เมื่อคีรีฝ่าขวากหนามในธุรกิจโทรคมนาคม


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

และแล้วมันก็ถึงเวลาหนึ่งที่คีรีเหลือทางเลือกเพียงทางเดียว คือการสู้จนถึงนาทีสุดท้าย เมื่อเขาเห็นว่าการชนะประมูลของชินวัตร ในโครงการดาวเทียมสื่อสารมูลค่าสี่พันล้านบาท เป็นเรื่อง ไม่ยุติธรรม!!!

"เรื่องนี้มันเกินไปหน่อย ถ้าคนที่ประมูลได้ให้ผลประโยชน์สูงสุดและมีคอนเน็คชั่นดีที่สุดชนะ ก็ยังเป็นเรื่อง ที่ยอมรับได้ว่าคนที่ดีที่สุดได้ไป แต่ของผมดีที่สุดแล้วคุณบอกว่าไม่ดี มันก็กระไรอยู่นะ !"

งานนี้คีรีเสนอผลประโยชน์ให้รัฐในรูปตัวเลขเงินประกันรายได้ขั้นต่ำและเปอร์เซนต์รายได้ 8.78% และให้ช่องสัญญาณหรือทรานสปอนเดอร์ฟรีอีก 1 ทรานสปอนเดอร์

"ปฏิกิริยาของเราก็คือ ผมต้องส่งหนังสือขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา และถ้าไม่ได้ผลผมคงต้องส่งหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี" ความรู้สึกเสียใจระคนตกใจปรากฎในของคีรีทันทีที่รับทราบผลการตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งมีอดีตปลัดศรีภูมิ ศุขเนตร เป็นประธาน และมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เซ็นทิ้งทวนก่อนจะมีการยุบรัฐบาลชาติชาย

ทัศนคติของคีรีที่มีมาตลอดชีวิตได้บอกให้เขาตอบโต้อย่างหนัก ซึ่งอาจจะเสี่ยงตรงที่ว่า จะทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก แต่ประสบการณ์ได้สอนเขาไว้ว่า สิ่งที่แย่ที่สุดในการทำการค้าก็คือ ความรู้สึกหมดหวังที่จะจัดการ นั่นยิ่งจะทำให้ศัตรูได้กลิ่นคาวเลือดและรุมทึ้งเอาได้ หรือไม่ก็เหยียบข้ามหัวกันไปง่าย ๆ

การก้าวเข้ามาในยุทธจักรโทรคมนาคมของคีรี มีเหตุผลเชิงธุรกิจที่คีรีมองเห็นอนาคตของการ สื่อสารในประเทศไทยกำลังก้าวกระโดด โอกาสนี้มีไม่มากนักและสามารถทำประโยชน์ให้กับการแตกตัวกิจการของบริษัท

ก้าวแรกของคีรีที่หยั่งขาเข้าในธุรกิจนี้ ก็คือบริษัท สยามบรอดแคสติ้ง แอนด์คอมมิวนิเคชั่น หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เอสบีซี" ได้รับสัมปทานเคเบิลทีวีเป็นเวลา 20 ปี โดยจะให้ผลประโยชน์ตลอดสัญญา 175 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 6.5% ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย รวมทั้งมอบหุ้นให้ อ.ส.ม.ท. ไม่น้อยกว่า 7% ในขณะที่บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดแคสติ้ง แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (ไอบีซี) ของกลุ่มชินวัตรให้หุ้น อ.ส.ม.ท. เพียง 5%

เครือข่ายธุรกิจนี้ในฮ่องกงของคีรี ได้รับการจัดหาโปรแกรมบันเทิง สารคดีและกีฬาจากบริษัทเอ็มอีไอ ซึ่งเป็นบริษัทที่คีรีร่วมหุ้นด้วย และเพิ่งตั้งขึ้นในปีที่แล้ว เพื่อขอสัมปทานคอมเมอร์เชียล เรดิโอที่ฮ่องกงแข่งกับฮัทชิสัน คีรีเคยมีความคิดความสนใจที่จะเข้าไปร่วมในบริษัท เอทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของฮ่องกง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เข้าไป

"เงินลงทุนทั้งหมดสำหรับโครงการเคเบิลทีวีนี้ประมาณ 300 ล้านบาท มันสำคัญอยู่ที่ซอฟท์แวร์" คีรีเล่าให้ฟัง

แม้ว่าคีรีจะเป็นฝ่ายรุกไล่หลังกลุ่มของชินวัตรในโครงการเคเบิลทีวีได้สำเร็จเป็นรายที่สอง ทั้งคู่ก็ต้องมาเผชิญหน้ากันอีก เมื่อโอกาสทองเปิดขึ้นในงานประมูลสัมปทานดาวเทียมสี่พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่สำหรับคีรีถ้าหากเขาชนะ เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจอันต่อเนื่องจากดาวเทียมจะเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจโทรคมนาคมอื่น ๆ อีกมากมายเช่นโครงการเคเบิลทีวี เป็นต้น

ศึกครั้งนี้คีรีในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท วาเคไทย (ไทยแลนด์) ที่เสนอตัวเข้าชิงด้วยต้องคิดหนัก !!!

หลังจากวงเงินค้ำประกันโครงการนี้ 100 ล้าน การเตรียมการสำหรับโครงการนี้คีรีต้องจ่ายเงินไปไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นับว่าเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยไม่รู้ว่าผลจะออกมาว่าจะได้หรือไม่?

ในที่สุดผลของการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ก็ประกาศออกมาว่าชินวัตรชนะการประมูล ด้วยการเสนอผลประโยชน์สูงสุดในรูปของตัวเงิน 222 ล้านบาท

แต่เกมยังไม่จบ เพราะงานนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรี คีรียังต้องสู้อีกต่อไป

"ผมให้ผลประโยชน์มากที่สุดต่อประเทศ ทุกคนก็เห็น ผมจะสู้จนนาทีสุดท้าย แต่ถ้าเขาบอกว่าอันนี้ไม่ใช่...ผมก็คิดว่า I DO THE BEST ผมได้ทำดีที่สุดแล้ว จะประท้วงใครได้อีกล่ะ?!"

คีรีกล่าวอย่างคนยังไม่แพ้ เขายังคงวางแผนที่จะก้าวต่อไปในธุรกิจโทรคมนาคมอันมี ศักยภาพยิ่งใหญ่นี้อีก และเป้าหมายหลายสิ่ง หลายอย่างท้าทายรออยู่เบื้องหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.