"อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเป็นอุตสาหกรรมทารกที่ไม่มีวันโต"

โดย สมบูรณ์ ศิริประชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมเหล็กเส้นอยู่ในภาวะล้นตลาดด้วยซ้ำไป เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ว่าตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวไปเร็วมากในช่วง 4-5 ปี อุตสาหกรรมเหล็กเส้นก็ขยายตัวไม่เพียงพอต่อความต้องการ กำลังการผลิตในประเทศน้อยมากเทียบกับความต้องการใช้

สภาพอุตสาหกรรมนี้เมื่อมีภาวะอุปสงค์มากกว่าอุปทานตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็จะเกิดการแย่งใช้เหล็กเส้น ฉะนั้นผู้ผลิตเหล็กเส้นจะได้ผลประโยชน์จำนวนมากโดยไม่ต้องทำอะไร นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าได้ ECONOMIC RENT เพราะว่ารัฐบาลปกป้องโดยภาษีด้วย

ต้องระวังอย่างหนึ่งว่าอุตสาหกรรมเหล็กเส้นมันเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประมาณปี 2502-2503 ตั้งแต่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ

การคุ้มครองนี้ผ่านจากกำแพงภาษี ฉะนั้นโดยทั่วไปเหล็กเส้นจากต่างประเทศจะไม่สามารถแข่งได้ แม้จะถูกกว่า !

จริง ๆ แล้วในตลาดเหล็กเส้นระหว่างประเทศในช่วง 4-5 ปีนี้เป็นตลาดของผู้ซื้อ เราสามารถจะซื้อเหล็กเส้นได้ในราคาที่ไม่แพงนักและคุณภาพดี

ในอเมริกา ซึ่งเมื่อก่อนเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันต้องกีดกันผลิตภัณฑ์เหล็กจากเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประชาคมยุโรป(อีซี) มันจะมีสัญญาหนึ่งที่เรียกว่า VER (VOLUNTARY EXPORT RESTRICTION) หรือข้อตกลงการจำกัดการส่งออกโดยสมัครใจ ซึ่งอยู่นอกกรอบของแกตต์

ภาวะตลาดเหล็กจึงเป็นตลาดที่ผู้ซื้อซื้อได้ แต่เราซื้อไม่ได้เพราะว่าประเทศไทยมีกำแพงภาษีกั้นไว้ค่อนข้างสูง ก็เข้าข่ายลัทธิการปกป้อง

เป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง ที่รัฐบาลไทยต้องการช่วยอุตสาหกรรมเหล็กเส้น ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมทารกในตอนแรก

แต่เมื่อเราคุ้มครองมา 20 กว่าปีเหมือนกับอุตสาหกรรมรถยนต์มันก็ไม่โตสักที !

อุตสาหกรรมเหล็กของโลกตอนนี้ เทคโนโลยีที่ใช้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ในอเมริกาสู้ญี่ปุ่น เกาหลีหรือยุโรปไม่ได้ ระบบการผลิตเหล็กแผ่นซึ่งทำสังกะสี ตัวถังรถยนต์ และกระป๋องมีสองระบบคือระบบรีดร้อนกับระบบรีดเย็น ตอนหลังเขาใช้ระบบเย็นหมดแล้ว

แต่ระบบผลิตเหล็กเส้นในเมืองไทยที่ผลิตได้มีประสิทธิภาพและเป็นเหล็กที่มีมาตรฐานจริง ๆ เป็นเหล็กเตาหลอม ส่วนเหล็กรีดซ้ำมีมาตรฐานต่ำกว่า

เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล็กเส้นรีดซ้ำในประเทศไทย มันเป็นอุตสาหกรรมที่ด้อยประสิทธิภาพ และได้รับความคุ้มครอง !

โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กซึ่งเอาเศษเหล็กหรือเหล็กจากเรือมาหลอมแล้วทำใหม่ เหล็กพวกนี้มีปัญหาเรื่องมาตรฐานทั้งนั้น ที่เราเรียกว่าเหล็กไม่เต็มขนาด อันนี้ก็เกี่ยวพันกับปัญหาตึกล้มพังทลายมากเพราะเหล็กที่เราใช้ ๆ กันอยู่นี้ต่ำกว่ามาตรฐาน

การที่เรามีอุตสาหกรรมเหล็กที่ไม่มีประสิทธิภาพและได้รับการคุ้มครองมานาน ทำให้อุตสาหกรรมในเมืองไทยล้าหลังด้วย

ประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็กที่ก้าวหน้า จะทำให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมได้ด้วย สังเกตเห็นได้จากญี่ปุ่น หรือยุโรป หรือเกาหลี

อุตสาหกรรมเหล็กจะก้าวหน้าได้ ต้องมีอุตสาหกรรมต่อเรือหรือโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งสองอย่างนี้ในไทยก็ล้าหลังทั้งคู่ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เพียงแค่ประกอบรถยนต์และได้รับการปกป้องตลอด ส่วนอุตสาหกรรมเรือไม่ได้ไปไหนเลย

ฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล็กจึงเกี่ยวพันกับสองตัวนี้ ซึ่งเป็นรากฐานอุตสาหกรรมที่ไปผูกพันกัน ถ้าสองอย่างนี้ไม่ก้าวหน้า อุตสาหกรรมเหล็กจะไม่มีวันก้าวหน้า

ยิ่งเมืองไทยใช้นโยบายกีดกันทางการค้าโดยการปกป้อง (PROTECTION) ก็ยิ่งทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่ต้องแข่งขันกับผู้นำเข้าในประเทศ

อุตสาหกรรมนี้จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันหรือไม่ต้องมีประสิทธิภาพแต่สามารถขายได้ในราคาสูง โดยช่วงตลาดกำลังบูมมากในการก่อสร้างเราไม่จำเป็นต้องผลิตมาก แต่ผลิตในจำนวนเท่าเดิม แต่เราจะขายได้เพิ่มมากขึ้น ขายแค่ใบโควตาหรือเรียกว่า "ใบส่งของ" ก็กำไรเพียงพอแล้วเหมือนกับปูนซีเมนต์

ตอนที่เกิดเรื่องการยืดอายุภาษีเหล็กเส้นที่เก็บในอัตรา 10% จากเดิม 20% และเหล็กแท่งจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามประกาศของกระทรวงการคลังไปอีกหนึ่งปี ได้มีความพยายามที่จะล็อบบี้ในหมู่ผู้ผลิตเหล็กเส้นว่าถ้าหากมีการยืดอายุ จะขายโรงงานทิ้งหรือเลิกกิจการ

อันนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เข้าใจได้เลยว่าถ้าหากมีการปล่อยให้มีการนำเข้าเสรี กำไรส่วนเกินของผู้ผลิตเหล็กที่เรียกว่า ECONOMIC RENT จะลดลง

ยิ่งถ้าหากมีการสร้างโรงงานเสรี จะทำให้เกิดซัพพลายออกมามากราคาเหล็กเส้นจะลดลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตเดิมอย่างมหาศาล แต่ประโยชน์จะตกแก่ชาวบ้านและอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ปัญหาวัตถุดิบที่มาทำเหล็กเส้นไม่จำเป็นต้องได้จากเหล็กแท่งอย่างเดียวได้จากแร่เหล็กก็ได้ แต่วิธีทำของเมืองไทยคือซื้อเศษเหล็กมารีดซ้ำมากกว่า ดังนั้นการที่ลดภาษีวัตถุดิบหรือเหล็กแท่งได้ด้วยก็ จะดี

ราคาเหล็กเส้นในเมืองไทยต้องสูงกว่าตลาดโลกแน่ เพราะถ้าเราปล่อยให้มันทะลักเข้ามา ราคาเหล็กเส้นต่างประเทศต้องถูกกว่าในประเทศ

แต่สิ่งที่ผู้ผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำในประเทศกลัวก็คือ จะมีการตัดราคา (DUMPING) จนทำให้อุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นต้องล้มละลายไป

แต่สิ่งนี้ผมคิดว่าในยุคนี้ไม่น่าจะเป็นจริง และถ้าเป็นจริงก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะอุตสาหกรรมผลิตเหล็กในประเทศไทยเราก็สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้มากเท่าไหร่ และใช้คนไม่เท่าไหร่

มูลค่าเพิ่มจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปสู่อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ หรือเครื่องจักรกล ลำพังอุตสาหกรรมเหล็กเส้นอย่างเดียวมันใช้การก่อสร้างเท่านั้น

ดังนั้นนโยบายที่สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเสนอก็ถูกต้องในแง่ที่รัฐน่าจะปล่อยให้มีการสร้างโรงรีดเหล็กเส้นเสรี เพราะว่าเมื่อเขายินดีจะสร้างได้ ก็ไม่น่าจะไปกีดกันเขา

คือรัฐบาลคิดอย่างเดียวว่าจะกำกับไม่ให้มีการผลิตเกินไป กลัวจะล้นตลาด ซึ่งอันนี้ไม่น่าเป็นห่วงในแง่ผู้ผลิต ถ้าเขารู้ว่าทำไม่ได้ เขาก็เลิกไปเอง

รัฐลืมไปว่าการที่เราจำกัดจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กเส้น ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ECONOMIC RENT ขึ้นมา ทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคสูงกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ผลิตสามารถจะโก่งราคาให้สูงกว่านั้น เนื่องจากสินค้าตัวอื่น ๆ ถูกกีดกันจากกำแพงภาษีและห้ามนำเข้าด้วย

อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเป็นอุตสาหกรรมทารกที่ไม่มีวันโตเหมือนอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์!!

