|
"ไทยแอนิเม" ขอขาดทุนแค่ 3 ปี
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี 2534 นับเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินงานของบริษัท ไทยแอนิเม จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัท เครือข่ายของค่ายกันตนาซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 บริษัทคือบริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัดทำหน้าที่ในการผลิตรายการละครโทรทัศน์ บริษัทกันตนา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัดผลิตรายการโทรทัศน์รวมถึงการจัดจำหน่ายด้วย บริษัทกันตนาโมชั่น พิคเจอร์ จำกัดผลิตภาพยนตร์ไทยเรื่องยาว บริษัทกันตนาอินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผลิตงานด้านสารคดี
ในขณะที่ไทยแอนิเม ทำหน้าที่ในการผลิตการ์ตูน ซึ่งตลอดช่วง 2 ปีของการดำเนินงานปรากฎว่าขาดทุนมาตลอดและมีแนวโน้มว่าการขาดทุนจะมีต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี
ไทยแอนิเมเกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องการจ้างแรงงานคนไทยในการวาดการ์ตูนของผู้บริหารคนหนึ่งของค่ายกันตนา ที่บังเอิญไปเห็นสตูดิโอแห่งหนึ่งในมาเลเซียรับจ้างวาดการ์ตูนให้กับทางบริษัทโตเอะซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตการ์ตูนป้อนให้กับตลาดโลกมากที่สุดจนถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตการ์ตูนรายใหญ่ที่สุดของโลก
การเจรจาเพื่อที่จะขอให้ไทยเป็นแหล่งผลิตการ์ตูนอีกแห่งหนึ่งป้องให้กับทางโตเอะนอกเหนือจากที่มีอยู่ที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียใช้เวลาอยู่ประมาณ 1 ปีทางโตเอะจึงได้ตกลงร่วมมือกับทางกันตนาจัดตั้งบริษัทไทยแอนิเมขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 2531 โดยมีคนไทยถือหุ้น 60% ที่เหลือเป็นของญี่ปุ่น 40% และมีทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท
โดยข้อตกลงแล้วไทยแอนิเมจะทำหน้าที่ในการผลิตการ์ตูนให้กับทางโตเอะ ซึ่งโตเอะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตให้ทั้งหมด ซึ่งผลพลอยได้นี้เองที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งในความเพียรพยายามของกันตนาในการที่จะขอให้ทางโตเอะมาเปิดตลาดแรงงานทางด้านการ์ตูนในประเทศไทย นั่นหมายถึงการได้เรียนรู้เทคนิคในการทำการ์ตูนในแบบที่เรียกว่าอุตสาหกรรมการผลิตการ์ตูน
ดังนั้นความฝันของกันตนาที่จะทำธุรกิจให้ครบวงจรดูเหมือนจะไม่ไกลเกินไปนัก ถึงแม้ว่างานหลักของไทยแอนิเมยังคงเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกให้กับโตเอะถึง 80% อีก 20% ที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศตามเงื่อนไขที่ขออนุมัติจากบีโอไอส่วนเหตุผลที่โตเอะตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทในไทยนั้น มร.มาซาฮา เอโด้ รองประธานกรรมการโตเอะได้กล่าวไว้ว่า "โดยส่วนตัวแล้วโตเอะมีความสัมพันธ์กับผู้บริหารคนหนึ่งในกันตนา ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโปรแกรมทางทีวีมากรวมทั้งเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง และการที่เลือกประเทศไทยก็ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าในแถบเอเซียนี้ ช่างศิลป์ไทยมีความละเอียดกว่าประเทศอื่น ๆ รวมทั้งค่าแรงก็ไม่สูงนัก"
