|
อรดี รุ่งเรืองโรจน์ มือโปรเจกต์ไฟแนนซ์ของวอร์ดลี
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2533 มูลค่า 10,000 กว่าล้านบาท ซึ่งมีการจัดเซ็นสัญญาอย่างใหญ่โตพิสดาร มีสถาบันการเงินที่ร่วมปล่อยกู้เป็นจำนวนมากกว่า 20 แห่ง ทั้งภายในและต่างประเทศคือ อรดี รุ่งเรืองโรจน์ กรรมการผู้จัดการแห่งวอร์ดลีประเทศไทย
ชื่อของกลุ่มวอร์ดลีนั้นรู้กันอยู่ในวงการว่าเป็นกลุ่มสถาบันการเงินสำคัญในเครือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ซึ่งเพิ่งจะมีข่าวโด่งดังเรื่อง การย้ายทรัพย์สินออกจากเกาะฮ่องกงไปไว้ที่เกาะอังกฤษเพื่อความมั่นใจของผู้ถือหุ้น
บริษัทแรกที่เป็นหัวหอกของวอร์ดลีเข้ามาเปิดดำเนินการคือวอร์ดลีประเทศไทย เมื่อปี 2514 มีการประกอบกิจการด้านเงินทุนครบทุกประเภทแต่ด้านหลักทรัพย์นั้นทำได้เพียงการลงทุนในพอร์ตฯ ของบริษัทฯ ไม่ได้เป็นนายหน้าและไม่ได้ทำจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น
ปีต่อมาวอร์ดลีซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ก็เข้ามาเปิดตัวบ้าง โดยมีบริการหลายอย่าง ซึ่งว่าไปแล้วล้วนเป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นที่นิยมสนใจในธุรกิจการเงินของไทยสักเท่าไหร่
อย่างเรื่องการบริหารเงินในลักษณะที่เรียกว่า PRIVATEBANKING คือรับฝากเงินและบริหารเงินให้ลูกค้าในสกุลเงินประเภทต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกการทำ TREASURY หรือ TRADING คือหน่วยบริหารและค้าเงินตรา
ลักษณะการดำเนินธุรกิจเช่นนี้มีแพร่หลายในต่างประเทศมานานแต่กว่าจะเป็นที่รู้จักในวงการเงินไทยนั้นก็เพิ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจประเภทนี้
ธุรกิจในไทยของวอร์ดลีเริ่มเบ่งบานมากขึ้นในช่วงที่วงการเงินไทยเริ่มพัฒนาซับซ้อนกว่าเดิม วอร์ดลีแนะนำและพัฒนา 3 หน่วยงานหลักเข้ามาในประเทศไทยคือวอร์ดลีทอมสัน เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ค้าทอง เงินและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ในตลาด SPOT และ OPTION ในประเทศไทยนั้นมีการทำสัญญาร่วมบริหารกับบงล.คาเธ่ย์ทรัสต์ ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2533 โดยวอร์ดลี ทอมสันเป็นผู้ให้คำแนะนำระบบค้าหลักทรัพย์ การจัดระบบข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ส่งคนของคาเธ่ย์ฯ ไปฝึกอบรมและดูงานที่ตลาดฮ่องกง
นอกจากนี้ยังมีวอร์ดลี คอปอเรท ไฟแนนซ์ ซึ่งร่วมให้คำแนะนำทางด้านการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น หรือนัยหนึ่งคือให้คำแนะนำในกิจกรรมทางด้านตลาดทุน รวมทั้งเรื่องการออกหุ้น หุ้นกู้และอื่น ๆ ในจังหวะที่ประเทศไทยมีโครงการใหญ่ ๆ จำนวนมากคือบริษัทวอร์ดลีแคปิตอล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและจัดหาเงินกู้แก่โครงการต่าง ๆ กิจกรรมหลักของบริษัทฯ นี้ อยู่ในตลาด DEBTFINANCING ซึ่งปรากฏว่ามีผลงานสำเร็จไปหลายโครงการแล้ว
เช่นการจัดหาแหล่งเงินเพื่อซื้อเครื่องบินแอร์บัส 300-600ให้การบินไทยมูลค่า 62.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เทคนิค LEVERAGE LEASING ในประเทศฝรั่งเศส
อรดีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การกู้เงินประเภทนี้จะเป็นการใช้สิทธิทางภาษีจากประเทศผู้ลงทุนในกรณีนี้ คือฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ได้รับประโยชน์จากวิธีนี้มากกว่าวิธีธรรมดา 8-10% ของจำนวนที่ให้กู้ เรามีทีมงาน AVIATION FINANCE ที่ใหญ่มาก อย่างเมื่อปี 2531 มูลค่าการหาแหล่งเงินกู้ด้านนี้มีถึง 580 ล้านเหรียญสหรัฐ"
