เอซีนีลสันพลิกสู้เรดิโอรีเสิร์ชโดดชิงเค้กวิจัยเรตติ้งสื่อวิทยุ


ผู้จัดการรายวัน(7 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

วงการวิจัยเรตติ้งวิทยุเดือด เอซีนีลสันรุกเต็มตัว หลังจากที่ทำมาแต่สำรวจแค่ปีละ 2 ครั้ง ไม่ทันสถานการณ์แข่งเดือดของวิทยุ หวังปะทะกับค่ายเก่าอย่างบริษัทเรดิโอรีเสิร์ชที่ยึดตลาดมานาน เผยงานนี้วงการวิทยุสนุกแน่ เพราะต่างต้องปรับปรุงเพื่อช่วงชิงเรตติ้งทั้งสองค่ายให้ได้ ด้านคลิคระบุต้องปรับระบบพร้อมดึงอีเอสพีจากออสซี่เข้ามาปรับระบบงาน

แหล่งข่าวจากวงการวิทยุ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ขณะนี้ทางบริษัท เอซีนีลสัน ได้รุกสู่การทำสำรวจวิจัยเรตติ้งสื่อวิทยุอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการเติบโตของสื่อธุรกิจวิทยุในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในการทำสำรวจวิจัยเรตติ้งวิทยุในเมืองไทยจะมีเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้นที่ทำตลาดคือ บริษัท อาร์แอนด์อาร์ หรือเรดิโอ รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว และมีการสำรวจวิจัยออกมาอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ย 1-2 เดือนต่อครั้ง โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า แทบสแกน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในท้องตลาดมานานและข้อมูลน่าเชื่อถือ บรรดาเอเจนซี่ต่างนำผลสำรวจนี้ไปใช้ในการวางแผนจัดการด้านการซื้อสื่อให้กับเจ้าของสินค้าต่างๆ

ขณะที่ทางเอซีนีลสันนั้นก็ทำอยู่แล้วเหมือนกัน แต่ว่าจะมีความถี่น้อยกว่าคือ จะสำรวจเรตติ้งเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้นหรือประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง ทำให้ข้อมูลที่ออกมานั้นแม้ว่าจะถูกต้องแต่ก็ล้าสมัยไม่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนหรือกลยุทธ์สำหรับเจ้าของสินค้าหรือคลื่นวิทยุเองได้เต็มที่เมื่อเทียบกับผลวิจัยเรตติ้งของบริษัทอาร์เอสอาร์

เนื่องจากว่าธุรกิจสื่อวิทยุมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานในการบริหารคลื่นจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งอายุสัญญานั้นสั้นมากโดยเฉลี่ย 1-2 ปีเท่านั้นในแต่ละคลื่น ทำให้ข้อมูลต่างๆต้องมีความทันสมัย สมบูรณ์ และทันต่อสถานการณ์ให้มากที่สุด เพื่อที่บรรดา

สำหรับการเข้าสู่ตลาดวิจัยเรตติ้งอย่างเต็มตัวครั้งนี้ เอซีนีลสันเพิ่งเผยผลการสำรวจเรตติ้งครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเอซีนีลสัน ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดจำนวน 1,200 ราย ที่เป็นฐานข้อมูลในการสำรวจ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไป

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เมื่อมี 2 บริษัทที่เข้ามาทำเรตติ้งวิทยุอย่างจริงจัง จะยิ่งทำให้ธุรกิจวิทยุเองแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นอีก ทั้งจากผู้ประกอบการและผู้ทำเรตติ้งเอง เพราะจะมีการเทียบข้อมูลจาก 2 องค์กรที่วิจัยเรตติ้งออกมา ซึ่งบางครั้งอาจจะตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ เนื่องจากว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นคนละคนกัน ตรงนี้เองที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงรูปแบบรายการให้ดีที่สุดเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่งให้ได้

กรณีการเผยผลสำรวจครั้งแรกของเอซีนีลสันพบว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คลื่นยอดนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ อันดับที่หนึ่ง คลื่น 93 อันดับที่สองคลื่น 95 อันดับที่สามคือคลื่น 95.5 ส่วนผลเรตติ้งของทางค่ายเรดิโอ รีเสิร์ช เผยว่า อันดับที่หนึ่งคือคลื่น 93 อันดับที่สองคือคลื่น 95.5 อันดับที่สามคือคลื่น 106

“ทุกวันนี้สถานการณ์การแข่งขันของสื่อวิทยุต่างจากในอดีตอย่างมาก การที่มีบริษัทวิจัยเรตติ้งถึง 2 แห่งเข้ามาทำตลาดตรงนี้ ย่อมเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ เพราะว่า เมื่อมีการทำวิจัยเรตติ้งมาแล้วบางครั้งเรตติ้งไม่เหมือนกัน ก็ย่อมจะทำให้แต่ละคลื่นสามารถนำไปเคลมได้เพื่อการขายโฆษณา ซึ่งตรงนี้จะแข่งขันกันหนักเพราะต่างก็มีข้ออ้างจากเรตติ้งที่ได้มา” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดค่ายบริษัทคลิค เรดิโอ จำกัด และบริษัท วีอาร์วัน เรดิโอ จำกัด ได้ดึงกลุ่มบริษัท เอนเตอร์เทนเม้นท์ สตราติจี้ โปรแกรมมิ่ง จำกัด จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อว่าจ้างให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัย เก็บข้อมูล และการพัฒนาระบบงานทางด้านสื่อวิทยุ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ทางด้านที่ปรึกษาทางด้านการผลิต วิจัยการตลาดของธุรกิจวิทยุโดยเฉพาะ

ทั้งนี้มีสัญญาว่าจ้างนาน 3 ปี โดยจะจ่ายเป็นค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้และนอกจากนั้นก็จะจ่ายเพิ่มขึ้นอีกต่างหากประมาณ 20% จากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นถ้าหากอีเอสพีสามารถทำรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นอยู่ขณะนี้ และการเข้ามาทำงานกับคลิคฯในครั้งนี้มีข้อผูกมัดด้วยว่าอีเอสพีจะเป็นคู่ค้ากับบริษัทเท่านั้นแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ไม่สามารถรับงานที่ปรึกษาให้กับใครได้อีกในช่วงของสัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมสะท้อนได้ดีถึงการแข่งขันทางด้านการวัดเรตติ้งวิทยุที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีคู่แข่งที่ไม่ใช่เป็นบริษัทวัดเรตติ้งโดยตรงเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย

นางวนิดา วรรณศิริกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิค เรดิโอ จำกัด และบริษัท วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดวิทยุทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากจากอดีต ทุกอย่างเป็นรูปแบบหมดแล้ว เช่นเปิดเพลงโดยระบบคอมพิวเตอร์ การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ถ้าทำแบบเดิมๆโดยอาศัยจากประสบการณ์และความรู้สึกว่าน่าจะเป็นไม่ได้อีกแล้ว เราจึงต้องจ้างที่ปรึกษาเข้ามาเพื่อปรับระบบต่างๆ ตรงนี้จะทำให้เรามีมาตรฐานมากขึ้นเป็นการก้าวกระโดดอย่างหนึ่งของเรา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.