|
ความฝันของซัมซุง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าคุณได้มีโอกาสเดินเข้าไปในครัวของคนเกาหลีที่กระจายกันอยู่ในทุก ๆ ส่วนของโลก คุณ จะเห็นผลิตภัณฑ์ของซัมซุงวางนิ่งอยู่ในนั้น
ปาร์ค ซุง วอน หนุ่มเกาหลีที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมา 2 ปี พร้อมภรรยาและลูกอีก 2 คนต้องอพยพครอบครัวจากเมืองโซลมาอยู่กรุงเทพเพราะเขาได้รับมอบหมายจากบริษัทซันยองให้มาควบคุมงานก่อสร้างโครงการยักษ์โครงการหนึ่งที่เมืองไทย
ห้องพักในอพาร์ตเม้นท์ที่หรูหราพอสมควร ที่ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท เขาอยู่รวมกับครอบครัวอย่างสบาย “เราภูมิใจในความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรา” มิสเตอร์วอนยืนคุยกับ “ผู้จัดการ” ขณะที่ภรรยาของเขากำลังจัดแจงนำอาหารเข้าอบในไมโครเวฟยี่ห้อ “ซัมซุง” และลูกของเขาอีก 2 คนกำลังนั่งดูการ์ตูนอย่างใจจดใจจ่อจากทีวี ซึ่งเป็นยี่ห้อซัมซุง อีกเหมือนกัน
คำพูดของมิสเตอร์วอนทำความเข้าใจได้ง่าย เมื่อได้เห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ในที่พักของเขา เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีเกือบทั้งนั้น ความเป็นชาตินิยมของเขาไม่ต่าง อะไรกับคนญี่ปุ่นเลยแม้แต่นิดเดียว
“ที่เกาหลี คุณจะไม่เห็นรถจากญี่ปุ่นหรือจากที่ไหน ๆ เลยแม้แต่คันเดียวบนท้องถนน” มิสเตอร์วอนพูดกับ “ผู้จัดการ” เขาเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีคนเอารถยี่ห้อดังจากเยอรมันมาขับเล่นปรากฎว่าเจอของแข็งจากคนเลือดร้อนฟาดเข้าที่รถแทบพังยับเยินด้วยความหมั่นไส้และเลือดชาตินิยมรุนแรง
บนถนนทุกสายในเกาหลีเต็มไปด้วยรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ ฮุนได แดวู หรือถ้าเป็นรถโดยสารใหญ่และรถบรรทุก ก็จะเป็นยี่ห้อ KIA และ ASIA ซึ่งทั้งหมดผลิตจากสายการผลิตในเกาหลี โดยบริษัท ของเกาหลี
เช่นกันเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนทุกบ้านทุกช่อง จะเต็มไปด้วยสินค้าจากบริษัทซัมซุง หนึ่งในกลุ่ม “แชโบล” ที่ยิ่งใหญ่
“เราถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องผลิตสินค้าเพื่ออำนวยความสุขให้แก่มนุษย์” โฆษกของ ซัมซุงเล่าให้ฟังถึงปรัชญาข้อหนึ่งในการทำธุรกิจของบริษัท
ซัมซุงเป็นกลุ่มบริษัทที่มีเครือข่ายของธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตไฮเทคโนโลยีหลาย อุตสาหกรรมที่สำคัญ คืออุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์วิศวอุตสาหการ และเคมีภัณฑ์นอกจากนี้ ยังมี เครือข่ายในอุตสาหกรรมบริการการเงินประเภทประกันภัยด้วย
เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มซัมซุงได้รายงานว่า อุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์ทำรายรับสูงที่สุดถึง 22% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยกเว้นการเงิน ซึ่งเป็นตัวทำรายรับหลักของกลุ่มถึง 58%
สิ่งนี้คือเหตุผลที่ซัมซุงต้องการเน้นอุตสาหกรรมอีเล็คทรอนิคส์เป็นหัวใจของกลุ่มเพราะ หนึ่ง - มันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินได้โดยเฉพาะด้านซอฟท์แวร์ สอง – เป็นกระดานหกด้านซอฟท์แวร์ที่จะช่วยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่วงจรยุคอีเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัวในต้นทศวรรษหน้า