ช่วงแรกโตเอะได้คัดเลือกช่างศิลป์ไทยจำนวน 10 คนไปฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือนโดยที่ทางโตเอะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ในสัญญาที่ตกลงกันไว้โตเอะจะเป็นผู้ป้อนงานมาให้กับไทยแอนิเมอย่างสน่ำเสมอและตลอดไป โดยที่ไทยแอนิเมจะต้องผลิตให้ได้เดือนละ 1 หมื่นแผ่นหรือการ์ตูน 2 เรื่อง นั่นหมายถึงการวาด การระบายสี และถ่ายทำ
แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการผลิตการ์ตูนของไทยแอนิเมอยู่ในขั้นตอนของการวาดและระบายสีลงบนแผ่นใสส่งให้กับทางโตเอะเท่านั้น ยังไม่สามารถทำได้ถึงขั้นของการถ่ายทำเป็นเรื่อง เนื่องจากความไม่พร้อมของบุคลากรด้านนี้แต่แผนในอนาคตอีก 1 ปีต่อจากนี้ไปจะต้องผลิตการ์ตูนเป็นเรื่องให้ได้เพราะในเดือนนี้เองทางไทยแอนิเมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกเรื่องการถ่ายทำที่โตเอะ 2 คนโดยใช้เวลาในการฝึกถึง 1 ปีเต็ม พร้อมกันนี้ทางบริษัทได้ขออนุมัติในการนำเข้าอุปกรณ์การถ่ายทำครบวงจรตั้งแต่ถ่าย ล้างและบันทึกเสียงมูลค่าทั้งหมด 60 ล้านบาทจากบีโอไอเพื่อรองรับกับการก้าวสู่อุตสาหกรรมการผลิตการ์ตูนเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในราวปีหน้านี้
การดำเนินงานของไทยแอนิเมที่ผ่านมาตลอดระยะ 2 ปีเรียกได้ว่าขาดทุนมาตลอด รายได้หลักของบริษัทยังคงเป็นค่าจ้างจากการวาดการ์ตูนให้กับโตเอะโดยกำหนดจ่ายต่อแผ่น ในช่วงแรกการขาดทุนเกิดจากความไม่ชำนาญงานของนักวาดที่ถือว่าอยู่ในขั้นฝึกหัด
แต่ต่อมาเมื่อขีดความสามารถของนักวาดการ์ตูนไทยเริ่มเข้ารูปเข้ารอยการขาดทุนในระยะต่อมาจึงเกิดจากสาเหตุอื่น ถึงแม้ว่าในสัญญาจะระบุว่าโตเอะจะต้องส่งงานให้เดือนละ 1 หมื่นแผ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ถึง สาเหตุหนึ่งคือเรื่องการขนส่งซึ่งประเทศไทยเสียเปรียบฟิลิปปินส์ที่ใช้เวลาในการขนส่ง 2 วันในขณะที่ประเทศไทยใช้ 3 วัน บางครั้งการ์ตูนบางเรื่องมีตารางการวาด การระบายสั้นมาก ทางโตเอะก็จะส่งให้ทางฟิลิปปินส์แทน
หรือในกรณีที่กำลังวาดตกลงในขณะที่โปรแกรมออกอากาศสั้นมากทางโตเอะจึงต้องระดมนักวาดญี่ปุ่นวาดเองถึงแม้ว่าจะต้องจ่ายค่าแรงมากกว่าเดิมก็ตามเพื่อให้ทันออกอากาศ
เมื่อโตเอะส่งงานให้ไม่ได้ตามจำนวนที่กำหนด รายได้ที่ไทยแอนิเมได้รับจึงไม่สมดุลกับรายจ่ายของบริษัท ซึ่งทางโตเอะก็เข้าใจสภาพที่เกิดขึ้น และยินดีถ้าเมื่อไหร่ทางไทยแอนิเมจะมีงานนอกเข้ามาและแจ้งกับทางโตเอะว่าช่วงนี้จะรับงานพิเศษ ขอลดงานทางนี้ลงไปหน่อย
ที่ผ่านมาทางผู้บริหารของไทยแอนิเมได้พยายามที่จะรับงานนอกเพื่อมาเสริมรายได้ที่ขาดหายไปด้วยการรับสร้างภาพยนตร์โฆษณาการ์ตูน (ทำให้กับสวนสยามและแป้งน้ำควินนาซึ่งยังไม่ได้ออกอากาศ) แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ
"การเสาะหานักวาดเป็นเรื่องยากมากเพราะนอกจากจะเป็นพรสวรรค์ของคน ๆ นั้นเองแล้วยังต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย คนที่มีความสามารถขนาดนี้จะให้มานั่งวาดการ์ตูนซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานบางเรื่องอาจเป็นปีในขณะที่รายได้น้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นที่เกี่ยวกับงานศิลป์ ดังนั้นคนที่จะมาทำด้านนี้จะต้องเป็นคนที่มีใจรักทางด้านนี้และมีความอดทนสูง" โอฬาร วงศ์บ้านดู่ ผู้จัดการของไทยแอนิเมชี้แจงให้ฟัง
ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนฝึกบุคลากรจนกระทั่งมีฝีมือขึ้นมา ทางไทยแอนิเมจึงต้องมีเงื่อนไขสัญญาเพื่อป้องกันปัญหาสมองไหลคือคนที่ไปฝึกกับทางโตเอะจะต้องอยู่กับไทยแอนิเมเป็นระยะเวลา 5 ปี หากจะออกก่อนก็จะมีการเรียกเงินทดแทนตามระยะเวลาดังนี้ ถ้ากลับมาแล้วอยู่ไม่ถึงปีจะเรียกเงินทดแทน 1 แสนบาท จากนั้นก็จะลดลงปีละ 1 หมื่นบาท
"สัญญาจะเหลืออีก 2 ปีข้างหน้า ทางบริษัทก็ได้แต่หวังเพียงว่าเขาจะอยู่กับเรา ผมเองพยายามที่จะบอกเขาว่าบริษัทคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ ในอนาคตเราจะสร้างเด็กรุ่นใหม่ และเขาจะกลายเป็นผู้ฝึก" โอฬารพูดถึงความหวังที่เขาพยายามสร้างให้คนรุ่นเก่าอยู่กับบริษัทต่อไป
เมื่อปลายปีที่แล้วทางผู้บริหารของกันตนาได้มีแนวความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวของตนเองขึ้นมา โดยนำบทประพันธ์ของพล.ต.หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชในเรื่อง "ไอ้มอม" มาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์
"เราไม่ได้เอาไอ้มอมมาเป็นเงื่อนไขให้เขาอยู่ แต่จะเอาเป็นสิ่งที่จะทำให้เขามุที่จะก้าวต่อไปว่าเรามีงานของเราเองแล้ว ในขณะที่ทีมงานชุดนี้ทำงานให้กับญี่ปุ่นแล้วญี่ปุ่นจะส่งเทปม้วนนั้นกลับมาให้ดู แต่มันไม่ภูมิใจเพราะออกในญี่ปุ่นและไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะได้มาออกอากาศในเมืองไทย แต่ถ้าพวกเขาได้เห็นโฆษณาหรือภาพยนตร์เรื่องไอ้มอมออกไป ความรู้สึกที่เป็นผลงานของเขาจะทำให้เกิดความภูมิใจขึ้น"
ไอ้มอมจะเป็นผลงานภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกของประเทศไทยที่ผลิตในรูปของอุตสาหกรรมการผลิตการ์ตูน ซึ่งเป้าหมายไม่เพียงแต่ออกฉายในประเทศเท่านั้นยังหมายถึงการส่งออกป้อนตลาดโลกอีกด้วย โดยจะใช้งบในการลงทุนเรื่องนี้ประมาณ 4-5 ล้านบาทและใช้เวลาในการผลิตประมาณ 1-2 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบบุคลิกของตัวละครในเรื่องขั้นสุดท้าย และการที่ต้องทำงานหลักของโตเอะด้วยทำให้การทำไอ้มอมต้องล่าช้าไป
ดังนั้นการขยายทีมงานออกไปจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของไทยแอนิเม โดยกำหนดไว้ว่าจะเพิ่มนักวาดรุ่นใหม่อีก 20 คนเพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับทีมนักวาดเดิมที่มีอยู่ 10 คนและระบายสีอีก 40 คน ซึ่งถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมการ์ตูนรายอื่น
โดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้จะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลกำไรช้าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมแขนงอื่นในวงเงินลงทุนที่เท่า ๆ กัน (ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนไปประมาณ 10 ล้านบาทแล้ว) ผลกำไรที่ได้จะเป็นแบบน้ำซึมบ่อทราย ในขณะที่สายตาของคนภายนอกมองว่าน่าจะกำไรดี ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้แม้แต่ในฟิลิปปินส์ที่สตูดิโอเปิดมาก่อนในปีที่ 5 จึงจะมีกำไร ซึ่งทางผู้บริหารของไทยแอนิเมก็หวังว่าการขาดทุนนี้จะหยุดอยู่แค่ปีที่ 3 ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|