|
ทิสโก้ไปฮ่องกง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
เดือนพฤศจิกายน คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ เดินทางเงียบ ๆ เข้าเกาะฮ่องกง ไปยังชั้น 31 อาคารแปซิฟิกเพลส เพื่อเปิดบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทิสโก้ขึ้นที่นั่น
นั่นเป็นการออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกของธุรกิจค้าหลักทรัพย์ไทย โดยมีทิสโก้เป็นผู้บุกเบิก เหมือนเมื่อสมัยเกือบ 20 ปี ก่อนที่ทิสโก้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเงินทุนวาณิชธนกิจขึ้นเป็นรายแรกของเมืองไทย
บริษัททิสโต้ ซีเคียวริตี้ (ฮ่องกง) เป็นบริษัทเครือข่ายของทิสโก้ที่กรุงเทพ ซึ่งถือหุ้น 100% บริษัทแห่งนี้ เกิดจากบริษัททิสโก้ที่กรุงเทพ เข้าซื้อกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ฮ่องกง จากบริษัท บี.ที. โบรคเกอร์เรจแอนด์ซิเคียวริตี้ บริษัทเครือของแบงก์เกอร์ทรัสต์นิวยอร์ค เป็นจำนวนเงินประมาณ 5 ล้านดอลล่าร์ฮ่องกง เมื่อหลายเดือนก่อน
แบงก์เกอร์ทรัสต์เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทุนรายใหญ่ของทิสโก้มานาน เมื่อ 2 ปีก่อน ได้หยุดดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงเพราะขาดทุนมาก จากผลกระทบของเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2533
ห้วงเวลานั้นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์อเมริกันหลายบริษัทที่ฮ่องกง เช่นเมอริลรินซ์ ก็เจอปัญหาขาดทุนมากเช่นกัน และทางเมอริลรินซ์วที่นิวยอร์ค ก็สั่งให้ทางฮ่องกงหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวเหมือนกับของแบงก์เกอร์ทรัสต์
“เราได้ทำเรื่องไปที่แบงก์ชาติว่าสนใจจะซื้อบีที. โบรคเกอร์เรจที่ฮ่องกงมาเกือบปีแล้ว ซึ่งทางแบงก์ชาติก็เห็นชอบด้วย” ปลิว มังกรกนก ผู้บริหารระดับสูงของทิสโก้บอกกับ “ผู้จัดการ”
ตลาดหุ้นฮ่องกงมีเสน่ห์เย้ายวนบริษัทหลักทรัพย์ที่กรุงเทพมานานแล้ว หนึ่ง-ขนาดของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงสูงกว่าตลาดหุ้นที่กรุงเทพถึงประมาณ 3 เท่า และ มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันสูงกว่าที่กรุงเทพด้วย สอง-ค่าธรรมเนียมการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละประเภทมีความยืดหยุ่นตามสภาพการแข่งขันของตลาดสูง มีตั้งแต่ประมาณ 0.3% ไปจนถึง 1.0% และ สาม-ตลาดฮ่องกงเป็นศูนย์รวมการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบันและส่วนบุคคลจากทุกมุมโลกที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนมายังภูมิภาคแห่งนี้
“ที่สำคัญกว่านั้น เมื่อมองไปที่ตลาดจีนผืนแผ่นดินใหญ่ คุณรู้ใช่ไหมว่าตลาดที่มีประชากรนับพันล้านคนแห่งนี้กำลังเป็นตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดของโลกปีละกว่า 10% และ คุณรู้ใช่ไหมว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นของฮ่องกงคือผู้ลงทุนรายใหญ่ของจีนทางภาคใต้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและตลาดหุ้นเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังถึงตรรกะของความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงกับอนาคตของการเติบโตที่เมืองจีน
พวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์ทั่วโลกรู้กันมานานถึงบทบาทของฮ่องกงในฐานะเป็นประตูทางการค้าและการระดมทุนเพื่อการผลิตที่กำลังเติบโตของจีนในปัจจุบันจีนกำลังต้องการทุนจำนวนมหาศาลเพื่อขยายการผลิต แต่จีนก็ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการถูกประเมินด้านความเสี่ยงสูงจากพวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์
“ตลาดหุ้นที่เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นดูน่าสนใจดี แต่เราคิดว่าในเวลานี้คุณลงสินทรัพย์ของคุณที่ ฮ่องกงจะปลอดภัยกว่า” ถ้อยคำเช่นนี้มักจะได้ยินบ่อย ๆ จากพวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์เมื่อเขาถูกนิตยสารด้านการลงทุนในยุโรปถามถึงสถานการณ์ที่เมืองจีน
ตลาดหุ้น เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น แม้ทางการจีนจะอนุญาติให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้น “B” ได้แต่ประมาณอุปทานหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นทั้งสองและระบบการให้บริการ SETTLEMENT ยังไม่สะดวกจึงเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนอยู่มาก
