|
"สิทธิบัตรยาไม่ควรพิจารณาบนกรอบของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์"
โดย
พรศักดิ์ พงศ์ธรานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจในหน้าหนังสือพิมพ์คงเคยได้ ยินเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาในประเทศอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็นปัญหาในเรื่องนี้บ่อยครั้งมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการนำเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรหรือที่เรียกว่า G.S.P.ซึ่งประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์จากการนำส่งสินค้าส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการเจรจาต่อรองกันระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อนำความตกลงในเรื่องนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิทธิบัตรยาโดยตรงนั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9 (1) ซึ่งใช้บังคับในประเทศไทยในปัจจุบันได้มีบทบัญญัติยกเว้นการให้สิทธิบัตรกับผลิตภัณฑ์ ยาหรือสิ่งผสมของยาเอาไว้
จึงเห็นได้ชัดว่าภาคราชการ ซึ่งเป็นผู้บริหารกฎหมายฉบับนี้โดยกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนอุตสาหกรรมยาต่างมีความเห็นพ้องกันว่า ส่วนที่เป็นตัวยาสำคัญ (ACTIVE COMPOUND) ใด ๆ ในผลิตภัณฑ์ยาตำหรับใด ๆ ก็ตามไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่กรรมวิธี (PROCESS) การผลิตยา ซึ่งหมายถึงวิธีการทางเคมีในการผลิตยานั้น ๆ อาจขอรับสิทธิบัตรได้ หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือว่ากฎหมายสิทธิบัตรไม่ให้ความคุ้มครองตัวยา (PRODUCTS) เหตุผลที่กฎหมายของไทยเราบัญญัติไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรในตัวยาก็คงเนื่องจากเหตุผลสำคัญว่าประเทศไทยเรานั้น แม้จะมีการพัฒนามาจากโครงสร้างที่มาจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศของเราก็ยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา และอุตสาหกรรมพื้นฐานของเรานั้นก็ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร การให้สิทธิบัตรยา ซึ่งโดยมากผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรยา ซึ่ง ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ก็คงเป็นชาวต่างประเทศ เพราะเหตุว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของเรานั้น ยังไปไม่ถึงระดับซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสิทธิบัตรยาของตัวเอง การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยานั้นจะทำให้ประชาชนต้องบริโภคยาในราคาแพง เพราะเมื่อผู้ผลิตซึ่งได้สิทธิบัตรก็จะมีสิทธิแต่ ผู้เดียวในการใช้ตัวยา ก็จะทำให้ยาในท้องตลาดราคาสูงเกินสมควร
นอกจากนี้แล้ว คงต้องยอมรับความจริงด้วยว่าผู้ที่ขอจดสิทธิบัตรจะมีเพียงแต่ชาวต่างชาติเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมยาในประเทศยังมิมีขีดความสามารถพอที่จะคิดค้นตำหรับยาใหม่ ๆ ขึ้นได้เอง ผลจึงกลายเป็นว่าการแก้กฎหมายเท่ากับเป็นการยกประโยชน์ให้ต่างชาติแทนที่ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชาติไทย
ปัญหาขาดดุลการค้ายังเป็นผลที่ติดตามมา รวมถึงงบประมาณด้านสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยามีราคาแพงก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องใคร่ครวญอย่างหนักด้วย และประการสุดท้ายการให้ สิทธิบัตรยาไม่เป็นหลักประกันเลยว่าจะทำให้การลงทุนอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่ม สูงขึ้นเสมอไป เพราะเหตุว่าการลงทุนนั้นคงไม่ได้มีปัจจัยเรื่องสิทธิบัตรประการเดียว แต่ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบในเรื่องนี้โดยตรงยิ่งกว่า
อย่างไรก็ดีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อถกเถียงของฝ่ายสนับสนุนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อให้ความคุ้มครองแก่สิทธิบัตรยาแต่อย่างไร เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งในอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เห็นว่าการให้สิทธิบัตรยานั้น เป็นการจูงใจในการค้นคว้าพัฒนาการวิจัยด้าน ยาใหม่ ๆ ถ้าหากว่ากฎหมายไทยเราไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาแล้ว ไม่เฉพาะแต่ชาวต่างประเทศหากหมายความรวมถึงคนไทยด้วยกันเองก็ไม่อยากมีใครลงทุนลงแรงค้นคว้าหาตำรับยาใหม่ ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการริเริ่มให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์จากน้ำพักน้ำแรงเขาเอง
ในขณะเดียวกันการให้สิทธิบัตรยาก็จะให้ความเป็นธรรมในแง่การปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจ อันชอบธรรมจากผู้ลงทุนลงแรงค้นคว้าวิจัยและพัฒนายา และยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ควรจะพิจารณาว่าสิทธิอันเกิดจากสิทธิบัตรยาไม่ใช้อำนาจผูกขาด (MONOPOLY) โดยสมบูรณ์เพราะการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรนั้น เป็นผลตอบแทนของการที่ได้ลงทุนลงแรงค้นคว้าในระดับสูงเท่านั้น และระยะเวลาการคุ้มครองก็มีจำกัดประมาณ 15-20 ปี นับแต่วันได้สิทธิบัตร หากพ้นกำหนดการดังกล่าวไปแล้ว ประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองและพัฒนาตำรับยา ในเรื่องนั้น
และนอกจากนี้ยังมีผู้มีความเห็นด้วยว่าการให้สิทธิบัตรยายังเป็นการช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ สิทธิบัตรยาจึงเปรียบเสมือนหลักประกันข้างต้นที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของวิทยาการ ทั้งไม่ได้รับความเสี่ยงที่จะถูกเปิดเผยวิธีการของตนแก่ผู้อื่น และการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรยา ยังเป็นการเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่น เป็นต้นว่าการจ้างแรงงานจนกระทั่งด้านภาษีอากรซึ่งรัฐบาลจะได้รับในรูปต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
