|
ชาญชัย ในเอ็มซีซี
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์ กำลังเป็นแนวโน้มที่นักบริหารระดับมืออาชีพ ที่มีประวัติประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานมาก่อน กระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมชายคาด้วย ซึ่งแตกต่างจากสมัย 5 ปีก่อนที่ตลาดหุ้นไม่เติบโตมากเหมือนปัจจุบัน ที่เวลานั้นธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์มีช่องทางหากินในวงแคบ ๆ และภาพพจน์ทางธุรกิจไม่ดีนัก
เมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัว ธุรกิจนี้ก็กลายเป็นขนมหวานที่หลายคนอยากเข้ามาจับจองที่นั่งด้วย ณรงค์ ปัทมะเสวี จากซิตี้แบงก์ดี ๆ ก้าวพรวดมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทรหรือจักรวาลทรัสต์ มานพ นาคทัตอยู่สยามประกันชีวิตของกลุ่มไทยสมุทรเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ดี ๆ กระโดดมาร่วมชายคากลุ่มโอสถานุเคราะห์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์
ชาญชัย ตุลยะเสถียร จากไทยออยล์ก็เช่นกัน นั่งเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี อยู่เฉย ๆ และมีงานประจำอยู่ที่ฝ่ายบริหารเงินของไทยออยล์อยู่ดี ๆ ก็ได้รับข้อเสนอจากบางกอก เชาว์ขวัญยืน ประธานเอ็มซีซีและกรรมการไทยออยล์ให้มานั่งทำงานประจำเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็มซีซีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
"ผมมาโดยไม่มีข้อเสนอหรือเงื่อนไขอะไรทั้งนั้น เพียงผมบอกกับกรรมการบอร์ดและคุณ บางกอก ว่าผมขอธีรพงศ์และสุวิทย์ มาช่วยผมอีก 2 คน" ชาญชัยเล่าถึงที่มาของทีมงานบริหารชุดใหม่ของเอ็มซีซี
ธีรพงศ์ มณเทียรวิเชียรฉาย ก่อนมาอยู่ที่เอ็มซีซีในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เขาเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินและค้าเงินของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสาขาประเทศไทย ระหว่างที่ทำงานอยู่แบงก์เขามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจด้านตลาดเงินกับชาญชัย ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินอยู่ไทยออยล์ จึงรู้เห็นฝีไม้ลายมือกันอยู่ "คือความเชี่ยวชาญด้านการค้าเงิน มันสามารถประยุกต์ใช้กับค้าหลักทรัพย์" ชาญชัยพูดถึงเหตุผลหนึ่ง ที่เขาดึงธีรพงศ์เข้ามาดูแลธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดเงินในเอ็มซีซี รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจด้วย
สุวิทย์ อุดมทรัพย์ เคยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงด้านสินเชื่อสถาบันธุรกิจต่างประเทศของแบงก์ไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์ในตลาดการเงินที่นิวยอร์กและลอสแองเจลิส ในฐานะเป็นผู้จัดการสาขาไทยพาณิชย์ที่นั่นมาก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยสำนักงานใหญ่ ชาญชัยชวนมาทำงานเอ็มซีซี ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปดูแลธุรกิจสินเชื่อและเช่าซื้อ รวมถึงกลุ่มปฏิบัติการบริหาร
เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ข้างตัวเช่นนี้ ชาญชัยถือว่ามันเป็นความจำเป็นเบื้องแรกในการสร้างระบบบริหารที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินและตลาดทุน "เราต้องการกระจายการเติบโตของธุรกิจไปในทุก ๆ ประเภทที่มีศักยภาพที่ดี ผมไม่คิดว่าการยืนอยู่บนฐานธุรกิจที่ดีเพียงประเภทหนึ่งประเภทใดเป็นเรื่องที่เหมาะสมในตลาดขณะนี้ ดังนั้นการเติบโตอย่างสมดุลในธุรกิจหลายประเภทที่เราทำได้จึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม" ชาญชัย พูดถึงทัศนภาพหรือวิชั่นในการบริหารนโยบายธุรกิจของเอ็มซีซีในยุคสมัยของเขา
ชาญชัยลงทุนระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบริการด้านธุรกิจค้าหลักทรัพย์กว่า 30 ล้านบาทด้วยเหตุผลเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในธุรกิจหลักทรัพย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเขาก็มองว่าเป็นธุรกิจในระยะยาวที่สามารถทำกำไรได้ดีและปริมาณการค้าและลงทุนหลักทรัพย์ของนักลงทุนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นซึ่งสามารถหารายได้จากค่าธรรมเนียมในการบริการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ "เราวางเป้าหมายการเติบโตที่การมีส่วนแบ่งตลาดของระบบไม่น้อยกว่า 3% หรือมากกว่านั้น" ชาญชัยพูดถึงเป้าหมายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ของเอ็มซีซีจากนี้ไป
