ชัยกับงานศิลปะ และของเก่า


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ชั้นบนสุดของอาคารกรุงเทพประกันภัย ถนนสาทร สถานที่ที่ชัยเพิ่งย้ายเข้ามาใช้เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของกรุงเทพประกันภัยได้ประมาณ 1 ปีเศษ มีห้องห้องหนึ่งถูกสร้างเป็นโถงกว้าง อยู่ภายในบริเวณที่เป็นโดมหลังคา ทำให้ห้องนี้ไม่มีหน้าต่าง

ชัยกำลังตกแต่งห้องนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จะแสดงงานศิลปะ และของเก่า ที่เขาใช้เวลากว่า 30 ปี สะสมเอาไว้ จำนวนประมาณ 570 ชิ้น

วัตถุประสงค์ของเขา เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่สนใจศึกษาเรื่องราวของโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเครื่องปั้นดินเผาในยุคสุโขทัย และเครื่องสังคโลก โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาได้เข้ามาชม

"ของเก่าพวกนี้ถ้ามี แล้วเก็บไว้ไม่ให้ใครดู มันก็ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าคุณค่าของมันเป็นอย่างไร" ชัยให้เหตุผล

นอกจากของเก่ายุคสุโขทัยเหล่านี้ ที่จะถูกนำมาตั้งแสดงไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์แล้ว ในบริเวณห้องโถง ผนัง และมุมห้องตามชั้นต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานของกรุงเทพประกันภัย รวมถึงที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชัยยังนำภาพวาด และงานศิลปะประเภทต่างๆ เช่น งานปั้น งานแกะสลัก ซึ่งเป็นงานในยุคหลังนำไปตั้งแสดงไว้

ชัยเริ่มสนใจศึกษางานศิลปะและของเก่าตั้งแต่สมัยยังเรียนระดับมหาวิทยาลัย และศึกษาอย่างจริงจัง หลังเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้ประมาณ 4-5 ปี

เขาเริ่มซื้องานชิ้นแรกในช่วงนี้ ซึ่งเขาเองก็บอกว่าจำไม่ได้แล้วว่าเป็นงานชิ้นไหน

"ช่วง 10 ปีแรก ก็เริ่มซื้อบ้าง แต่มาซื้อมากที่สุด ก็ประมาณ 20 ปีก่อน"

เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ได้มีการค้นพบแหล่งโบราณวัตถุยุคสุโขทัยที่จังหวัดตาก ในตอนแรกมีนายหน้านำสินค้ามาเสนอขายให้กับชัย แต่เขาดูแล้วไม่มั่นใจว่าเป็นของจริง "เพราะมันสวยเกินไป"

เขาจึงส่งคนของเขาไปดูยังแหล่งที่ขุดพบด้วยตนเอง

ของเก่าเหล่านี้ เป็นถ้วย จาน ชามสังคโลก และสุโขทัย ถูกพบว่าถูกฝังกลบไว้ในดิน

ในช่วงแรกที่มีการขุดพบมีการสันนิษฐานมูลเหตุไว้หลายกรณี บางทฤษฎีก็ว่าน่าจะเป็นสถานที่ฝังศพของคนระดับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในยุคนั้น และบางทฤษฎีก็ว่า อาจจะเป็นคลังสินค้า หรือแหล่งที่พักสินค้า ก่อนที่จะถูกลำเลียงส่งไปขายยังต่างแดน เพราะในแหล่งที่พบอยู่บนเส้นทางเดินทางของสินค้าที่จะลำเลียงผ่านออกไปขึ้นเรือ ในท่าเรือของพม่า

แต่ชัยมองว่าน่าจะเป็นการฝังเพื่อนำสินค้าไปซ่อนไว้ เนื่องจากขบวนขนส่งสินค้า อาจถูกโจรปล้นระหว่างเดินทาง

"เราดูจากสภาพแวดล้อมต่างๆ แล้วก็คิดดูว่าทำไมต้องฝังสินค้าไว้ในดิน ถ้าเราศึกษาดูก็จะรู้ว่าสมัยนั้น มีการปล้นกันมาก ทั้งปล้นสินค้า ปล้นเอาคนไปเป็นทาส หรือปล้นเอาช่างฝีมือเพื่อเอาไว้ใช้งาน คราวนี้เมื่อขบวนสินค้ารู้ว่าจะถูกปล้น ก็เลยเอาสินค้าพวกนี้ไปฝังซ่อนไว้ แล้วภายหลังอาจจะเป็นเพราะถูกจับตัวไป หรือถ้าไม่ถูกจับ ก็จำไม่ได้ว่าฝังของไว้ตรงไหน ของพวกนี้ก็เลยอยู่ที่นี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"

และเมื่อส่งคนไปดูแล้ว ก็พบว่าสินค้าหลายชิ้น ถูกนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกว้านซื้อออกไปก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะของที่มีคุณภาพ มีความสวย และอยู่ในสภาพสมบูรณ์

"พวกญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับของเหล่านี้ ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศของเขาหลายแห่ง มีวัตถุโบราณที่สวยและอยู่ในสภาพดี เป็นจำนวนมากกว่าในเมืองไทยเสียอีก"

นอกจากพวกจานชามยุคสุโขทัย และเครื่องสังคโลกแล้ว ชัยยังสะสมงานเครื่องปั้นดินเผาจากจีน งานแกะสลักหินแกรนิตของเขมร งานปั้นของช่างอินเดีย รวมถึงงานแกะสลักไม้จากพม่า แต่ของพวกนี้เมื่อเทียบสัดส่วนดูแล้ว มีน้อยกว่างานจานชามยุคสุโขทัย

"ปัญหาของเก่าของไทยคือเราไม่มีการบันทึกไว้ว่าของแต่ละชิ้นทำกันที่ไหน และทำในยุคอะไร ต่างจากของจีน อย่างตอนที่ไปพบซากเรือล่มที่พัทยา เมื่อเอาของมาดูแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่าเป็นของที่ทำในยุคไหน ทำที่ไหน เรือที่ขนมาชื่อเรืออะไร และจะนำของไปส่งที่ไหน เพราะเขาบันทึกไว้หมด"

หากไม่นับความชอบเป็นการส่วนตัว เมื่อมองในแง่ของความเป็นนักธุรกิจแล้ว ชัยบอกว่าการสะสมงานศิลปะ และของเก่าของเขา ก็ถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง และของที่สะสมไว้แต่ละชิ้น มีการแยกกันอย่างชัดเจนว่าชิ้นไหนเป็นสมบัติส่วนตัว และชิ้นไหนเป็นสมบัติของบริษัทกรุงเทพประกันภัย

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชัยบอกว่าเขาซื้อของเข้ามาน้อยมาก

เหตุผลก็เพราะว่าไม่มีสินค้าซึ่งเป็นวัตถุโบราณชิ้นใหม่ๆ ออกมาในตลาด เพราะของที่มีคุณภาพ ก็ถูกนักสะสมของเก่าซื้อไปเก็บไว้หมด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.