|
มังกร เกรียงวัฒนา ไฟแนนเซอร์มือหนึ่งค่าย TPI
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
ดีล เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก JAPANESE EXIM BANK ในวงเงิน 8,000 ล้านเยน ดูเหมือนจะ เป็นดีลที่มังกร เกรียงวัฒนา เจ้าหน้าที่บริหารระดับ SEVP ที่ดูแลด้านการเงินของบริษัทอุตสาหกรรม ปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (TPI) ภาคภูมิใจอย่างมากในบรรดาเงินกู้ที่ไฟแนนเซอร์มือหนึ่งรายนี้เคยทำมา
มังกร ใช้เวลาติดต่อดีลนี้ยาวนานถึง 2 ปี กว่าที่จะได้รับอนุมัติ และ TPI เป็นเอกชนรายแรกที่ เอ็กซิมแบงก์ญี่ปุ่นให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน
เขาเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ” ว่า “เงินกู้ก้อนนี้มีความแปลกอยู่ 3 ประการคือระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ยาวนานถึง 17 ปี ทั้งที่โดยทั่วไปจะอยู่ในเกณฑ์ 10-12 ปี เท่านั้น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำคือ 3.28% เป็นอัตราคงที่ตอนที่ผมเริ่มเจรจาอัตราในท้องตลาดตามกฎเกณฑ์ของ OECD ควรจะอยู่ 6.7% เราก็ได้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และประการสุดท้ายเป็นสิ่งที่แปลกแต่คนมักจะมองไม่เห็นคือระยะเวลาปลอดหนี้ 16 ปี ซึ่งปกติการกู้ EXPORT CREIT นี่จะมีระยะเวลาปลอดหนี้แค่ 2-3 ปี ของเรานี่ต้องถือเป็นระยะเวลาปลอดหนี้ที่ยาวนานเป็นพิเศษ”
รายละเอียดในการกู้ดังกล่าวต้องถือเป็นเงื่อนไขที่ “พิเศษ” ชนิดหาผู้กู้รายใดที่จะได้เงื่อนไขที่ดีมาก ๆ อย่างนี้ไม่ได้
“แม้แต่ EGAT ที่ไปเซ็นสัญญาเมื่อครั้งหลังสุดก็ยังไม่ได้ TERM อย่างเราในขณะที่เขาเป็นรัฐวิสาหกิจ” มังกรเล่ากับ “ผู้จัดการ”
เงินกู้ที่คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,600 ล้านบาท ก้อนนี้ TPI ต้องการนำมาใช้ในโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าแบบ CO GENERATION ที่จังหวัดระยองเพื่อผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำป้อนให้โรงงานปูนของบริษัท
มังกรเล่าถึงความเป็นมาของดีลนี้ว่า “ดีลนี้ต้องยกความดีความชอบให้คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ด้วย ตอนนั้นเราใช้เวลานานหลายปีในการสืบหาแหล่งเงินกู้ ที่ถูกอย่างนี้หลายประเทศทีเดียว จนเราไปเจอที่ออสเตรีย ซึ่งให้ระยะเวลาเงินกู้นานกว่าญี่ปุ่นคือ 22 ปีครึ่ง ซึ่ง TPI ก็กู้ไปแล้ว ในการสร้างโรงปูนโรงแรก ตอนนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นไม่กล้าให้เนื่องจากกลัวโดนโจมตรีเพราะเขามีการเกินดุลจากการส่งสินค้า”
การให้เงินกู้ระยะต่ำถือเป็นการสนับสนุนการส่งออกโดยทางอ้อม เอ็กซิมแบงก์จะมีเงินกู้ที่เรียกว่า EXPORT CREDIT โดยจะมีการเจรจากันระหว่างประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น สหรัฐ เยอรมัน อังกฤษ เพื่อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำหรับโครงการสินเชื่อภายใต้ EXPORT CREDIT ว่า ควรเป็นเท่าไหร่ มีเงื่อนไขอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้มีการแข่งขันด้านนี้มากเกินไป
ในกรณีที่เป็นซอฟท์โลน หรือ GRANT มักจะให้กับรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจแต่สำหรับ TPI ถือเป็นกรณีพิเศษ
มังกรให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุผลที่เอ็กซิมแบงก์ญี่ปุ่นให้เงินกู้แก่ TPI ว่า “ผมคิดว่ามันมีเหตุผล อยู่ 3 ข้อ คือโรงไฟฟ้าที่เราทำเป็นการสนองนโยบายรัฐ ข้อสองผลตอบแทนของโครงการประเภทนี้โดยทั่วไปจะต่ำกว่าผลตอบแทนของโครงการพาณิชย์อื่น ๆ และสุดท้าย TPI เคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากออส-เตรีย ผมก็เอาเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ ให้ทางญี่ปุ่นช่วยพิจารณาให้เราหน่อย”
