ซิกมันด์ วอร์เบิร์ก ยิวผู้บุกเบิกธุรกิจการเงินสมัยใหม่

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางดึกคืนหนึ่งในเดือนมีนาคม มีการบุกจับตัวนักหนังสือพิมพ์และนายธนาคารจำนวนมากที่บ้านพักของแต่ละคน และนำตัวบุคคลเหล่านี้ไปคุมขังโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ของคนเหล่านี้

มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คนที่ถูกจับตัวไปนั้นล้วนเป็นผู้นิยมแนวการปกครองแบบสาธารณรัฐในยามที่มีผู้ปกครองชื่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และลัทธินาซีได้แผ่ซ่านไปทั่วเยอรมนี

ท่านบารอน ฟอน นอยราห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเวลานั้นกล่าวกับซิกมันด์ วอร์เบิร์กที่ปรึกษาทางการเงินระหว่างประเทศถึงเหตุการณ์นี้ว่า "มันเป็นราคาค่างวดที่เราจำเป็นต้องจ่ายเพื่อการปฏิวัติประเทศชาติ ผมไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะผมอยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยทางการเมืองด้วยคนหนึ่ง"

คำพูดนี้ทำให้ซิกมันด์ตัดสินใจอพยพครอบครัวออกจากเยอรมนี ถิ่นฐานซึ่ง ตระกูลวอร์เบิร์กปักหลักสร้างธุรกิจการเงินได้มั่นคงแข็งแรงมาเป็นเวลานาน ซิกมันด์มองเห็นอนาคตแห่งความล่มสลายของชาติเยอรมนีอันแข็งแกร่งภายใต้อุ้งมือของฮิตเลอร์ได้ชัดเจนดี เขากล่าวกับแม็กซ์ วอร์เบิร์ก ลุงของเขาซึ่งดูแลแบงก์วอร์เบิร์กที่ฮัมบูรก์ว่า "เยอรมนีกำลังจะล่มสลายภายใน 3 ปี ฮิตเลอร์จะนำทัพเยอรมนีทำสงครามกับอังกฤษ พวกเขาจะฆ่าล้างชาติยิว เราต้องอพยพออกจากเยอรมนี !"

กาลเวลาที่ผ่านไปได้พิสูจน์คำพูดของซิกมันด์ชัดเจน!!

ซิกมันด์ วอร์เบิร์กเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2445 ในครอบครัวนายธนาคารยิวตระกูลเก่าแก่แห่งเบอร์ลิน เขาดำเนินแนวชีวิตเหมือนบรรพบุรุษคือเป็นนักการธนาคารควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่รัฐบาล

เมื่อเกิดกรณีการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์นั้น เขาอพยพออกจากเบอร์ลินมาปักหลักที่ลอนดอน อาศัยเพียงชื่อเสียงของตระกูลเป็นทุนรอนในการสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ด้วยการเปิดบริษัทการเงินเล็ก ๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยหาทางสนับสนุนการเงินแก่ฝ่ายพันธมิตร ขวางทางแหล่งการเงินที่จะจุนเจือแก่เยอรมนี และธนาคารของตระกูล วอร์เบิร์กในเยอรมนีที่ใช้เวลาสร้างมากว่า 2 ทศวรรษก็ถูกฮิตเลอร์ทำลายล้างไม่เหลือชิ้นดี

ซิกมันด์ใช้เวลา 20 ปีในลอนดอนก่อตั้งธนาคารเอส.จี.วอร์เบิร์ก แอนด์ โก ขึ้นใหม่และสร้างให้เป็นธนาคารชั้นนำในซิตี้ออฟลอนดอนเขาคิดค้นเทคนิคการเงินหลัก ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ หรือการใช้สกุลเงินยูโรดอลลาร์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซิกมันด์มองเห็นว่าหลังสงครามสงบ จะมีเงินกู้จากบริษัทต่างชาติไหลทะลักจากอเมริกาผ่านลอนดอนไปที่ประเทศยุโรปอื่น ๆ การพัฒนาทุนนิยมหลังสงครามจะเกิดขึ้นโดยฝีมือของบริษัทข้ามชาติรายใหญ่จำนวนมาก ซิกมันด์มองเห็นช่องทางธุรกิจ ที่น่าสนใจคือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดหาเงินกู้และการให้บริการต่าง ๆของธนาคารพาณิชย์

งานสำคัญชิ้นแรกของซิกมันด์หลังสงครามสงบคือการขายหุ้นส่วนข้างมากของตระกูล KOHN- SPEYER ในบริษัท BRANDEIS-GOLDSCHMIDT ให้แก่ RIO TINTO ซึ่งถือหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ในบริษัทนี้มานานแล้ว ครั้นปีถัดมา RIO TINTO ก็พิสูจน์ตัวเองว่าไม่สามารถบริหารงานในบริษัทฯ ได้ ซิกมันด์จึงทยอยซื้อหุ้นในส่วนของ KOHN-SPEYER คืนกลับมานอกจากนี้ RIO-TINTO ยังขายหุ้น 51% ในส่วนของเหมืองแร่คืนให้ด้วย

งานนี้ซิกมันด์สามารถทำรายได้จากการให้คำปรึกษาและการทำรายการสินเชื่อต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก !

วี่แววความเป็นมืออาชีพของคนวอร์เบิร์กเริ่มสำแดงฝีมือให้คนในวงการเงินเห็นกันชัด ๆ แล้ว !!

ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งให้ประโยชน์ระยะยาวแก่ซิกมันด์คือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายก่อตั้งรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ ในเวลานั้นพรรคแรงงานได้รับเลือกเป็นรัฐบาล การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก ขณะที่ยังไม่มีใครตั้งตัวทันและยังมีการถกเถียงขัดแย้งกันอยู่ ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ ซิกมันด์รวบรวมผู้ถือหุ้นของบริษัท ต่าง ๆ จัดตั้งเป็น "ซินดิเคท" บรรดาเอกชนเจ้าของกิจการทั้งหลายยินยอมให้ซิกมันด์เป็นตัวแทนดำเนินการเจรจากับฝ่ายรัฐบาล เมื่อการรวมกิจการถ่านหิน 800 กว่าแห่งบรรลุผลสำเร็จ ปรากฏว่าซิกมันด์และ เพื่อน ๆ กลายเป็น ผู้ครอบครองสัดส่วนหุ้นข้างมากของกิจการเหล่านี้ก่อนหน้านั้นแล้ว

ซิกมันด์ได้รับผลกำไรจากนโยบายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจอย่างมโหฬารไม่เฉพาะกิจการถ่านหิน แต่ ยังมีกิจการไฟฟ้า เหล็กกล้า ก๊าซ การขนส่งและกิจการเกี่ยวกับเทศบาลนครอีกเป็นจำนวนมาก

รายได้จากการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ถูกนำไปลงทุนซ้ำในการขยายกิจการและการว่าจ้างคนหนุ่มรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาร่วมงานด้วยซิกมันด์ทำการจัดหาเงินกู้ให้บริษัทอุตสาหกรรมขนาดกลางของอังกฤษหลายแห่งซึ่งไม่ได้รับบริการจากธนาคาร นี่เป็นช่องทางนำพาให้เขาทำการจัดหาเงินกู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ผ่านทางโตเกียวและซิดนีย์

ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในระยะก่อร่างสร้างตัวใหม่นอกเยอรมนีของซิกมันด์คือการเจรจาเพื่อซื้อคืนบรรดากิจการของอังกฤษ ที่ถูกขายให้ชาวต่างชาติในช่วงก่อนและระหว่างสงคราม รวมทั้งการดึงเงินทุนทั้งหลายที่เคยนำไปสนับสนุนการสงครามกลับคืนสู่มาตุภูมิอังกฤษ

รายการสำคัญอันหนึ่งคือการนำธนาคารในยุโรปเข้ามาซื้อหุ้น 20% ของอีริคสันจากไอทีทีซึ่งไม่สามารถถือหุ้นนี้ได้เพราะขัดกับกฎหมายอเมริกัน รายการนี้ไม่ง่ายนักเพราะเวลานั้นชื่อของวอร์เบิร์กยังไม่เป็นที่รู้จัก

สตาฟฟ์คนหนึ่งของซิกมันด์เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อยื่นข้อเสนอให้กับแบงก์เดอปารีส เขาถึงกับถูกขอให้สะกดชื่อวอร์เบิร์ก แต่รายการนี้สำเร็จลงได้ในที่สุด แบงก์เดอปารีสซื้อหุ้นอีริคสันไว้ส่วนหนึ่ง ผู้ซื้อรายถัดมาคือดอยช์แบงก์และเครดิตสวิส

ความสำเร็จของซิกมันด์ขั้นต่อมาคือการได้เข้ามาทำธุรกิจการเงินที่นิวยอร์ค โดยผ่านทาง KUHN LOEBK กิจการด้านการเงินเก่าแก่ที่ถูกซื้อโดยกลุ่ม LEHMAN BROTHERS ด้วยราคา 18 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาต่อมา

ซิกมันด์เป็นนายธนาคารยุโรปเพียงคนเดียวที่ได้เข้ามาทำธุรกิจการเงินในนิวยอร์กเขาทำรายการจัดหาเงินกู้จำนวนมาก จนในที่สุดซิกมันด์สามารถผลักดันกิจการ ขึ้นมาเป็นวาณิชธนกิจ เทียบเคียงกับ DILLON READ และ MORGAN STANLEY ทีเดียว

ปัจจุบันกลุ่มเอส.จี.วอร์เบิร์กขยายกิจการการเงินไปยังตลาดสำคัญในโลก ในแถบตะวันออกมีบริษัทเอส.จี.วอร์เบิร์ก (ฟาร์อีสต์) เป็นหัวหอกสำคัญดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ มาเลเซียทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในฮ่องกง และธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในไต้หวัน และเกาหลี

กลุ่มเอส.จี.วอร์เบิร์กมีผลกำไรก่อนหักภาษีและหลังจากที่โอนเข้ากองทุนสำรองในธนาคาร ต่าง ๆ ของกลุ่มเมื่อสิ้นงบประมาณประจำปี 2533 (ณ 31 มีนาคม) จำนวน 187.5 ล้านปอนด์สเตอริง (7,500 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40% ทั้งนี้กิจการที่มีผลกำไรดีเยี่ยมคือวาณิชธนกิจและการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นธุรกิจเกี่ยวกับการเข้าถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ การให้บริการทางการเงิน การจำหน่ายพันธบัตรและการจัดการด้านสินทรัพย์ ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคทางการเงินที่ซิกมันด์บุกเบิกมาในสมัยก่อร่างสร้างตัวที่ลอนดอนทั้งสิ้น

รากฐานความเติบโตของกลุ่มวอร์เบิร์กในปัจจุบันซึ่งบรรดาผู้บริหารไม่ใช่คนในตระกูลวอร์เบิร์กอีกแล้วนั้น เป็นฝีมือของซิกมันด์ วอร์เบิร์กโดยแท้ หากเขาไม่ใช่ผู้มีสายตายาวไกลคาดหมายอนาคตและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจการเมืองต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมากหากไม่มีวันที่เขาตัดใจละทิ้งเบอร์ลิน วันนี้วอร์เบิร์กไม่อาจโดดเด่นขึ้นมาอยู่แถวหน้าของถนนการเงินได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.