|
ปัญหาสิ่งแวดล้อมฟิลิปปินส์ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ดูเหมือนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนับวันจะทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นอุปสรรคอันหนักหน่วงสำหรับรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไข อย่างในกรณีของโรงงานหลอมทองแดงแห่งหนึ่งของลีพานโต คอนโซลิเด็ทเต็ด ไมนิ่งโค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่รายใหญ่ในฟิลิปปินส์ ได้ทิ้งกากแร่กองสูงมหึมาใกล้กับแหล่งชุมชนอาศัย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงลบก็คือ ในหน้าฝนสารพิษที่ปะปนอยู่ในกากแร่เหล่านี้จะถูกฝนชะลงมา เป็นอันตรายต่อสิ่ง-แวดล้อมทั้งพืชและสัตว์ในบริเวณใกล้เคียง
แม้ว่ารัฐบาลจะตระหนักถึงภัยในข้อนี้ดี แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาปัญหามลพิษแห่งกรุงมะนิลา ( MANILA POLLUTION ADJUDICATION BOARD) ออกคำสั่งให้ปิดโรงงานแห่งนี้นั้น ก็สร้างปัญหาหนักใจให้กับรัฐบาลมิใช่น้อย การปิดโรงงานนอกจากทำให้คนงานจำนวนมากต้องตกงานแล้ว รัฐบาลยังต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกเป็นเงินมูลค่ามหาศาล เป็นผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและการเมืองอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ดี บรรดาเจ้าหน้าที่แห่งกองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (ดีอีเอ็นอาร์) ก็สนับสนุนกับแนวคิดให้ปิดโรงงานแห่งนี้หากไม่สามารถหาแหล่งเหมาะสมในการกำจัดกากแร่ได้
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติที่ออกเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้กำหนดมาตรการในการขจัดมลพิษสิ่งแวดล้อมและให้ผู้ทำให้เกิดมลพิษต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทิ้งกากของเสีย อีกทั้งเพิ่มค่าธรรมเนียม 100 เท่าสำหรับผู้ทิ้งกากแร่ลงในทะเลและหากเหมืองแร่แห่งใดดำเนินการโดยขาดระบบการกำจัดของเสีย ที่ปลอดภัยและขาดประสิทธิภาพแล้ว ก็จะถูกสั่งปิดและต้องเสียค่าปรับอย่างหนักด้วย
ทางสองแพร่งระหว่างการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับการเสี่ยงต่ออัตราเพิ่มขึ้นของคนว่างงานและการสูญเสียรายได้จากการส่งออกนี้ คงเป็นบทเรียนที่บ้านเราก็พึงสังวรไว้เช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|