ปีที่แล้วธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมจากการให้การปรึกษาการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น สามารถทำรายได้สูงถึง 214 ล้านหรือประมาณ 40% ของรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล 736 ล้าน
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสมัย นพพร พงษ์เวช เป็นกรรมการผู้จัดการรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ มี 124 ล้านหรือประมาณ 20% ของรายได้จากดอกเบี้ย 515 ล้าน
สัดส่วนรายได้ 40% เทียบกับ 20% ของรายได้จากดอกเบี้ยมันต่างกันถึง 100% แสดงว่าธุรกิจหลักทรัพย์มีศักยภาพการเติบโตในการสร้างรายได้เอามาก ๆ
ผลประกอบการเช่นนี้ ชาญชัยมองเห็นชัดเจนถึงโอกาสในธุรกิจหลักทรัพย์ และเหตุผลนี้คือที่มาของการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทหลักทรัพย์สมิทนิวคอร์ท ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของอังกฤษ เพื่อพัฒนางานวิจัยหลักทรัพย์และผ่านลูกค้าต่างประเทศมาให้เอ็มซีซี
นอกจากนี้ ชาญชัยยังมองไกลออกไปถึงการเติบโตของตลาดวาณิชธนกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจการเงินและตลาดธุรกิจการค้าและการลงทุนของไทยได้ผนึกเข้ากับส่วนหนึ่งของตลาดโลกและนับวันมีบทบาทมากขึ้น
ลูกค้าสถาบันรายใหญ่ ๆ กำลังต้องการทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก ปัญหาคือจะหาทุนมาได้อย่างไรในราคาที่ต่ำและมีความเสี่ยงน้อย
ชาญชัยผ่านงานนี้มาแล้วอย่างโชกโชนสมัยอยู่ไทยออยล์ในฐานะมือบริหารเงินและจัดหาเงินมาใช้ในโครงการธุรกิจของไทยออยล์
เขารู้ดีว่างานคอเปอเรทไฟแนนซ์ในตลาดการเงินมีผู้เชี่ยวชาญไม่มากนัก และนี่คือที่มาของการดึง ศักรพันธ์ เอี่ยมเอกดุลย์ จากเชสแมนฮัตตันแบงก์มาร่วมงานที่เอ็มซีซี ในฐานะศักรพันธ์มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินด้านคอเปอเรทไฟแนนซ์มาโชกโชน
ธุรกิจวาณิชธนกิจมีมากมายหลายประเภท ไม่ใช่การอันเดอร์ไรติ้งนำหุ้นเข้าตลาดอย่างที่บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำนิยมทำกันอยู่เวลานี้เพียงอย่างเดียว แล้วเครมว่าเป็นอินเวสเม้นแบงกิ้งแล้ว
"ที่เอ็มซีซี เราแบ่งธุรกิจอินเวสเม้นแบงกิ้งเป็น 3 หน่วย แต่ละหน่วยจะมีผู้จัดการที่สามารถให้บริการทุกประเภทในขอบข่ายของอินเวสเม้นท์แบงกิ้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันขึ้นกับลูกค้าว่าต้องการอะไร" ศักรพันธ์ซึ่งดูแลสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่พูดถึงบริการอินเวสเม้นท์แบงกิ้งของเอ็มซีซี
เวลานี้ยังไม่มีผลงานออกมาสู่สาธารณะว่าอินเวสเม้นท์แบงกิ้งของเอ็มซีซี มีสถานะทางธุรกิจอย่างไรบ้าง คงต้องจับตาดูต่อไปหลังจากชาญชัยวางระบบบริหารตามแนวนโยบายธุรกิจเรียบร้อยระยะหนึ่ง
เอ็มซีซีในยุคชาญชัยกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดธุรกิจการเงินและตลาดทุน เขาคาดหวังอย่างยิ่งว่าการเติบโตในรายได้ในธุรกิจหลักทรัพย์ และสินเชื่อเช่าซื้อจะเกิดขึ้นอย่างสมดุล ไม่อยู่ที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเหมือนในอดีตที่สินเชื่อเช่าซื้อเป็นเสาหลักของเอ็มซีซี
"สินเชื่อเช่าซื้อเมื่อมาถึงจุดสูงสุดของการเติบโต มันจะเริ่มโตในอัตราที่ลดลงเพราะมันต้องใช้ทุนเป็นตัวเร่ง ผมว่าเรากำลังมาถึงในจุดนี้แล้ว แม้ว่ามันจะทำกำไรได้ดีและคุณภาพสินเชื่อก็ดีมากก็ตามสิ่งนี้คือเหตุผลที่เราต้องเพิ่มบทบาทธุรกิจไปที่ประเภทอื่นบ้าง" ชาญชัย เล่าให้ฟังถึงเหตุผลภายในที่ต้องขยายธุรกิจออกไปจากเช่าซื้อ
เอ็มซีซีกำลังก้าวมาอีกจุดหนึ่งแล้ว มันไม่ง่ายต่อผลการคาดหวังในยามที่ทุกคนในตลาดต่างก็มองหนทางธุรกิจใหม่ ๆ ออกเหมือนกันชัยชนะคงชี้ขาดอยู่ที่คุณภาพ คนและการขายความชำนาญที่ตลาดกำลังต้องการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|