การที่ TPI เคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากออสเตรีย เป็นจุดที่เป็นช่องว่างในเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ มังกรอธิบายว่า “ผมใช้วิธี MATCHING คือญี่ปุ่นกลัว การถูกโจมตีจากประเทศคู่ค้าอื่น เขาก็สามารถอาศัยช่องว่างที่เราเคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก ออสเตรียมาเป็นข้ออ้างได้ว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มให้ คือไม่ได้ริเริ่มการตัดราคา เพียงแต่เขาเป็นผู้เสนอตาม ซึ่งการ MAT CHINGนี้ผมคิดว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจให้เงินกู้แก่เรา”
มังกรดูแลด้านการเงินให้กับกลุ่มทีพีไอมานานนับสิบปี ตัวบริษัท ทีพีไอ นั้นเริ่มกู้เงินครั้งแรก ก็กู้มาจากต่างประเทศ นับจนถึงปัจจุบันทีพีไอเป็นผู้กู้เอกชนรายใหญ่ที่สุดในโลกของ GERMAN EXIM BANK โดยกู้ติดต่อกันมาในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ หลายรายการคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท ราย-การเงินกู้เหล่านี้ล้วนเป็น EXPORT CREDIT ทั้งสิ้น ไม่ใช่ซอฟท์โลน
มังกรมีประสบการณ์กู้เงินต่างประเทศให้กลุ่มทีพีไอมาอย่างโชกโชน เขามองว่าปัจจุบันนี้การไปติดต่อกู้เงินระยะยาว โดยทั่วไปยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เขาให้เหตุผลว่า “เงินกู้ต่างประเทศกว่าครึ่งที่ภาคเอกชนไทยกู้มานั้น มาจากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น เมื่อธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นหดตัว มันก็ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น”
ทีพีไอ มีนโยบายในการกู้เงินว่า เงินกู้ระยะยาวจะกู้จากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนเงินทุนระยะยาวส่วนเงินกู้ระยะสั้นนั้นจะกู้จากภายในประเทศ เพราะธนาคารต่างประเทศส่วนมากจะอ่อนไหวกว่าธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ
การกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาก็เพื่อลดต้นทุนเพราะดอกเบี้ยต่างประเทศถูกกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการกระจายแหล่งเงินกู้ออกไปให้ทั่ว ๆ ไม่กระจุกอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เช่นปัจจุบันมีกฎ BIS เข้ามา ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะมีปัญหามาก BIS กำหนดอัตราสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 8% ขณะที่ตลาดหุ้นในโตเกียวตกมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นมีปัญหามาก ในการรักษาระดับสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุน ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นก็จะลดสินทรัพย์ลง ผู้กู้จากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นก็พลอยได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย
สำหรับทีพีไอนั้นไม่มีปัญหาเหล่านี้ TPI มีวิธีหาเงินหลายรูปแบบทั้งในตลาดเงินกู้ซึ่งมีทั้งส่วนธนาคารพาณิชย์และ EXIM BANK ตลาดทุน ซึ่ง TPI เป็นลูกค้าที่คุ้นหน้าคุ้นตาของแบงเกอร์ในยุโรป โดยเฉพาะที่สวิสและตลาดลูกผสมระหว่าง DEBT กับ CAPITAL
TPI ก้าวเข้าสู่ตลาดเงินกู้ต่างประเทศในส่วนที่เป็นตลาดทุนครั้งแรกเมื่อปี 2533 ด้วยการออกพันธบัตรอายุ 7 ปี ในประเทศสวิส มูลค่า 50 ล้านสวิสฟรังก์ และมีการจดทะเบียนซื้อขายที่ตลาดหุ้น ซูริคด้วย
ต่อมาในปี 2534 ก็มีการออก EXCHANGEABLE BOND มูลค่า 25 ล้านสวิสฟรังก์ การออก BOND ครั้งนี้มังกรอ้างว่า “ชื่อของเรา (TPI) เป็นที่รู้จักของสถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศสวิส ฉะนั้นเราก็ต้องรักษาชื่อของเราเอาไว้”
