ชัย โสภณพนิช "ผมยังรีไทร์ไม่ได้"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ชัย เป็นโสภณพนิชอีกผู้หนึ่ง ที่มีบทบาทสูงในธุรกิจของตระกูล แม้กิจการหลัก 2 แห่ง ที่เขาดูแลอยู่คือ กรุงเทพประกันภัย และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีรายได้รวมเกินออกไปจาก 100 อันดับแรก เพียงเล็กน้อย แต่ทั้ง 2 กิจการ ก็มีสีสัน และพัฒนาการที่น่าสนใจ ที่สำคัญ ทั้ง 2 กิจการได้สะท้อนให้เห็นบุคลิก และตัวตนของเขาได้ดียิ่ง

ปีนี้ ชัย โสภณพนิช มีอายุครบ 59 ย่างเข้าสู่วัย 60 ซึ่งหากเป็นคนปกติ ก็เป็นเวลาที่เตรียมตัวรีไทร์จากงาน เพื่อออกไปใช้เวลาส่วนใหญ่ให้กับครอบครัว

แต่ชัยยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

"ผมยังมีภาระ หากคิดจะรีไทร์ช่วงนี้คงลำบาก" ชัยบอกกับ "ผู้จัดการ"
ชัยเป็นลูกคนที่ 5 ของชิน โสภณพนิช ที่ผู้เป็นพ่อมอบความไว้วางใจให้ค่อนข้างมาก

เขายังเป็นคนที่มีความรักพี่รักน้องสูง โดยไม่เลือกว่าจะมาจากสายไหน

ในจำนวนกิจการที่ชินเป็นผู้ก่อตั้ง นอกจากธนาคารกรุงเทพแล้ว บริษัท กรุงเทพประกันภัย ก็เป็นอีกกิจการหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน

ชัยถูกวางตัวให้เป็นผู้รับผิดชอบกิจการแห่งนี้ตั้งแต่เขาเรียนจบทางด้านบริหารธุรกิจ มาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2511 และในปี 2519 ชินก็ได้มอบบทบาทในการควบคุมกิจการกรุงเทพประกันภัยแก่เขาอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ชาตรีผู้เป็นพี่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธนาคารกรุงเทพ

นอกจากกรุงเทพประกันภัย ชัยยังเคยมีส่วนเข้าไปช่วยดูแลกิจการของกรุงเทพประกันชีวิต ก่อนที่จะวางมือปล่อยให้เชิดชู น้องชายคนเล็กเข้ามา รับช่วงดูแลต่อในภายหลัง

ส่วนกิจการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวที่ตั้งขึ้นมาในช่วงหลัง เขาก็ได้เข้าไปรับผิดชอบอย่าง เต็มตัว ตั้งแต่คิดริเริ่มก่อตั้ง ในปี 2518


"ธุรกิจที่ผมเกี่ยวข้องโดยตรง หรือเกี่ยวข้องมากหน่อย คือทั้งประกันชีวิต ประกันภัย และโรงพยาบาล มันเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความเป็นอยู่ ความตาย ความ ลำบากของคน"

การที่ต้องเข้าไปรับผิดชอบในกิจการที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากธุรกิจ การเงินทั่วไปเช่นนี้ ทำให้ชัยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องราวของชีวิต ไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวของธุรกิจ
นอกจากนี้ เขายังเป็นคนที่ชอบสะสมงานศิลปะ และของเก่า ทำให้เขาต้อง เข้าไปสนใจศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์

ชัยเป็นคนยึดมั่นในศาสนา และมีความเชื่อแบบไทยๆ ในต้นปี 2530 ซึ่งเป็น ช่วงที่ชินกำลังป่วยหนัก เขาตัดสินใจไปบวช ที่วัดเทพศิรินทร์ และเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนครถึง 16 วัน

เขามีความหวังว่าด้วยอานิสงส์จากการบวชของเขา จะส่งผลทำให้อาการของชินทุเลาขึ้น

หลังจากสึกจากการเป็นพระ ในวันมาฆบูชาของทุกปี ชัยจะต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดแห่งนี้ และค้างคืน เพื่อนั่งวิปัสสนา

ในช่วงหลัง เขาได้พาพนักงานในสังกัดที่เขารับผิดชอบไปร่วมทำบุญด้วย จน ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพนักงาน กรุงเทพประกันภัย และโรงพยาบาลบำรุง ราษฎร์ ที่ต้องไปทำบุญร่วมกับชัยทุกๆ ปี

