กากนิวเคลียร์..ปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังสร้างสรรค์คุณค่าให้กับมนุษยชาติอย่างเหลือคณานับ ขณะเดียวกัน กากนิวเคลียร์ที่ได้จากการแตกตัวของอะตอมในนิวเคลียร์ก็สร้างภัยให้กับสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน

เกาหลีใต้เป็นประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นที่มีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์สูงถึง 9 แห่งในปัจจุบัน และมีการคาดหมายกันว่า โรงงานแห่งนี้จะพุ่งขึ้นเป็น 19 แห่งในปี 2000 และอาจจะเป็น 50 แห่งในปี 2003 ดังนั้นปัญหาใหญ่ในการหาสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์สำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้จึงดูเหมือนจะลุกลามมากขึ้นในขณะนี้ เหตุเพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ถูกกล่าวหาว่าได้เข้าไปทิ้งกากนิวเคลียร์ในโคลลาซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงของผู้นำพรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้คือคิม แดจุง ถึงแม้ รัฐบาลจะปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยชี้แจงว่า สถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์จะเป็นโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม ก็มิอาจทำให้ความอื้อฉาวทางการเมืองสงบลง

แม้กระทั่งการก่อตั้งศูนย์วิจัยกากนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของรัฐบาลที่จะริเริ่มในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ที่เกาะ ANMYON ทางชายฝั่งตะวันตกของเกาหลีใต้ก็กลับได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนในแถบนั้นอีกครั้ง โดยชาวบ้านราว 10,000 คนต่างลุกฮือขึ้นมาขัดขวางการกระทำของรัฐบาลเสีย การต่อต้านของชาวบ้านในครั้งนั้นส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 40 นาย รวมไปถึงชาวบ้านเองก็ถูกจับกุมอีก 70 คนด้วย จากความขัดแข้งในครั้งนี้ ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ คือโรห์ แต วู จึงได้ออกคำสั่งปลดรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ชุง คุน โม ออกจากตำแหน่งทันที และต่อมาคิม จิน ยุง อดีตนักหนังสือพิมพ์มือฉมังก็เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์แทน เขาได้คลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น ด้วยการล้มเลิกแผนการก่อตั้งศูนย์วิจัยแห่งนี้ไป

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ก็ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์กลับไร้ซึ่งหนทางในการกำจัดกากนิวเคลียร์นั้น จะส่งให้เกิดการสะสมกากนิวเคลียร์เพิ่ม สูงขึ้นในทศวรรษหน้านี้

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชี้แจงว่า สถานที่เก็บกากนิวเคลียร์ในโรงงานบางแห่งนั้นก็จวนเจียนจะเต็มอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจึงให้ข้อคิดว่ารัฐบาลสมควรหาสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์ก่อนที่จะเริ่มสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในคราวต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.