สมัยที่สถานการณ์โลกตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น ประเทศเกาหลีซึ่งเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ ในบรรยากาศที่ตึงเครียด ได้เปิดเงื่อนไขในระดับชาติที่บีบรัดให้ซัมซุงต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน ทางทหารเพื่อป้อนให้กระทรวงกลาโหมโดยบังเอิญอย่างรวดเร็วเมื่อปี 2523 “เราเริ่มเปิดสายการผลิต เพื่อประกอบเครื่องยนต์เจ็ตภายใต้การช่วยเหลือทางเทคนิคของบริษัทเยนเนอรรัลอีเล็คทริค (ยีอี) สหรัฐจนเวลานี้ เราสามารถผลิตเครื่องบินเอฟ -16 ภายใต้เทคโนโลยีและการร่วมผลิตชิ้นส่วนของบริษัทเยนเนอรัลไดนามิคแห่งสหรัฐเพื่อป้อนให้กระทรวงกลาโหมเกาหลี” เจ้าหน้าที่ระดับบริหารด้านวิศวกรรมของซัมซุงแอโรสเปสเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
จากปี 2523 ที่เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน จนเมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมด้านนี้ของซัมซุงสามารถทำรายได้จากยอดขายสูงถึง 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนเครื่องยนต์- เจ็ต เพื่อป้อนให้บริษัทจีอีและแพ็ตแอนด์วิทนี่ STIFFENER STRING และ WING RIP เพื่อป้อนให้บริษัทโบอิ้ง
ธุรกิจการบินกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต รายงานจากบริษัทโบอิ้งได้ชี้ให้เห็นว่า สัญญา การผลิตเครื่องบินโดยสารที่บริษัทสายการบินต่าง ๆ สั่งจอง จากยอดเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ภายใต้กำลังผลิตปัจจุบันทางโบอิ้งจะต้องใช้เวลาผลิตถึง 10 ปี จึงจะสามารถป้อนให้ได้ครบ
ในขณะเดียวกันทางกระทรวงกลาโหมเกาหลีเอง ก็ได้สร้างโครงการสร้างเขี้ยวเล็บการสู้รบ ทางอากาศขึ้น
โอกาสทางตลาดที่เปิดกว้างขึ้น และการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุด ช่วยให้ซัมซุงได้เปรียบในการแข่งขันอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในฐานะที่มาของรายได้ของกลุ่มเป็นอย่างยิ่งเพราะ หนึ่ง-เทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมการบิน สามารถเป็นตัวนำถ่ายทอดเพื่อการยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภค (รวมถึงยานยนต์) ได้ดีที่สุด สอง-ยกระดับภาพพจน์คุณภาพสินค้าที่ผลิตจากสายการผลิตของซัมซุงในตลาดโลก
ซัมซุงยอมรับว่า ต้นทุนกระบวนการผลิตและตรวจสอบในอุตสาหกรรมการบินสูงมาก วิศวกรในบริษัท ซัมซุงแอโรสเปซบอกกับ “ผู้จัดการ” ว่าในฟังชั่นหนึ่ง ๆ ของกระบวนการผลิต ชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์เจ็ตมีต้นทุนสูงถึงชั่วโมงละ 100 ดอลล่าร์สหรัฐ
แม้จะมีต้นทุนสูง แต่ก็เป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการเดินไปเส้นทางการยกระดับเทคโนโลยี่การผลิตเพื่อแข่งขันกับยักษ์ใหญ่คอนซูมเมอร์อีเล็คทรอนิคของญี่ปุ่น “เราจะสู้กับญี่ปุ่นได้ในทุกสนามของโลกได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า สิ่งนี้ คือเป้าหมายของเรา” ผู้ใหญ่ระดับกรรมการบริหารคนหนึ่งของซัมซุงพูดถึงความฝันของซัมซุงให้ฟัง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|