ชัยภัทร กำจัดดัสกร นักกฎหมายการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจการเงินระหว่างประเทศพัฒนามากขึ้นเท่าใด ความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น สำหรับเมืองไทย มีนักกฎหมายที่พอจะเรียกว่าเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะนั้นน้อยมาก ในจำนวนนั้นน่าจะนับเอา ชัยภัทร กำจัดดัสกร เข้าไปด้วยคนหนึ่งแม้ขณะนี้เขาเพิ่งจะมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้นเองก็ตาม

"จะเรียกว่าผมเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการเงินนั้นคงยังไม่ได้หรอกครับ เพราะยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็พยายามจะศึกษาและทำงานทางด้านนี้ให้มาก ซึ่งทางสำนักงานเห็นว่าผมสนใจงานทางด้านนี้มากก็ให้งานที่มันเกี่ยวข้องมาทำมากกว่าด้านอื่น ๆ ที่ผมสนใจก็เพราะว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและก็มีอะไรใหม่ ๆ ออกมาเสมอ และอีกอย่างตราบใดที่คนยังต้องการใช้เงิน แบงก์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ยังต้องรับฝากและปล่อยเงินกู้ นักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตราบนั้น" ชัยภัทร กำจัดดัสกรทนายความประจำสำนักงานกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็ค เค็นซี่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับให้เหตุผลถึงการก้าวเข้ามาให้ความสนใจกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเป็นพิเศษ

ชัยภัทรเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานกับธนาคาร ถวัลย์ กำจัดดัสกร ผู้เป็นพ่อทำงานกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจนเกษียณอายุ ส่วนแม่คือสมใจ กำจัดดัสกร ทำงานอยู่กับธนาคารแสตนดาร์ดชาเตอร์ด สาขาประเทศไทย แต่ตัวเองไม่ต้องการทำงานแบงก์หรือรับราชการ จึงเลือกเรียนกฎหมายเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและทุกคนจะต้องรู้จะต้องใช้อยู่ทุกวัน แต่ไม่ชอบที่จะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจหรือทนายความที่ว่าคดีตามศาล เพราะตลอดทั้งวันจะต้องพบแต่ความขัดแย้งความเศร้าสลดใจ คงไม่สนุกนัก !

ชัยภัทรเลือกเป็นทนายความที่ให้คำปรึกษาด้านการเงิน เพราะเป็นงานที่ทุกคนก็ได้เงิน ช่วยเหลือคนในการทำมาค้าขายมีแต่ความสบายใจ ธนาคารก็ได้ปล่อยกู้หากำไร คนกู้ก็ได้เงินไปลงทุนหากำไร

ปีนี้ชัยภัทรอายุเพียง 30 ปีด้วยคความที่เป็นคนเรียนจบเร็วและก็กระโดดเข้าทำงานด้านทนายความตั้งแต่วันแรกที่จบก็เลยผ่านงานมามากพอสมควร ทั้งที่เป็นลูกน้องในสำนักงานอื่น ออกมาตั้งสำนักงานเองกับพรรคพวกอันเป็นบทเรียนที่มีค่าพอสมควรก่อนที่จะกระโดดเข้ามาอยู่กับเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่จนถึงปัจจุบัน

ชัยภัทรเรียนจบชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักก่อนที่จะสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เวลาเรียน 4 ปีจบออกมาพร้อมกับเกียรตินิยม ใช้เวลาอีกเพียง 1 ปีเรียนเนติ-บัณฑิตไทย ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนปริญญาโททางกฎหมายอีกหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นก็กลับเข้ามาทำงานกับบริษัทกฎหมายสากลเป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งก็เหมือนกับคนหนุ่มทั่ว ๆ ไปที่ต้องการมีอะไรเป็นของตัวเองไม่ว่ากิจการจะกำไรหรือขาดทุนก็ยังมีความรู้สึกรับผิดชอบ หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงได้ลาออกมาร่วมกับพรรคพวกเปิดสำนักงานกฎหมายเป็นของตัวเอง

สำนักงานเดชอุดม วิชาและชัยภัทร คือชื่อสำนักงานที่พวกเขาร่วมกันตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2528 แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวชัยภัทรเป็นฝ่ายขอแยกตัวออกมาก่อนด้วยเหตุผลที่บอกว่าแนวความคิดในการบริหารและการจัดการไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่นัก

ปัจจุบันสำนักกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ไม่มีชื่อชัยภัทรร่วมอยู่ด้วยเท่านั้นเอง

อีกบทเรียนหนึ่งที่ชัยภัทรบอกกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมาก็คือว่าการอยู่ในสำนักงานขนาดเล็ก แม้จะมีอิสระ มีงานทำมีเงินใช้อย่างสม่ำเสมอแต่ไม่มีงานใหญ่ ๆ ให้ทำ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว คิดว่าขนาดของงานที่จะทำมีความหมายอย่างมากต่ออนาคตของเขา เพราะยังเป็นคนหนุ่มถ้าไม่เคย ทำงานเกี่ยวกับโครงการใหญ่ ๆ ก็จะเสียโอกาสไปเปล่า ๆ