ทั้งนี้ AVIATION FINANCE TEAM ของวอร์ดลี แคปิตอลได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ชำนาญงาน LEVERAGE LEASING ซึ่งมีผู้ครองตลาดอยู่เพียง 3-4 รายเท่านั้น
อีก 3 โครงการสำคัญซึ่งนำชื่อเสียงมาให้วอร์ดลี แคปิตอลคือโครงการผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ของบริษัทเพอรอกซีไทย มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ และโครงการสร้าง FLATTED FACTORY ของบริษัทบางกอกแอร์พอร์ตอินดัสตรี ในเครือเมืองทองธานี
อรดีกล่าวว่า "สองโครงการแรกเป็นการกู้แบบ LIMITED RECOURSE FINANCING หรือ PROJECT FINANCE คือดูความเป็นไปได้ของตัวโครงการ โดยที่ไม่ต้องมีการค้ำประกันจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด วิธีกู้แบบนี้เป็นวิธีที่ดีและเหมาะกับโครงการใหญ่ ๆ ของไทยเวลานี้"
ก่อนที่จะมาร่วมงานกับวอร์ดลีและรับผิดชอบงานโปรเจกต์ ไฟแนนซ์สำคัญ ๆ อรดีเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตลาดหนี้และทุนมามากกว่า 15 ปี
อรดีเริ่มต้นงานที่ฝ่ายหนี้สินและหลักทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทยแล้วย้ายมาอยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลังกลับจากลาไปเรียนเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย รับผิดชอบการบริหารสินเชื่อของธนาคาร ฯ และการวิเคราะห์เครดิตลูกค้า
ต่อมาย้ายไปทำงานด้านสินเชื่อที่วอร์ดลีประเทศไทย แล้วลาออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ กับบริษัทพัฒนาทางการเงินหรือ DEVELOPMENTAL FINANCIAL INSTITUTION ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง บางครั้งมีการร่วมลงทุนด้วย บริษัทนี้ชื่อ PRIVATE INVESTMENT COMPANY FOR ASIA หรือ PICA มีสำนักงานใหญ่ที่ สิงคโปร์ มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติและธนาคารต่างประเทศกว่า 200 แห่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อ PICA ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่ม ELDERS FINANCE แห่งออสเตรเลียแล้วกลายเป็น ELDERS PICA GROUP และในที่สุดเป็น ELDERS FINANCE LTD. ต่อมาอรดีก็กลับมาทำงานที่วอร์ดลีอีกครั้งในปี 2530 คราวนี้ ในตำแหน่งสูงถึงกรรมการผู้จัดการทีเดียว
อรดีเล่าว่า "มันเป็นจังหวะที่เมืองไทยมีโครงการใหญ่ ๆ ทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายอย่างวอร์ดลีก็เสนอตัวเข้าไปให้คำปรึกษาแทบจะทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ทางด่วนยกระดับ ขนส่งมวลชน ปิโตรเคมี"
โครงการ ที่วอร์ดลีกำลังดูอยู่ในเวลานี้คือโครงการเคเบิลใต้น้ำและโครงการใน NPC // COMPLEX
อรดีเผยเคล็ดความสำเร็จในการทำโปรเจกต์ ไฟแนนซ์ ของเธอว่า "ข้อได้เปรียบอยู่ที่บุคลากรที่ดี มีความสามารถ และเรื่องเครือข่ายความชำนาญในทั่วโลก เราสามารถจัดโครงสร้างให้โครงการหนึ่ง ๆ เป็น REAL PROJECT FINANCING ที่เป็นแบบ STAND ALONE คือไม่ต้องดูผู้ถือหุ้นแต่ดูที่ความเป็นไปได้ของตัวโครงการเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนมากนั้นลูกค้าจะพึงพอใจผลงานในด้านนี้ของเรามาก"
ความสำเร็จอย่างเงียบ ๆ ในการทำโปรเจกต์ ไฟแนนซ์ ของวอร์ดลีส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงที่คล่องแคล่วคนนี้ เธอค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากที่ทำแค่เรื่องวิเคราะห์สินเชื่อ บริหารพอร์ตโฟลิโอด้านสินเชื่อแบงก์ มาสู่การจัดหาแหล่งเงินกู้ ทำ LOAN SYNDICATION และ PROJECT FINANCE ในที่สุด
อรดีเชื่อมั่นว่า "ตลาดด้านนี้ยังพัฒนาไปได้อีกไกล"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|