|

โอตารุเมืองในฝันของชาวโซเวียต
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
นับเป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้วที่สหภาพโซเวียตได้ริเริ่มใช้นโยบาย "เปเรสทรอยกา" ซึ่งเป็นนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ของประเทศแบบเดิมสู่ระบบกลไกตลาดเสรี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นยังผลให้ชาวโซเวียตมีเสรีภาพในการเดินทางไปทุกหนทุกแห่งรวมทั้งการใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบและจากนั้นเป็นต้นมาโลกก็ได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือลูกค้าชาวโซเวียต อย่างจริงจัง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ติดอันดับความนิยมที่ชาวโซเวียตจะเดินทางไปเยือน เพราะญี่ปุ่นมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ค้นหา โดยเฉพาะรถยนต์ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะเป็นแบบฉบับในการซื้อรถยนต์ใหม่ในทุก ๆ 2-3 ปีขณะที่ชาวโซเวียตนั้นหากต้องการจะเป็นเจ้าของรถยนต์คันใหม่สักคันต้องรอคอยร่วม 10 ปี เพราะราคาของรถยนต์ในโซเวียตสูงกว่า 20 เท่าของรายได้รวมตลอดทั้งปี ความใฝ่ฝันของชาวโซเวียตดูย่นระยะเวลาเข้ามาด้วยความสอดคล้องลงตัวของนโยบายเปเรสทรอยกากับนิสัยใช้แล้วทิ้งของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงเป็นแหล่งดึงดูดใจของชาวโซเวียต ที่จะมาค้นหารถยนต์ที่ถูกใจสักคันจากป่าช้ารถยนต์ในญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการทิ้งรถของชาวญี่ปุ่นทางอ้อม
เมืองโอตารุเป็นเมืองที่ชาวโซเวียตมักจะมาชุมนุมกันเสมอ เจแปน อิงก์เป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์เก่าในโอตารุ ซึ่งมีคิโยชิ นิชิเป็นเจ้าของกิจการ การที่เจแปน อิงค์มีรถมากมายให้เลือก เหตุผลหลักมาจากกฎหมายด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด ผลบังคับของกฎหมายต่อรถโดยสารที่มีอายุเกิน 3 ปีจะต้องรับการตรวจเช็กสองปี/ครั้ง ส่วนรถที่มีอายุมากกว่า 10 ปีจะต้องทำการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี และค่าใช้จ่ายในกระบวนการตรวจสอบหาข้อบกพร่องกินเงินถึงหลายพันดอลลาร์ เพราะลิขสิทธิ์ในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถระบุมาว่าการตรวจสอบข้อบกพร่อง ต้องทำโดยร้านซ่อมรถยนต์เท่านั้น ชาวญี่ปุ่นจึงพอใจที่จะซื้อรถใหม่มากกว่าการเสียเงินในการตรวจเช็กหรือการซ่อม
ญี่ปุ่นมีกฎจำกัดในการส่งออกรถเก่าที่มีมูลค่าลดลงจากเดิมแม้ว่ารถยนต์เก่าบางคันจะขายได้ในราคาที่สามารถซื้อรถคันใหม่ที่ไร้ยี่ห้อได้ ในทางตรงกันข้ามญี่ปุ่นได้ผ่อนปรนการตรวจเช็กรถ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะซื้อรถกลับประเทศของตน ภายใต้เงื่อนไขราคากำหนดคือไม่เกินกว่า 50,000 เยน (390 ดอลลาร์) รอยโหว่ของกฎหมายในญี่ปุ่นถูกกลาสีเรือชาวโซเวียตพบในปี 1987 หลังจากนั้นเที่ยวกลับที่เรือสินค้าของพวกเขาว่างพวกเขาจะบรรทุกรถต่าง ๆ กลับโซเวียต แม้ปัญหาด้านพวงมาลัยของรถญี่ปุ่นจะอยู่คนละด้านกับถนนในโซเวียตแต่เรื่องนี้ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ปีที่ผ่านมานักเดินทางชาวโซเวียตมากกว่า 100,000 คนได้ซื้อรถยนต์ที่ชาวญี่ปุ่นไม่ใช้แล้วกลับประเทศ
นโยบายเปเรสทรอยกาได้ทำให้เมืองสองเมืองมีบทบาทสำคัญขึ้นมา การซื้อรถเก่าในโอตารุ สู่เมืองแซคคะลินประเทศโซเวียต ปัญหาที่พบเป็นเรื่องของการขาดความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ของโซเวียต ประกอบกับสภาพถนนที่เลวร้ายในโซเวียตทำให้อะไหล่บางชิ้นสูญหายสุดท้ายอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ ทั้งการแลกเงินเยน ได้อย่างจำกัดของชาวโซเวียต ทำให้เงินเยนขาดแคลนการซื้อขายไม่สะดวกเท่าที่ควร และผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อการจัดซัพพลายของเมืองโอตารุ
แนวโน้มที่ชี้ชัดถึงการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของธุรกิจนี้คือการแข่งขันกันระหว่างนักธุรกิจจากซัพโปโรกับนิชิที่ต้องการจะไปเปิดศูนย์รถยนต์ใช้แล้ว และร้านซ่อมรถยนต์ในแซคคะลินแต่ฝ่ายนักธุรกิจจากซัพโปโรได้ชิงตัดหน้าเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลแซคคะลิน ไปก่อนหน้าถึงโครงการนี้แล้วรวมทั้งยังได้เดินทางไปเกาะแซคคะลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|