|
“ไทยคม” ไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)
กลับสู่หน้าหลัก
“ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในขึ้นของการ Co-Ordination กับประเทศที่ยื่นขอประสานงานมา “เศรษฐ-พร คูศรีพิทักษ์ รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หนึ่งในคณะตัวแทนของไทยพูดถึงความคืบหน้าของ “ไทยคม”
การ Co-Ordination นี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 ของข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) ที่กำหนดถึงขั้นตอนของการที่แต่ละประเทศจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง โดยมีคณะกรรมการการจดทะเบียนความถี่วิทยุระหว่างประเทศ (International Frequency Registration Board) เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ
จากขั้นตอนแรกที่ดาวเทียมไทยผ่านไปแล้วก็คือ การจองตำแหน่งวงโคจร การส่งสเปค และขอบข่ายการบริการ (Coverage area) ให้กับ IFRB
อันนำไปสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ IFRB จะแจ้งเรื่องไปยังประเทศสมาชิกรับทราบและต้องทำเรื่องขอประสานงานกลับมา (Co-Ordination) หากประเทศนั้น ๆ ได้รับผลกระทบ เป็นการรักษาสิทธิ การมี ดาวเทียมเป็นของประเทศสมาชิกเองที่จะนำไปสู่การเจรจา ทำความตกลงหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุก ๆ ฝ่าย
ด้วยย่านความถี่ C-Band (คลื่นความถี่รับสัญญาณ 4GhZ, ส่ง 6Ghz) จำนวน 10 ทรานส์พอนเดอร์กับ Ku-Band (คลื่นความถี่รับสัญญาณ 12Ghz, ส่ง 14Ghz) จำนวน 2 ทรานส์พอนเดอร์ ที่ดาวเทียมไทยใช้ ณ ตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียม 4 จุด คือ ไทยคมเอ 1 ที่ 101 องศา E, เอ 2 ที่ 78.5 องศา E, เอ 3 และ เอ 4 ที่ 120 องศา E และ 142 องศา E ตามลำดับ
ประกอบกับขอบข่ายการสื่อสาร (Coverage area) ที่ครอบคลุมประเทศไทยและทุกประเทศแถบอินโดจีน ทิศเหนือถึงปักกิ่ง โตเกียว โซล และตลอดแนวแปซิฟิก ทิศใต้ถึงสิงคโปร์ และทิศตะวันตก กินเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า
ทำให้มีประเทศสมาชิกแจ้งเรื่องมายัง IFRB เพื่อขอประสานงานกับประเทศไทยแค่เฉพาะตำแหน่งเอ 1 และเอ 2 ถึง 8 ประเทศ !
ไทยคมเอ 1 นั้นจะมี 8 ระบบ จาก 7 ประเทศ ได้แก่ปาปัวนิวกินี ฮ่องกง จีน รัสเซีย ตองกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และอินเทลแซท (องค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ)
ส่วนเอ 2 มี 7 ระบบ จาก 6 ประเทศคือ อเมริกา อินโดนีเซีย รัสเซีย จีน อินเดีย ฮ่องกง และ อินเทลแซท
ดังนั้น ตลอดต้นปีที่ผ่านมา คณะตัวแทนของไทยอันประกอบด้วยชินวัตร แซทเทลไลท์ กับกรมไปรษณียโทรเลขในฐานะตัวแทนของรัฐบาลจึงต้องเดินทางไปยังประเทศสมาชิกที่แจ้งมาเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและร่วมกันหาทางออก
เศรษฐพรได้เล่าให้ฟังถึงเนื้อหาของการประสานงานกับประเทศสมาชิกต่าง ๆ ให้ฟังว่าปาปัว-นิวกินีเป็นประเทศแรกที่แจ้งขอประสานงานแต่ปรากฎว่าเมื่อกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในอีก 1 เดือนต่อมา ได้ข้อยุติว่าไม่มีผลกระทบใด ๆ จึงไม่มีปัญหา !
ฮ่องกง มีปัญหากับดวงที่ 1 และ 2 เนื่องจากวงโคจรใกล้เคียงกันและตรงกันคือ 105.5 องศา กับ 78.5 องศา ซึ่งทางเอเซียแซทเสนอให้ไทยเป็นฝ่ายย้ายตำแหน่ง แต่ไทยไม่ยอมรับในข้อเสนอ จึงยังตกลงกันไม่ได้ !
