|

การคืนชีพของ "โรงรับจำนำ" ที่พึ่งในยามยาก
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ในสภาพที่บรรยากาศเศรษฐกิจไม่สดใสเช่นปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าธุรกิจหนึ่งยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะโดยรวมแล้วในสายตาของประชาชนภาพพจน์ต่อธุรกิจนี้เต็มไปด้วยอคตินานา แต่ธุรกิจ "รับจำนำ" ยังเป็นธุรกิจที่ดำรงอยู่และโตเร็วเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาเพราะธุรกิจดำเนินไปได้ดีในช่วงนี้
เหมือนเจ้าของโรงรับจำนำทั่วไป ฟิล เมอร์ฟี ผู้ก่อตั้งโรงรับจำนำอัลเบอร์มาเรล แอนด์ บอนด์ (10 แอนด์บี) มีความทรงจำเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความสุขมากมาย อย่างการที่เขาได้มีส่วนช่วยให้บริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงิน และสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ด้วยการรับจำนำเพชรพลอยของบริษัทไว้ 12,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด
นับจากเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ธุรกิจรับจำนำ ได้เข้าสู่สภาพฟื้นตัว หลังจากที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่อัตราดอกเบี้ยสูงในขณะที่รัฐบาลมีสวัสดิการให้ต่ำรวมทั้งสินเชื่อต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด สิ่งที่ทำให้เห็นเด่นชัดว่าธุรกิจรับจำนำรุดหน้าขึ้น คือสมาชิกของเนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น ออฟ พอนโบรกเกอร์ (เอ็นเอพี) ซึ่งในทศวรรษ 1970 มีไม่ถึง 50 รายเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 220 ราย ในปัจจุบัน
แต่ธุรกิจรับจำนำในทศวรรษ 1990 ถูกล้อมกรอบ เพราะผู้คนมองว่าโรงรับจำนำมีไว้สำหรับคนจนเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่คนจนที่มาใช้บริการ ห้องเก็บของของโรงรับจำนำบางแห่งเต็มไปด้วยเพชรพลอยของมีค่า ศิลปะมีชื่อ เครื่องดนตรี ของโบราณ ฯลฯ แม้แต่โถปัสสาวะ 24 กะรัตที่มีมูลค่า ถึง 75,000 ปอนด์ของเหล่านี้เป็นของบรรดาเศรษฐีที่มาใช้บริการโรงรับจำนำ และถ้าไม่มีใครมาไถ่ถอนคืน ของทั้งหมดจะมีการประมูลและขายไปโดยบริษัทซอธบี้
โรงรับจำนำกับธนาคารไม่ได้ต่างกันเท่าใดนัก ธนาคารมีการรับจำนองบ้าน แต่โรงรับจำนำจะรับจำนำสิ่งของโดยคิดดอกเบี้ย 3-4 % ต่อเดือนขึ้นอยู่กับวงเงินที่ให้ลูกค้าไปโรงรับจำนำเป็นแหล่งหมุนเงินระยะสั้นเป็นเดือน หากต้องการกู้ยืมเป็นปีควรไปพึ่งธนาคาร โรงรับจำนำให้บริการลูกค้าอย่างเป็นกันเอง และส่วนใหญ่ 60 %ของร้านจะเป็นลูกค้าประจำ
ผู้ร่วมอาชีพของเมอร์ฟีมีความภูมิใจที่โรงรับจำนำเหมือนเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้คน และมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในการช่วยให้ลูกค้าพ้นจากการเป็นหนี้รายอื่นที่รีดเลือดพวกเขา แต่ไม่ค่อยจะมีใครคิดอย่างนี้นัก โรงรับจำนำจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นกฎหมายที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด อย่างข้อกำหนดที่ว่า ถ้าไม่มีผู้มาไถ่ถอนจะต้องแจ้งให้เจ้าของทราบว่าจะขายทรัพย์นั้นภายใน 21 วันเป็นการให้โอกาสจากนั้นถ้าขายทรัพย์สินแล้วจะได้เพียงดอกเบี้ยกับเงินทุนที่เสียไปแต่ในส่วนที่เกินมาเท่าใดต้องคืนให้เจ้าของ ซึ่งกฎหมายนี้ทำให้ธุรกิจย่ำแย่ แม้ในปัจจุบันจะยกเลิกกฎหมายนี้ไปแล้ว แต่เมอร์ฟี ต้องการให้มันมีอยู่ เพราะจะได้ช่วยทำความสะอาดภาพพจน์ของผู้คนต่อธุรกิจรับจำนำได้
เมอร์ฟีจัดเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ เขาเริ่มต้นที่โรงรับจำนำอีเอ บาร์คเกอร์ ซึ่งเป็นโรงรับจำนำในตลาดบน ใช้เวลานับ 10 ปี กับฮาร์เวย์ แอน ทอมสัน จนถึงตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการเขายังเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้มีการแยกร้านกันอย่างเด็ดขาดระหว่างร้านขายปลีก กับร้านรับจำนำ เพราะในอดีตโรงรับจำนำต่าง ๆ ด้านหน้าจะเป็นร้านขายเพชรพลอยและด้านหลังจะทำธุรกิจรับจำนำ ซึ่งปัจจุบันฮาร์เวย์ แอนด์ ทอมสันเป็นโรงรับจำนำที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ เป็นโรงรับจำนำแห่งเดียวที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสาขาถึง 29 แห่ง และอันดับสองเป็นของเมอร์พีเองคือ เอ แอนด์ บี มี 13 สาขา และมีร้านดำเนินงานขายปลีก 2 ร้านนับว่าเขาเริ่มจากศูนย์สู่ร้อยในวันนี้อย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|