 2 รายการสินค้าที่ประเทศไทยจะต้องเสียเปรียบอย่างแน่นอนเมื่อเริ่มเข้าสู่ข้อบังคับเขตการค้าเสรีอาเซียน คือปาล์มน้ำมัน และเคมีภัณฑ์
เพราะฉะนั้น การพิจารณาที่จะนำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน ทั้งที่รู้ว่าในไม่ช้าอุตสาหกรรมแบบทารกนี้จะต้องตายไปในที่สุด เพื่อแลกกับอีก 5 อุตสาหกรรมที่คาดกันว่าไทยได้เปรียบในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน อันหมายถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง และผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นความขัดแย้งคู่สำคัญว่าจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
แรงกดดันเกิดขึ้นมาสุดขั้วทั้ง 2 ทาง ทางหนึ่งคืออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันคือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในภาคใต้ หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติที่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าในอีก 5 อุตสาหกรรมที่ไทยได้เปรียบประเทศคู่ค้าในอาเซียนด้วยกัน ซึ่งคาดว่าสินค้า 5 รายการนั้นจะทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหลังจากเปิดให้มีการค้าเสรีในตลาดอาเซียน จึงเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเป็นแกนนำของรัฐบาลชุดนี้ จะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเดินทางไหนแน่
สำหรับ 5 อุตสาหกรรมที่เชื่อว่าไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เมื่อเขตการค้าเสรีอาเซียนเกิดขึ้น ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เซรามิกและซีเมนต์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ เชื่อว่าจะทำรายได้ให้กับประเทศชาติถึงปีละประมาณ 240,000 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ที่กำลังเป็นเรื่องถกเถียงกันนั้น ทำรายได้ให้กับประเทศชาติเพียงปีละ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น!!!
ในส่วนของครอบครัวเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในธุรกิจนั้น 5 อุตสาหกรรมที่ไทยจะได้เปรียบ เมื่อเกิดโครงการอาฟต้านั้น มีถึงประมาณ 300,000 คน ที่มีส่วนได้เสีย ในขณะที่ในส่วนของ อุตสาหกรรมปาล์มนั้น มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ประมาณ 100,000 คน
อย่างไรก็ตามครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับปาล์มนั้น คือ “ฐานเสียง” ที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้เกือบทั้งหมด !!!
ทั้งนี้ เพราะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ที่เป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากจนกระทั่งหัวหน้าพรรค คือ ชวน หลีกภัยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนใหญ่มาจากภาคใต้อันเป็นภาคที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุดของประเทศ
พื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ ชุมพร ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี สตูลจนถึงภูเก็ต
จากตัวเลขการปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคใต้นั้น เริ่มจากจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุดนั้น มีพื้นที่ปลูกถึงประมาณ 347,891 ไร่ และส่วนหนึ่งของฐานเสียงซึ่งเป็นส่วนใหญ่เทให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส. ชื่อ พิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล อุปนายกสมาคม ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย
ที่สุราษฎร์ธานี การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งยกทีมใน ปีนี้ทั้ง 2 ครั้ง โดยกล่าวกันว่า ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันปาล์มใหญ่ในจังหวัดคือ ทักษิณปาล์มที่มีนักธุรกิจชาวมาเลเซียถือหุ้นใหญ่
ขณะเดียวกัน จังหวัดชุมพร ที่มีโรงงานปาล์มใหญ่ในเครือของวิจิตรภัณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถที่จะกุมใจของชาวบ้านที่มีอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปาล์ม ด้วยการสอบได้เป็น ส.ส. แบบยกทีม เหมือนกับที่จังหวัดสตูลที่ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ชื่อ ธานินทร์ ใจสมุทร ก็ชนะอดีตส.ส. ที่ชื่อจิรายุส เนาวเกตุ ของพรรคมวลชน โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่ง มาจากการสนับสนุนของอุตสาหกรรมปาล์ม ที่มีโรงสกัด ของตระกูล “งานทวี” อันเป็นญาติกับ ส.ส. สมัยแรกของพรรคประชาธิปัตย์จังหวัดภูเก็ตที่ชื่อ อัญชลี วานิช (เทพบุตร) ที่มีอุตสาหกรรมปาล์มของตนเองในนาม “ยูนิลีเวอร์” ที่ตระกูลวานิช ร่วมทุนกับกลุ่ม ลีเวอร์บราเธอร์ที่มีสวนปาล์มอยู่ที่พังงาบางส่วน
พิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล กล่าวถึง “ฐานเสียง” ในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมว่ามีถึง 300,000 เสียงทีเดียว
นั่นหมายความว่าแนวทางแก้ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ เองมีการหาทางออกในทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้รอบคอบ มิเช่นนั้น ฐานเสียงที่พิเชษฐกล่าวถึงว่ามีเกือบครึ่งล้านนั้น อาจจะเทให้กับพรรคอื่น ในกรณีที่แก้ปัญหาไม่ถูกใจกับฐานเสียงเหล่านั้น ในการเข้าร่วมกับอาฟต้า
เรื่องนี้ หลายคนจึงต่างจับตาดูนโยบายการแก้ปัญหาของชวน หลีกภัยว่าจะออกมาในรูปไหน เพราะรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่เกี่ยวข้องกับอาฟต้าในครั้งนี้ ก็มาจากฐานเสียงของน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส. สงขลาที่กล่าวกันว่า มีส่วนได้เสียกับวิจิตรภัณฑ์ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่จะดูแลเรื่องภาษีในอาฟต้าโดยตรงและ ไตรรงค์ ก็มีเลขานุการรัฐมนตรีชื่อ พิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล
ส.ส. ที่ได้ชื่อว่า มีส่วนกับปาล์มอีกคนก็คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นรมช. เกษตร และมีเลขาฯ รมต. ชื่ออัญชลี วานิช ขณะที่ส.ส. ในพื้นที่ซึ่งปลูกปาล์มมากพอสมควรคือพังงา คือจุรินทร์ ลักษณะวิศิษณ์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น รมช. พาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องอาฟต้า
ความสับสนในเรื่องนโยบายอาเซียน รัฐบาลชวนต้องพิสูจน์ว่าทางสองแพร่งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกเดินทางไหน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|