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งก่อนหน้านี้เคยส่งตัวแทนมาประสานงานกับประเทศไทยครั้งหนึ่ง จากข้อมูลพบว่าญี่ปุ่นไม่มีปัญหากับดวงที่ 1 และดวงที่ 2 แต่มีปัญหากับดวงที่ 3 คือมีแผนจะยิงดาวเทียมที่ตำแหน่ง 120 องศา E ตรงกัน ทางญี่ปุ่นเสนอให้ไทยย้ายดวงที่ 3 ออกไป 1 องศา ซึ่งยังไม่สามารถยอมรับกันได้ จึงพักเรื่องไว้ก่อน !!
รัสเซีย กับดาวเทียมอินเทลแซท ของสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการกำหนดแผนการประสานงานเนื่องจากต้องรอการติดต่อกลับมาเพื่อนัดช่วงเวลา
ส่วนอินโดนีเซียนั้นกำหนดประสานงานกันเดือนพฤศจิกายน
และการเดินทางประสานงานครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน กับประเทศจีน และญี่ปุ่นที่จีนนั้น ปรากฎว่ามีเพียงตำแหน่งวงโคจรเอ 2 เท่านั้นที่ไม่มีปัญหา ในขณะที่เอ 1, 3 และ 4 ตำแหน่งจะอยู่ใกล้กันมากกับตำแหน่งดาวเทียมของจีน !!
แต่ผลการประสานงานครั้งนี้ ดูจะสร้างความพอใจให้กับคณะตัวแทนไทยมากที่สุด เพราะการเจรจาคืบไปถึงขั้นทำข้อตกลงเรื่องระดับของการรบกวนของระดับอัตราการรบกวนของสัญญาณ (C/I) ว่าระดับของการรบกวนนั้นจะแล้วแต่ประเภทของบริการ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
และสูตรการคำนวณหาระดับการรบกวนก็ตกลงกันว่าจะใช้สูตรตามที่ ITU กำหนด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะใช้เป็นเสมือนบรรทัดฐานในการประสานงานความถี่ครั้งต่อไป
ส่วนญี่ปุ่น ปัญหายังคงติดอยู่ที่ตำแหน่งเอ 3 เหมือนเดิม และไม่มีประเด็นอะไรคืบหน้า ใหม่ ๆ ซึ่งกรณีของญี่ปุ่นนี้เศรษฐพรให้ความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องรีบร้อนสำหรับตอนนี้เพราะเอ 3 ยังไม่มีกำหนดยิง!
จากการCo-Ordination เศรษฐพรได้แยกลักษณะของผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศสมาชิกต่าง ๆ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็นคือ ประการแรกเป็นเรื่องของตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่อยู่ใกล้กัน หรือตำแหน่งตรงกันพอดี ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วการวางตำแหน่งดาวเทียมนั้นแต่ละดวงจะต้องห่างกัน 2 องศา ประการที่สองมีขอบข่ายการบริการที่ตรงกัน
ซึ่งทำให้เกิดผลตามมาก็คือสัญญาณของดาวเทียมจะรบกวนกัน
แต่อย่างไรก็ดี จุดนี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ เจ้าหน้าที่เทคนิคฝ่ายดาวเทียมของการสื่อสารแห่งประเทศไทยชี้แจงว่า ความใกล้เคียงของตำแหน่งวงโคจร และขอบข่ายการสื่อสารที่ตรงกันจะไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกันแต่อย่างใด หากว่าคลื่นความถี่ที่ใช้เป็นคนละความถี่ หรือหากเป็นความถี่ที่อยู่ใกล้กันในระดับที่ยอมรับกันได้
กล่าวคือ ดาวเทียมที่อยู่ใกล้กัน ดวงแรกใช้คลื่นความถี่ในการรับสัญญาณที่4Ghz และส่งสัญญาณที่ 6Ghz แต่ดวงที่ 2 ซี่งอยู่ใกล้กันน้อยกว่า 2 องศาการรบกวนจะมีโอกาสเกิดน้อยมากจนถึงไม่มีโอกาสเกิดเลย หากดาวเทียมดวงที่ 2 ใช้ความถี่ในการรับสัญญาณโดยการคำนวณให้คลื่นความถี่ห่างออกไป เช่นเป็นความถี่รับสัญญาณที่ 4.09Ghz และส่งสัญญาณที่ 6.10Ghz
หรืออาจใช้ความถี่คนละคลื่นไปเลย เช่น ดาวเทียมดวงแรกใช้คลื่น C-Band (ซึ่งมีคลื่นอยู่ระหว่าง 4-8 Ghz) ดวงที่ 2 ก็อาจเลี่ยงไปใช้คลื่น Ku-Band ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สูงขึ้นไปอีก (คือ8-12Ghz) ก็สามารถทำได้
ซึ่งการปรับเปลี่ยนคลื่นสัญญาณความถี่ในการรับส่งนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านการประสานงานมาแล้วกับหลายประเทศ เศรษฐพรเห็นว่า เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับการตกลงกันถึงผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายมากกว่า ! เพราะมันกลายเป็นเรื่องของธุรกิจระหว่างประเทศไปแล้ว !!