การที่ทิสโก้ไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ฮ่องกงในระยะยาวก็อยู่ภายใต้ตรรกะเดียวกันการเป็นบริษัทหลักทรัพย์หน้าใหม่สำหรับตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างฮ่องกง และเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการออกไปทำธุรกิจที่มีความผันผวนในต่างแดนมันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าทิสโก้จะประสบผลสำเร็จในการตัดสินใจลงทุนที่ฮ่องกง
“ตอนที่เราทำเรื่องขออนุมัติซื้อบีที.ฯต่อแบงก์ชาติก็ประมาณการว่าน่าจะคุ้มทุนภายในไม่เกิน 3 ปี” แหล่งข่าวในทิสโก้บอกกับ “ผู้จัดการ”
ทิสโก้ยอมรับว่า มันไม่ง่ายต่อการทำธุรกิจหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง สิ่งสำคัญคือภายในช่วง 3 ปีแรกทิสโก้ซิเคียวริตี้มองเห็นช่องทาง (NICHE) ที่เป็นโอกาสของตนเองตรงไหน “เราจ้างวิลสัน แลม คนเก่าของบีที.ฯ ฮ่องกงเป็นผู้จัดการทั่วไปและส่งประพันธ์ เอื้อวงศ์ประวิทย์จากทิสโก้กรุงเทพไปเป็นเซลล์ประจำที่นั่น” ปลิว มังกรกนก เล่าให้ฟังถึงคนรุ่นแรกที่จะบุกเบิกธุรกิจให้ทิสโก้ที่ฮ่องกง
ปลิวชี้ให้เห็นถึงรากฐานของเหตุผลสำคัญของการลงทุนเปิดสาขาที่ฮ่องกงว่า ทิสโก้ไม่ต้องการฝากอนาคตการเติบโตอย่างมั่นคงในธุรกิจหลักทรัพย์ไว้กับอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์รายหนึ่งรายใดที่จะส่งผ่านออเดอร์มาให้ที่กรุงเทพ “มันเสี่ยงเกินไป เมื่อวันหนึ่งเขาไม่ผ่านมาให้เรา”
ทิสโก้ซิเคียวริตี้มีใบอนุญาตินายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย มูลค่าถูกตีราคาไว้ประมาณ 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกง “มันผูกติดมาตอนที่ซื้อบีที.ฯ” คนของทิสโก้เล่าให้ฟังถึงโครงสร้างของราคา 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงตอนที่ซื้อบีที.ฯ
เป้าหมายในปีที่ 3 ของทิสโก้ที่ฮ่องกงคือ สามารถเข้าไปทำธุรกิจเสมือนหนึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นที่นั่น คือเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์และทำธุรกิจอันเดอร์ไรเตอร์หลักทรัพย์ที่ออกในฮ่องกง พร้อมทั้งปล่อยสินเชื่อให้กับนักลงทุนเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นช่วง 2 ปีแรก ทิสโก้มองเห็นโอกาสของการเติบโตตลาดหุ้นกรุงเทพ “ความได้เปรียบของเราคือ เราเชื่อว่าตลาดหุ้นที่กรุงเทพน่าจะมีปริมาณการเข้ามาลงทุนซื้อขายแต่ละวันไปได้ดีกว่าที่ฮ่องกงในฐานะที่ทิสโก้เป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นกรุงเทพเครือข่ายของเราที่ฮ่องกงจะเก็บ ลูกค้าที่เป็นพวกผู้จัดการลงทุนที่นั่น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเตอร์เนชั่นแนล โบรคเกอร์อีกต่อไป” คนของทิสโก้พูดถึงกลยุทธ์การเจาะตลาดฮ่องกง ในช่วงโอกาสตลาดหุ้นกรุงเทพกำลังเติบโต
เป้าหมายกลุ่มผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกงของทิสโก้ ส่วนใหญ่จะเน้นจากสหรัฐและยุโรป ตามปกติ พวกผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกง (ส่วนใหญ่จะใช้บริษัทซิเคียวริตี้ของตนที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์) เวลาจะซื้อขายหุ้นที่กรุงเทพ มักกระทำโดยผ่านโบรคเกอร์ ซึ่งจะคิดค่านายหน้าครึ่งหนึ่งจาก โบรคเกอร์ที่กรุงเทพ เช่นแบริ่งสิงคโปร์ซื้อขายหุ้นโดยผ่านศรีมิตรเป็นต้น
เหตุที่ผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกงมักใช้เครือข่ายอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์ของตนที่สิงคโปร์ เข้าซื้อขายหุ้นที่กรุงเทพเพราะว่าไทยกับฮ่องกงมีปัญหาเรื่องการเสียภาษีซ้ำซ้อนกันอยู่
การลงทุนของผู้จัดการลงทุนจะอาศัยข้อมูลและข่าวสารประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือนจากสำนักงานวิจัยประจำกรุงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัทหลักทรัพย์ยุโรป
ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มนักลงทุนจากฮ่องกงทั้งในรูปส่วนบุคคลและสถาบัน เป็นกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกรุงเทพมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักลงทุนจากชาติอื่น นักลงทุน กลุ่มนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ของโบรคเกอร์นวธนกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|