"ผมทำอย่างนี้ต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว"

(อ่านรายละเอียดใน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนเมษายน 2545)

โดยบุคลิก แม้คนภายนอกจะไม่ค่อยเห็นรอยยิ้มปรากฏอยู่บนใบหน้าของชัยได้บ่อยครั้งนัก แต่แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นคนที่มากด้วยอารมณ์ขัน และพนักงานของเขาทุกคน ล้วนยืนยันว่าเขาเป็นคนใจดี

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ใบหน้าของเขาไม่บ่งบอกเลยว่า เขาเป็นคนที่มีอายุใกล้ 60 ปีเข้าไปแล้ว

บุคลิกที่สำคัญที่สุดของชัย คือเขาเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีความ เชื่อมั่นในตัวเองสูง

ในตอนเด็ก หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ชัยถูกชินผู้เป็นพ่อ ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ชาญ และโชติ พี่ชาย 2 คนของเขา ที่ได้เดินทาง ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

"ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเกาหลี และมีข่าวว่าอเมริกาจะเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ที่พรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน เพื่อกันไม่ให้ทหารจีนเข้ามาช่วย คนก็เลยกลัวกันว่าจะเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 พ่อก็เลยคิดจะส่งให้ลูกไปอยู่เมืองนอก ซึ่งตอนนั้นออสเตรเลียถือเป็นเมืองนอกที่อยู่ใกล้ที่สุด และยังมีคนไทยไปเรียนอยู่น้อยมาก" เขาเล่า

ลูก 4 คนแรกของชิน ที่เกิดกับบุญศรี ซึ่งประกอบด้วยชาญ โชติ ชัย และชดช้อย ทั้ง 4 คนถูกส่งไปเรียนที่ออสเตรเลียตั้งแต่ยังเด็ก และเมื่อเรียนจบชั้นมัธยม ก็จะเรียนต่อ ในระดับปริญญาตรีที่นี่กันเลยทุกคน

ยกเว้นชัยเพียงคนเดียวที่ขอไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา

ส่วนเชิดชู ลูกชายคนเล็กถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ ตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมหาวิทยาลัย

ชัยบอกถึงการตัดสินใจไปเรียนในสหรัฐอเมริกาช่วงนั้นว่า เพราะไม่ต้องการอยู่ใน ความดูแลของชาญ และโชติ

"ผมไปอเมริกาเพราะจะได้ไม่ต้องมีพี่ชาย 2 คน มาคอยดูแล"

การที่ได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ทำให้ชัยมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนัก ต่อระบบการศึกษาของไทยในช่วงที่ผ่านมา

"ในเมืองไทย ห้องเรียนหนึ่ง มีนักเรียนถึง 30-40 คน และระบบการศึกษาของเราคือนักเรียนต้องฟังอย่างเดียวห้ามถาม ถ้าถามแล้วเดี๋ยวคนอื่นจะมองว่าไม่ฉลาด และ เมื่อต้องการจะเรียนให้เจาะลึกลงไปหน่อยก็ต้องไปเรียนพิเศษ แล้วอย่างนี้เด็กจะเอาเวลาว่างจากไหน เวลาก็ไม่มี โอกาสที่เด็กจะได้ออกกำลังกายก็ไม่มี"

ลูกๆ ของชัยทุกคน จึงถูกเขาส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก โดยเป็นการไปเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย จนถึงระดับปริญญาตรี

ชัยแต่งงานกับนุชนารถ ศุภพิพัฒน์ ลูกสาวของเจ้าของโรงสี และกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มีลูกด้วยกัน 5 คน เป็นลูกสาว 4 และลูกชาย 1

เขาวางพื้นฐานการศึกษาโดยให้ลูกๆ ของเขาทุกคนเข้าเรียนระดับประถมจนถึงมัธยมต้นในเมืองไทย

ลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ส่วนลูกชายเรียนที่สาธิตประสานมิตร

หลังเรียนจบมัธยมต้นในเมืองไทย เขาส่งลูกทุกคนไปเรียนต่อระดับมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา โดยทุกคนได้เข้าเรียนที่ Oregon Episcopal school ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน

"โรงเรียนนี้เป็นของศาสนาคริสต์สายกลาง ที่ไม่เข้มงวดเท่าคาทอลิก แต่ก็เข้มกว่า เพรสไบเซนทีเรียน"