กิจการนี้มีผู้ประกอบการ 30-40 ราย สาเหตุไม่ใช่รัฐบาลกำหนดอย่างเดียว แต่เป็นเพราะธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้ทุนสูง มากดังนั้นผู้ประกอบการต้องมั่นใจว่าตลาดมีมากน้อยแค่ไหนและจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่? เพราะเขากลัวว่าถ้าหากต่างชาติที่มีเทคโนโลยีและการผลิตในขนาดใหญ่ ECONOMY OF SCALE จะทุ่มตลาดเรา

แต่การคุ้มครองไม่ยอมเลิกสักที ประเด็นของเราคือทำไมไม่ยอมเลิก ?

ถ้าปล่อยให้มีการปล่อยนำเข้าเหล็กเสรี แล้วผู้ผลิตเหล็กเดิม ๆ ยังอยู่ได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

แต่ผมไม่แน่ใจว่านโยบายการเปิดเสรีโรงรีดเหล็กจะทำได้ เหมือนกับเรื่องเหล้าที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในฝ่ายบริหารประเทศ

การเปิดเสรีเป็นนโยบายที่ดีสำหรับประเทศที่ต้องการลดความบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะยาวจะถูกต้องที่จะแก้ปัญหาอำนาจการผูกขาดได้ แต่ว่าในรูปเหล็กเส้นนี้ ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีแรงพอที่จะทำให้เปิดเสรีได้จริงไหม? เพราะเพียงแค่การยืดอายุลดภาษียังถูกประท้วงจากสมาคม

ความพยายามของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างมีแรงน้อยกว่าสมาคมผู้ผลิตเหล็ก อย่างเก่งที่เขาทำได้คือยืดอายุการลดภาษีออกไปเท่านั้นเอง ถ้าสังเกตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในยุคปลายของรัฐบาลเปรมครั้งนี้เป็นการยืดอายุครั้งที่สามแล้ว การยืดครั้งแรกก็ทะเลาะกันมากและยืดเยื้อมาตลอด

เรื่องนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ พบกันคนละครึ่งทาง เพราะว่าการยืดอายุทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศยังได้ประโยชน์อยู่ดี ตัวเองสามารถขายได้ในราคาที่ค่อนข้างดีและภาษีวัตถุดิบก็ลดจาก 10 เหลือ 5% ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างก็อาจจะพอใจมากขึ้นที่ไม่ขาดแคลนเหล็กแม้จะราคาแพงขึ้นบ้าง

เรื่องต้นทุนของเหล็กที่พูด ๆ กันอย่าไปเชื่อมาก เหมือนต้นทุนสินค้าเกษตร มันบิดเบือนหรือปั้นตัวเลขได้ สิ่งที่เราจะรู้จริง ๆ ก็คือว่าถ้าคุณแข่งขันได้ ราคาต่างประเทศที่ส่งมาไม่บวกภาษี คุณสู้เขาได้ไหม ?

มันเหมือนกับว่า คุณจะพิสูจน์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ต่อเมื่อรัฐบาลไม่ต้องช่วยเขา และเขาสามารถส่งสินค้าไปตีตลาดโลกได้ในสินค้าเดียวกันได้ นั่นเป็นตัวชี้ว่าเขามีประสิทธิภาพมากที่สุด

ถึงที่สุด ผมไม่เชื่อว่าทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะว่าอุตสาหกรรมเหล็กเส้นในประเทศไทยขนาดมันเล็ก อุตสาหกรรมนี้เราต้องพูดว่า ECONOMY OF SCALE ที่จะผลิตให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด ต้องมีขนาดโรงงานใหญ่มาก

แต่ตลาดภายในเมืองไทยแคบมาก แม้จะมีโครงการทางด่วนหรือรถไฟฟ้าเกิดขึ้นก็ตาม แต่โครงการใหญ่เหล่านี้ก็นำเข้าเหล็กจากต่างประเทศทั้งนั้น

ปัญหาเหล็กขาดแคลนมีไม่กี่ประเภท เหล็กสำคัญคือเหล็กข้ออ้อยและเหล็กเส้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นคอนโดมิเนียม และทางด่วนพิเศษ

ในอนาคตอุตสาหกรรมเหล็กยังไปได้อยู่และมีตลาดที่ดี ในสองปีหน้าผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยยัง ดีอยู่ ปี 2533 ที่ผ่านมาที่กลัวว่าอัตราการเติบโตจะไม่ถึง 7.5 เพราะเกิดวิกฤตการณ์ก็ยังขึ้นไปถึง 9.8% เลยและอุตสาหกรรมก่อสร้างก็ยังไปได้ดี

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเศรษฐกิจจะไม่มีทางขยายตัวไปได้ตลอด เมื่อเศรษฐกิจหดตัว ธุรกิจก่อสร้างก็จะเริ่มซบเซา นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมเหล็กถ้าหากมีการเปิดเสรีจริง ในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจซบเซา เราก็จะเกิดเห็นภาพการล่มสลายของอุตสาหกรรมเหล็กอีกครั้งหนึ่ง ยกเว้นแต่อุตสาหกรรมนี้จะมีการปรับตัวให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.