ซึ่งการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศที่ว่านี้ หนึ่งในคณะผู้แทนไทยให้ความเห็นว่าโดยรวมแล้ว ไม่มีอะไรน่าหนักใจส่วนที่ยากและเป็นปัญหาที่สุดเศรษฐพรเห็นว่าน่าจะเป็นกรณีของดาวเทียมเอเซีย-แสทของฮ่องกง
เพราะจากการประสานงาน 2 ครั้งที่ผ่านมา เอเซียแสทยืนกรานข้อเสนอเดียวว่าให้ไทยเป็นฝ่ายย้ายตำแหน่งวงโคจรออกไปทั้ง เอ1 และ2!!
ความไม่ยินดีที่จะเจรจากันในประเด็นทางเทคนิคนั้นเศรษฐพรให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นเพราะส่วนแบ่งของตลาดดาวเทียม
เนื่องจากตลาดใหญ่ ในปัจจุบันอยู่แถบประเทศไทย อินโดจีน พม่า เอเซียแสทก็คงอยากได้ตลาดนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หากว่ามีเหตุผลเพียงเท่านี้ ก็น่าดูจะ “เบา” ไปสำหรับการเกี่ยงงอนของเอเซียแสท เพราะพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดดาวเทียมตรงนี้ มันขึ้นอยู่กับฝีมือและชั้นเชิงในการต่อรองของใครจะเหนือกว่าใครมากกว่า
ซึ่งเอซีแสทเองก็มีโอกาส ณ จุดนี้เท่า ๆ กับไทย อเมริกา จีน ญี่ปุ่น หรือใคร ๆ “ผมเคยถามไปทาง IFRB ว่ามีไหมกรณีที่ยังตกลงกันไม่เสร็จแล้วยิงขึ้นไป เขาก็ตอบมาว่ามีเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ใครยิงก่อนประเทศนั้นก็ได้เปรียบ ใครยิงทีหลังก็ต้องไปปรับเปลี่ยนเรื่องสัญญาณความถี่เอาเอง ซึ่งไทยคมมีกำหนดยิงก่อนทางเอเซียแซท”
อย่างไรก็ตาม คณะตัวแทนของไทยยังคงเห็นคล้อยตามกับหลักการของไอทียู ดังนั้นการ Co-Ordination กับเอเซียแซทในครั้งต่อไป
หัวข้อการเจรจาจะพยายามพูดถึงข้อตกลงด้านเทคนิคที่จะนำมาใช้และป้องกันปัญหาคลื่นรบกวนกัน เพื่อแก้ปัญหาในจุดที่เป็นอยู่ที่เศรษฐพรให้ความเห็นต่อไปอีกว่าหากยังไม่มีอะไรดีขึ้น อีกก็คงต้องไปเจรจากับประเทศอื่น ๆ ที่เหลือ คือ อินเดีย ญี่ปุ่น และตองกาด้วยตามวิธีที่ว่านี้จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ “ไทยคม” ของไทยได้เปรียบเอเซียแซท เพราะเหลือประเทศที่ต้องประสานงานด้วยน้อยกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|