ตระกูลเอื้อชูเกียรติ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

จรูญ เอื้อชูเกียรติ เดิมชื่ออื้อจักล้ง เกิดปี 2452 ที่กวางตุ้ง ประเทศจีน พ่อของเขาชื่อ อื้อก้ำเท้ง หรือกำธร เข้ามาเมืองไทยก่อน เป็นผู้จัดการบริษัทประมงไทย

จรูญ มาเมืองไทยเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนมินประพันธ์ และอัสสัมชัญภาษาอังกฤษ (ปี 2466-2470) จากนั้นเข้าทำงานที่ร้านค้าซ่งฮะ หรือแฉล้มนิมิตร ในปัจจุบัน โดยมีหน้าที่ จัดการเรืองภาษี และทำเอกสารนำเข้าสินค้าจากยุโรปและสหรัฐ

แต่งงานกับสาวจีน เจี่ยหุยคง ซึ่งต่อมามาเมืองไทย เปลี่ยนชื่อเป็นมลิวัลย์ มีบุตร 6 คน วิชัย ลาวัณย์ เกียรติ ยศ วิไลพรรร และศักดิ์ ภรรยาอีกคนชื่อ ดีรักษ์ มีบุตร 5 คน เรวดี สุดาจันทร์ พอตา และสำคัญ

จากนั้น ก็ไปเป็นผู้ช่วยกัมปะโดร์บนเรือ ขนส่งสินค้า และผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ บ้านดอน อยู่ 5 ปี ก็เปลี่ยนเส้นทางข้ามประเทศ กรุงเทพ-อินโดจีน ผ่านเกาะสีชัง ระยอง จันทบุรี และเกาะกง ต่อมา เขากลายเป็นพ่อค้ายุคแรก ๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ร่ำรวย

ปี 2498-2512 เขาเริ่มลงทุนอุตสาหกรรม ตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกแห่งแรกของไทย ชื่อไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมไม้ อุตสาหกรรมนมกระป๋อง ที่สำคัญบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยหรือไทยออยล์

ที่ไทยออยล์ จรูญ เป็นผู้อำนวยการใหญ่ในช่วงปี 2501-2507 เขาตัดสินใจขายกิจการนี้ให้เชาว์ เชาว์ขวัญยืน เพื่อมาซื้อหุ้นธนาคารเอเชียในปี 2508

ธนาคารนี้เดิมเป็นสาขาของธนาคารโอเวอร์ซีไชนิส สำนักงานที่สิงคโปร์ เลิกกิจการในเมืองไทย เพราะสงครามจีนกับญี่ปุ่น และทางการไทยจับได้ว่าขนเงินออกนอกประเทศ

ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีการคลัง และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นสั่งถอนใบอนุญาตและรับโอนกิจการ มาตั้งธนาคารใหม่ชื่อ ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ 1. ปล่อยสินเชื่อให้คนไทย 2. แหล่งเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. เป็นที่ฝึกงานของผู้เรียนธรรมศาสตร์ 4. ช่วยเหลือผู้ฝากเงินธนาคารโอเวอร์ซีไชนิส

ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนาคารมีความสัมพันธ์กับคณะราษฏร์ ซึ่งมีอำนาจในช่วงนั้น หน่วยงานสำคัญของรัฐ เช่น กรมสรรพสามิต สำนักงานสลากกินแบ่งฯ การรถไฟ มาฝากเงิน ทำให้ฐานะมั่นคง และไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีสายสัมพันธ์กับคณะราษฏร์ มาใช้บริการ เช่น ชวน รัตนรักษ์ จุลินทร์ ล่ำซำ มา บุลกุล รวมทั้งเป็นฐานการเงินให้กับนัการเมือง ในกลุ่มอีกด้วย

8 พฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหารโค่นรัฐบาลคณะราษฏร์ นำโดยผิน-เผ่า -สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ธนาคารแห่งเอชียฯ ถูกตรวจสอบ ทวี ตะเวทิกุล ต้องออกจากตำแหน่งกรรมการ จุลินทร์ ล่ำซำ เข้าบริหารแทน แต่อยู่ได้เพียง 2 วัน กระทรวงการคลังก็ถอนใบอนุญาตและเข้าควบคุม

ธนาคารเปิดใหม่อีกครั้งในวันที่ 11 มิถนายน 2491 ซึ่งก็คือเป็นยุคธนาคารแห่งเอเชีย ได้เข้าเป็นฐานการเงินของอำนาจทางการเมืองใหม่ โดยเฉพาะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเขามาเป็นประธานธนาคารแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2494 โดยมีสัญญา ยมะสมิต กรรมการคนหนึ่งของบริษัทข้าวไทยของรัฐบาล เป็นกรรมการผู้จัดการ -2492-2501- จากนั้นทองดุลย์ ธนะรัชต์ เป็นกรรมการผู้จัดการ -2501-2507

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ สิ้นชีวิต ธนาคารแห่งเอเชีย ก็เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

ต้นปี 2508 จรูญ เอื้อชูเกียรติ มีหุ้นส่วนในบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ของกลุ่มซอยราชครู ได้ซื้อหุ้นจากน้องชาย จอมพลสฤษดิ์

จรูญ ได้ชวนตระกูลเตชะไพบูลย์ ผ่านทางลูกเขยของเขา-เสฐียร เตชะไพบูลย์ และตระกูลคัณธามานนท์ ซึ่งดำเนินธุรกิจขายลังเบียร์ ให้บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ มาร่วมทุนด้วย

ปี 2519 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเอเชีย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.