รัฐโอเรกอนเป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันตกของสหรัฐฯ การที่ชัยส่งลูกมาเรียนที่นี่ จะแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ที่มักจะถูกส่งไปเรียนในฝั่งตะวันออก

แต่เขามีเหตุผล เพราะมีครอบครัวของคนอเมริกันที่เกษียณแล้วครอบครัวหนึ่งที่เขารู้จักเป็นอย่างดี คอยดูแลลูกๆ ของเขาให้

"โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำ 1 ใน 2 แห่งที่ดีที่สุดของเมืองพอร์ตแลนด์ ห้องเรียนห้องหนึ่งมีนักเรียนเฉลี่ยประมาณ 12-15 คน และการจัดโต๊ะเรียนก็ไม่ใช่เรียงเป็นแถวแบบของไทย แต่ใช้จัดเป็นแบบวงกลม หรือรูปตัวยู"

หลังลูกๆ แต่ละคนเรียนจบระดับมัธยม ในการเลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรีในแต่ละสาขา ชัยบอกว่าเขาให้ลูกๆ เลือกโดยอิสระ ไม่ได้บังคับ

ชนิดา ลูกสาวคนโตปัจจุบันอายุ 30 ปี หลังเรียนจบชั้นมัธยม ได้ไปเรียนปริญญา ตรีทางด้านการเงิน ต่อที่ Rochester University รัฐนิวยอร์ก และเข้าทำงานกับมอร์แกน สแตนเลย์ ที่สิงคโปร์ 1 ปี ก่อนที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่ Massa- chusettes Institute of Technology (MIT) และได้กลับมาเมืองไทยในปี 2541 โดยเริ่มงานที่แรกในธนาคารกรุงเทพ

ปัจจุบัน ชนิดาเป็นกรรมการบริหาร ของบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์แห่งใหม่ของธนาคารกรุงเทพ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น

เลอลักษณ์ ลูกสาวคนที่ 2 ปัจจุบันอายุ 28 ปี จบปริญญาตรีทางด้านสถาปัตย์ จาก Smith College หลังเรียนจบได้ทำงานหาประสบการณ์อยู่ 2 ปี ก่อนที่จะเข้าเรียนต่อปริญญาโททาง Interior และสถาปัตย์ ที่ Rhode Island School of Design เพิ่งเรียนจบเมื่อปีที่แล้ว และกำลังทำงานหาประสบการณ์อยู่ในสหรัฐฯ

ชวาล ลูกชายคนที่ 3 ปัจจุบันอายุ 26 ปี จบปริญญาตรีจาก Rochester Institute of Technology นิวยอร์ก และเพิ่งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาประกันภัยอยู่ที่ St.Johns University

ชวนี ลูกสาวคนที่ 4 ปัจจุบันอายุ 24 ปี จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ และภาษาจีน จาก Wellesley College ปัจจุบันกำลังศึกษาภาษาจีนอยู่ในกรุงปักกิ่ง และเตรียมตัวจะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านการบริหารโรงพยาบาลที่ Columbia University นิวยอร์ก โดยจะเดินทางไปในเดือนกันยายนที่จะ ถึงนี้

ลสา ลูกสาวคนสุดท้อง ปัจจุบัน อายุ 22 ปี กำลังเรียนระดับปริญญาตรีทางด้าน International Relations และภาษาจีน อยู่ที่ Wellesley College ในชั้นปีที่ 3 โดยพื้นฐานเป็นคนชอบทางด้านกฎหมาย เมื่อเรียนจบคาดว่าจะเรียนในระดับปริญญาโททางด้านกฎหมายต่อในสหรัฐอเมริกา

ในวัยที่อายุใกล้ 60 ปี วันนี้ชัยยังคงต้องทำงานหนัก เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายปี กว่าที่ลูกๆ ทุกคนของเขาจะเรียน จบแล้วกลับมาอยู่เมืองไทย

ในทางธุรกิจ เขาคงต้องตั้งความหวังไว้กับชวาล และชวนี ลูกคนที่ 3 และ 4 มากเป็นพิเศษ

นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาบอกว่าเขายังมีภาระ ถ้าต้องรีไทร์ในช่วงนี้คงทำ ได้ลำบาก

เพราะเขายังต้องใช้เวลาอีกระยะ กว่าที่ลูกทุกคนโดยเฉพาะชวาลและชวนีจะเรียนจบ และสามารถรับภารกิจการสืบ ทอดต่อจากเขาไปได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.