|

ภัทรประสิทธิ์ยกธงขาว
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
การลาออกจากกรรมการของยศ เอื้อชูเกียรติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2540 ถือว่า ธนาคารเอเชีย ยุคที่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ ถือหุ้นข้างมากเด็ดขาดได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีความหมายว่าภัทรประสิทธิ์คือ ตระกูล ธุรกิจภูธร รายล่าสุด ที่เข้ามาโลดโผนวงใน ธุรกิจการเงินระดับชาติอย่างแท้จริง โดยไม่คาดคิดความยิ่งใหญ่นั้น ผันเปลี่ยนไปในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี
ภัทรประสิทธิ์ ดำเนินธุรกิจ จากประสบความสำเร็จจากฐานการค้าสุราในภาคเหนือค่อย ๆ คืบคลาน เข้าสู่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้ร่วมในกิจการต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเน้นไปที่ธุรกิจการเงินอย่างเด่นชัดตั้งแต่ปี 2535 ในยุคที่ตลาดเงินเปิดกว้างอย่างเต็มที่
พร้อมๆ กับความพยายามเข้าครอบครองหุ้น ให้มากที่สุดในธนาคารเอเชีย ตระกูลนี้ ก็ปลุกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เล็ก ๆ ที่มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ให้กลายเป็น ธุรกิจสมัยใหม่ ท่ามกลางความรุ่งโรจน์อย่างฉาบฉวยของธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ไทย
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา เชิญ ชาญชัย ตุลเสถียร มือการเงินในวงการเข้ามาฟื้นฟูกิจการ ดำเนินไปอย่างโลดโผน และดูเหมือนประสบความสำเร็จ ในเบื้องแรก สามารถเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ให้มีหลักฐานมากขึ้น เมื่อธนาคารนครหลวงไทย เข้าถือหุ้น 10% ในปี 2535 และยามาอิชิ โบรกเกอร์แห่งญี่ปุ่น ถือหุ้น 5% ในปี 2518
จากนั้น ก็ทุ่มการลงทุนอย่างไม่อั้น ในการขยายสาขาทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ที่สำคัญก็คือความพยายามอย่างสูง ในการชิงเก้าอี้โบรกเกอร์ตลาดหุ้นรายใหม่ ในปลายปี 2538 โดยใช้เงินกว่า 300 ล้านบาท
การดำเนินธุรกิจค้าหุ้นเชิงรุกอย่างโลดโผน ภายใต้สถานการณ์ที่เริ่มมีเค้าขาลงอย่างชัดเจน
ในปี 2539 คือปีที่ตระกูลภัทรประสิทธิ์มั่นใจมากเกินไป
นอกจาการลงทุนขยายกิจการในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยาแล้ว พวกเขายังกว้านซื้อหุ้นธนาคารเอเชีย จากทั้งเจริญ สิริวัฒนภักดี พันธิมตรในวงการสุรา ที่ซุ่มถือหุ้นในธนาคารหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเอเชียด้วยการเพิ่มทุนของธนาคารเอเชีย ในช่วงนั้น จำนวน 50 ล้านหุ้น โดยให้ บงล เจ้าพระยา เข้าประมูลรับประกันการขายหุ้นในราคาที่สูงได้สำเร็จ ทำให้พวกเขาสามารถครอบครองหุ้นเพิ่มทุนครั้งนั้นทั้งหมด โดยใช้เงินไปเกือบ ๆ 3000 ล้านบาท
ในปลายปี 2539 ตระกูลภัทรประสิทธิ์ บรรลุเป้าหมายในการครอบครองหุ้นธนาคารเอเชียอย่างเด็ดขาด พร้อมกับการจัดการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหารธนาคารในต้นปี 2540 แต่จากนั้นไม่นาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยก็เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว
การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การเข้ามาของไอเอ็มเอฟ พร้อมกับการปิดกิจการสถาบันการเงินรวมกันกว่า 50 แห่งในเดือนสิงหาคม ปี 2540 ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยารวมอยู่ด้วย