“TPI เป็นเอกชนไทยรายแรกที่ไปออกพันธบัตรในต่างประเทศ คือสวิสได้สำเร็จ มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ไม่ง่ายแต่ก็ใช้เวลาไม่นานเท่ากับโรงปั่นไฟ”
มังกรเล่าว่าเขาไม่ได้ใช้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเลย “ในการไปสวิสนั้นผมได้คุยกับธนาคารในสวิส คือธนาคารที่เป็นสปอนเซอร์พาเราเข้าไปคือ DG BANK SWITZERLAND เป็นธนาคารเกษตรและสหกรณ์ในเยอรมนีและมีสาขาที่สวิสด้วย เราก็ใช้สาขาที่สวิสเป็นสปอนเซอร์”
จริง ๆ แล้ว TPI เข้าไปในตลาดสวิสนานแล้ว โดยเข้าไปในส่วนของตลาดเงินกู้ เพิ่งจะมาเมื่อปี 2533 ที่เริ่มเข้าไปในตลาดทุน ส่วนที่เยอรมนีก็ต้องถือว่า TPI เป็นลูกค้าเก่าแก่ทีเดียว
มังกรเปิดเผยด้วยว่า “ธนาคารพาณิชย์ในโลกที่เป็นของเอกชนที่ได้ TRIPPLE A จากทั้ง 2 สถาบันคือ STANDARE & POOR และ MOODY เหลืออยู่ 3 แบงก์ เป็นแบงก์ยุโรปทั้งหมด และทั้ง 3 แห่งนี้ก็ปล่อยกู้ให้กับ TPI ซึ่ง แสดงว่าเครดิตเราดี”
อย่างไรก็ดี แม้ว่า TPI จะมีสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่มังกรก็ถือว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ยังเป็นแหล่งเงินที่สำคัญการกู้เงินจากต่างประเทศก็ยังต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์ในประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน โดยเฉพาะรายการกู้เงินระยะยาวที่ธนาคารพาณิชย์ผู้ค้ำประกันต้องคิดนานหน่อย
แหล่งระดมเงินอีกด้านหนึ่ง คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่ม TPI มีบริษัท TPI Polene เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย ซึ่งตอนที่นำเข้าจดทะเบียนนั้นก็มีการนำหุ้นส่วนหนึ่งไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยมีโนมูระของญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการจำหน่ายในต่างประเทศ
TPI Polene กำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนอีก 48.33 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 60 บาท เป็นเงิน 2,900 ล้านบาท และจะมีการกู้เข้ามาอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อที่จะนำมาขยายโรงปูนโรงที่ 2 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท
ในส่วนเงิน 4,000 ล้านบาทนี้จะมาจาก GERMAN EXIM BANK 3,000 ล้านบาทที่เหลือกู้จากธนาคารในประเทศ
มังกรเปิดเผยไว้ว่า “อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของ TPI Polene ประมาณ 1:1 มีวงเงินกู้ทั้งหมดประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ตัวบริษัท TPI จะเยอะกว่ามีหลายหมื่นล้านบาท”
มือกระบี่การเงินของ TPI คนนี้มีหลักการที่ยึดถือไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้คือการทำด้วยความตรงไปตรงมา “เราไม่มีการตกแต่งตัวเลขให้ดูสวยเกินกว่าความเป็นจริงสมัยก่อน ผมจะทำอะไรที่มีโครงสร้างแปลกออกไปนี่ผมต้องคุยกับแบงก์ชาติก่อนเสมอ ผมมีการขออนุญาตพิเศษ ๆ เยอะ เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้น
การขออนุญาตพิเศษ ๆ ที่ว่านั้น ได้แก่ การขอจดทะเบียนตั้งบริษัท ทีพีไอเคย์แมน ที่เกาะเคย์แมน ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทมีพัฒนาการด้านการเงินที่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างดังกล่าว หรืออย่างการออก BOND ในสวิส เป็นต้น
“มีธนาคารบางแห่งในต่างประเทศบอกให้เราไปจดทะเบียนที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์เพื่อทำซิกแซก แต่เราไม่เอา เราอุตส่าห์สร้างชื่อเสียงไว้กับแบงก์ชาติแล้ว เรื่องซิกแซกอย่างนี้ เราไม่ทำ กับแบงก์ต่างประเทศก็เหมือกัน หากเขาจับได้นี่มันไม่มีผลดีหรอก”
นักการเงินผู้คร่ำหวอดในการจัดหาและบริหารเงินกู้ต่างประเทศของกลุ่ม TPI ให้ความเห็น ทิ้งท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|