และสิ่งซึ่งฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขย้ำถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก็คือสิทธิบัตรยานั้น จะ ไม่ทำให้ราคายาที่ได้รับสิทธิบัตรสูงขึ้นอย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างเพราะเหตุว่าสิทธิบัตรมีวิธีเป็นตัวกำหนดว่าราคายาจะต้องแพงขึ้นเสมอไป เนื่องจากการให้สิทธิบัตรเป็นการให้สิทธิเด็ดขาดกับผู้ทรงสิทธิในการผลิตและจัดจำหน่ายแต่ผู้เดียวย่อมทำให้ส่วนแบ่งของตลาด (MARKET SHARE) ที่กว้างขวางและมีปริมาณการขายประกอบกับกลไกราคาที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ดัชนีราคาของผลิตภัณฑ์ยาไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าที่เป็นอยู่ก่อนให้สิทธิบัตรยา
และประเด็นสำคัญที่เป็นข้อสนับสนุนประการสุดท้ายของฝ่ายนี้ก็คือว่า การให้สิทธิบัตรยาเป็นการรักษาคุณภาพของยาที่ได้รับสิทธิบัตรยานั้น เพราะฉะนั้นแล้วผู้ซื้อก็จะลอกเลียนไปผลิตและ ไม่สามารถรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานได้ เนื่องจากขาดความรู้ความชำนาญซึ่งจะทำอันตรายกับผู้เป็น โรคในที่สุด
เมื่อได้ทราบข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่ายแล้วคงอยู่ในฐานะลำบากที่จะตัดสินใจได้ว่าเหตุผลของฝ่ายใดมีน้ำหนักยิ่งหย่อนไปกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเหตุว่าทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลที่น่าฟัง และมีข้อสนับสนุนทางวิชาการอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีก่อนที่จะตัดสินใจชี้ขาดไปทางใดทางหนึ่งแล้ว เราควรต้องพิจารณาหรือตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้สัก 2-3 ประการ คือ
ประการที่หนึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฎมีการศึกษาโดยหน่วยงานของราชการหรือหน่วยงานของเอกชนใด ๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยามีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ และเศรษฐกิจจริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ หรือมีผลเสียต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่หวั่นเกรงจริงหรือไม่ กล่าวอย่างง่ายก็คือยังไม่มีการพิสูจน์กันอย่างเป็นจริงเป็นจังทางวิทยาศาสตร์ว่าข้อกล่าวอ้างทั้งสองฝ่ายมีหลักฐานในทางสถิติหรือข้อมูลหรือการคาดพยากรณ์อย่างเป็นวิชาการ ว่าจะเกิดผลเป็นประใดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่าในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเจรจาต่อรองให้ประเทศไทยเรายินยอมให้สิทธิบัตรยากับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาของสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (G.S.P.) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย
ประเด็นปัญหาที่มีการพิจารณากันอยู่ในวงการเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบันจึงมุ่งเน้นเพียงประเด็นเดียวว่ารัฐบาลใช้สิทธิบัตรยาเป็นข้อต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ว่าการค้าที่เราได้รับจากสหรัฐอเมริกา แต่ในแท้ที่จริงแล้ว เราควรจะมองปัญหาให้กว้างและไกลกว่านี้เพราะหากว่าเรามีทัศนคติว่าการได้สิทธิบัตรเป็นการแลกผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เราก็คงไม่มีโอกาสที่จะใคร่ครวญว่าแท้จริงแล้วการให้สิทธิบัตรยามีคุณค่าในตัวมันเองมากหรือน้อยเพียงใดและจะส่งผลกระทบในระยะยาวไกลอย่างไร
ประการที่สอง การบริหารสิทธิบัตรยามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเขียนกฎหมายว่าอะไรเป็นสิทธิบัตรได้หรือไม่ หากผลการศึกษาอย่างเป็นระบบตามข้อวิจารณ์ข้อแรกให้ผลว่า การให้สิทธิบัตรยามีประโยชน์กับส่วนรวมแล้ว รัฐก็คงจะต้องเตรียมการในการบริหารสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับการให้สิทธิบัตรยาหลายประการเช่นการเตรียมผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร, การบริการให้ข้อมูลสิทธิบัตรอันสามารถเปิดเผยได้, การส่งเสริมให้การมีไว้สิทธิบัตร เป็นพื้นฐานการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาในระดับสูงต่อไป
ประการสุดท้าย หากในอนาคตเราได้ข้อสรุปว่า ควรจะให้สิทธิบัตรคุ้มครองกับตัวยาได้แล้ว เราก็คงจะให้การเอาใจใส่ยิ่งขึ้นไปว่าสิ่งที่ต้องพึงเอาใจใส่ก็คือ มิใช่เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองบริษัทยาต่างประเทศ ที่มาจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยแต่กฎหมายสิทธิบัตรของไทยต้องเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในประเทศด้วย และรัฐจะต้องสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาของไทยเจริญเติบโตและพัฒนาในระดับที่ผลิตคิดค้นตัวยาใหม่ ซึ่งมีสิทธิบัตรได้เอง
จริงอยู่ในเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย แต่มีความเชื่อว่าไม่มีอะไรยากไปกว่าความสามารถหากมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ดังนั้นการเตรียม โครงสร้างในด้านความพร้อมของการพัฒนาภายในประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันค้นคว้าและ วิจัยแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับการวิจัยพัฒนาตลอดจนการเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องเตรียมการให้พร้อม หากมีการตัดสินใจว่าจะมีการยินยอมให้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรยาในประเทศของเรา มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในเรื่องนี้จากชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|