ยังไม่จบแค่นั้น หุ้นส่วนสำคัญของ บงล. เจ้าพระยา -ยามาอิชิ แห่งญี่ปุ่น มีปัญหากิจการอย่างรุนแรงต้องปิดกิจการ ทำให้แผนการฟื้นฟูเพื่อหวังจะให้ธุรกิจการเงินแห่งนี้เปิดขึ้นมาอีกครั้งต้องดับวูบไป
การปิดตัวอย่างสมบูรณ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา ในต้นเดือน ธันวาคม 2540 เป็นสัญญาณว่า ภาระนั้น หนักเกินกว่าที่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ จะแบกรับได้
ธุรกิจในกลุ่มภัทรประสิทธิ์ ที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ๖ ที่สำคัญคือหุ้นส่วนในห้างเดอะมอลล์๗ อุตสาหกรรม ๖ โรงงานผลิตเซรามิค หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องประสบปัญหาทางการเงินไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับแรงกดดันต้องเพิ่มทุนธนาคารเอเชีย ครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้น
อันเป็นที่มาของการยอมให้ธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้น 75% ซึ่งเป็นโมเดลการเข้าถือหุ้นธนาคารไทยของต่างชาติ ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
หนึ่ง-ธนาคารเอบีเอ็นแอมโร เข้าถือหุ้นซึ่งต้องจดทะเบียนตามกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ในจำนวนหุ้นมีสัดส่วน 75% โดยจ่ายราคาหุ้นเพียง 5.27 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเรียกกันว่าเป็นดาวน์หรืออย่างไร แต่จากนี้ธนาคารต่างชาติแห่งนี้ ย่อมใช้สิทธิ์ผู้ถือใหญ่อย่างเด็ดขาดตามกฏหมายไทย
สอง-การจ่ายเงินก้อนแรก เพื่อให้มีกองทุนเพียงพอตามมาตรฐานใหม่ของแบงก์ชาตินั้น เข้าใจว่าผู้ซื้อและผู้ขาย กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งย่อมจะเป็นการดีสำหรับธนาคารของดัชต์แห่งนี้ ที่มีการจ่ายเงินก้อนนี้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในวันข้างหน้า
สาม- เมื่อเขามีอำนาจผู้ถือหุ้นใหญ่เบ็ดเสร็จอยู่ในมือ การทำตรวจสอบสินทรัพย์ การกำหนดมาตรฐานทางบัญชี ย่อมจะเข้มงวดกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ที่ธนาคารเอเชียจะมีมาตรฐานนี้สูงกว่าธนาคารไทยทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์สุทธิ ที่จะกำหนดราคาซื้อขายจริงในอีกปีกว่า ๆ นั้น ย่อมจะออกมาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นต่างชาติรายนี้ อย่างมิต้องสงสัย
ธนาคารเอเชียยุคใหม่ จึงมีความหมายสองนัย มิติแรก จะกลายเป็นธนาคารในไทยที่มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล มาตรฐานทางบัญชีที่เข้มข้น ตามที่ธนาคารชาติ ไอเอ็มเอฟ ต้องการ โดยไม่สามารถ "กลบตัวเลข" อย่างที่ทำ ๆ กันมาอีกต่อไป
แต่อีกมิติหนึ่งผู้ถือหุ้นเดิม โดยเฉพาะตระกูลภัทรประสิทธิ์ก็จะได้รับบทเรียนที่มีค่าในการซื้อขายหุ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพวกเขาเปลี่ยนสภาพจากผู้ซื้อเป็นผู้ขายภายใต้กระบวนการที่อยู่นอกเหนืออำนาจทางการเมือง และอิทธิพลในประเทศไทย
ซึ่งเป็นตระกูลแรกที่ได้บทเรียนที่ว่านั้นอย่างเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วน
27 มีนาคม 2541
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|