การเข้ามาอยู่เบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวังเพราะเป็นสำนักกฎหมายขนาดใหญ่ มีสำนักงานสาขาอยู่ทั่วโลกซึ่งได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนจากต่างประเทศมายาวนาน นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงมักจะเลือกใช้บริการเบเกอร์เสียส่วนใหญ่ และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินทางสำนักงานก็มักจะมอบหมายให้ชัยภัทรเป็นคนเข้าไปดำเนินการ

"ที่มาอยู่เบเกอร์เพราะที่นี่มีงานใหญ่ ๆ ให้ทำมาก ทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอซึ่งความจริงแล้วการเป็นทนายความนั้นจะต้องทำให้ได้ทุก ๆ อย่าง รอบด้านในขณะเดียวกันก็ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย ที่นี่ก็พยายามให้จับทางด้านกฎหมายการเงิน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ๆ เริ่มตั้งแต่โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ โครงการทางด่วนระยะที่ 2 ก็ทำมาเรื่อย ๆ" ชัยภัทรพูดถึงงานที่ผ่านมาซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยอยู่กับสำนักงานขนาดเล็กสองแห่งไม่ค่อยจะได้มีโอกาสทำนัก

ความท้าทายสำหรับนักกฎหมายด้านการเงินในประเทศไทยก็คือกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังพัฒนาไปไม่ทันกับธุรกิจธนาคาร ไม่ว่าจะในด้านการระดมเงินหรือการปล่อยเงินกู้ ทั้งนี้ก็ต้องว่ากันตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวช้องกับตั๋วสัญญาใช้เงิน กฎหมายค้ำประกัน จำนอง จำนำ ไปจนถึงกฎหมายล้มละลาย

"เช่นด้านการระดมเงิน ซึ่งจะต้องใช้ตั๋วเงินหรือจะต้องใช้อะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือรองรับรูปแบบและวิธีการอาจไม่ยากเพราะสามารถดัดแปลงมาจากต่างประเทศได้ แต่ด้านกฎหมายที่จะรองรับมันไม่มี ความเชื่อมั่นหรือความคล่องตัวของรูปแบบการระดมทุนนั้น ๆ ก็ไม่มี หรือทางด้านเงินกู้ ถ้ากู้โดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างทั่ว ๆ ไปก็ไม่มีปัญหา แต่บางโครงการมันไม่อาจหาที่ดินมาค้ำได้จนครบถ้วนอาจด้วยเหตุผลว่าโครงการมันต้องใช้เงินลงทุนมากมีที่ดินเท่าไหร่ก็ไม่พอ หรือถึงแม้จะมีที่ดินแต่ตัวโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับที่ดินเลย โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่เอกชนไปลงทุนให้กับรัฐบาล" ชัยภัทรกล่าวถึงอุปสรรคตัวกฎหมาย

ฉะนั้นความท้าทายของนักกฎหมายก็คือว่าจะทำอย่างไรให้ลูกความซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคาร ผู้ปล่อยกู้มีหลักประกันที่หนาแน่นมากขึ้นตามสภาพของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ชัยภัทรบอกว่างานของเขาส่วนใหญ่ทำให้กับแบงก์หรือสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ให้แก่โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเนื้อหาสำคัญก็คือทำสัญญาในแต่ละระดับให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้ผู้ปล่อยกู้ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ค่อยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในขณะที่กฎหมายไทยรับรองเอาที่ดินเป็นหลักทรัพย์ที่ดีที่สุด

เขากล่าวว่าโครงการลงทุนใหญ่ ๆ ความสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นในการทำสัญญาให้การสนับสนุนทางการเงินจะต้องเป็นสัญญาที่เปิดช่องให้แบงก์เจ้าหนี้สามารถเข้าไปดำเนินการควบคุมหรือแก้ไขได้ในทันทีเมื่อมีปัญหา เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้จนกว่าจะสำเร็จมีรายได้กลับเข้ามาชำระหนี้แบงก์

ความจริงแล้วธุรกิจการเงินในประเทศจะคล่องตัวมากขึ้นถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาที่ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลถึงการลงทุนในการพัฒนาประเทศอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการรับช่วงสิทธิหรือสวมสิทธิต่าง ๆ ของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้รวมไปถึงการรับรองและคุ้มครองธนาคารเจ้าหนี้ที่จะเข้าไปแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ต้องประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านทนายความก็เช่นเดียวกัน การมีกฎหมายรองรับชัดเจนจะทำให้ทนายความทำงานง่ายขึ้น เพราะว่ากฎหมายเปรียบเสมือนเครื่องมือของทนายความนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.