|
มีชัย วีระไวทยะ บริหาร NGO อย่างธุรกิจเอกชัย
โดย
บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อ18 ปีที่แล้ว มีชัย วีระไวทยะ เริ่มก่อตั้ง องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (Non Goverment Organization หรือ NGO) ในรูปของสำนักงานการวางแผนครอบครัวและชุมชนด้วยทีมงานที่ดึงกันออกมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เขาทำงานอยู่ กับอีกส่วนหนึ่งที่ประกาศรับสมัครทางหน้าหนังสือพิมพ์เพียง 25 คน ด้วยเงินทุนก้อนแรกจากกระเป๋าส่วนตัวและความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศ เพียง 2,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 40,000 บาท
จนปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาเป็นหน่วยงาน NGO ที่ใหญ่ที่สุด ของประเทศไทยในนามสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายต่อปีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ 600 คน มีสำนักงานสาขา 14 แห่ง และมีอาสาสมัครกว่า 12,000 คน ครอบคลุมเครือข่ายการทำงานทั่วประเทศถึง 16,000 หมู่บ้าน
ในจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำมีแพทย์และพยาบาลรวมกันอยู่ด้วยกว่า 50 คน มากกว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง!!!
สมาคมแห่งนี้ มีคณะกรรมการที่ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณที่ดีทางสังคม ถึง 16 คน ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์มนัสวี อุณหนันท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์เทพพนม เมืองแมน พลตำรวจเอกวิสิษฐ์ เดชกุญจร ร่วมเป็นอุปนายก หรือนักธุรกิจอย่างเช่น อากร ฮุนตระกูล แห่งโรงแรมอิมพิเรียล ประสิทธิ ตันสุวรรณ แห่งปูนซิเมนต์ไทย จุไรรัตน์ บี.โบไนเธิร์น ประธานกรรมการ บริษัท มีโร ลูกสาวของรัตน์ ศรีไกรวิน แห่งบริษัทสวีเดน มอเตอร์ ร่วมเป็นกรรมการ
ส่วนมีชัย วีระไวทยะ ยังคงรั้งตำแหน่งเลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคม ตลอดมาตั้งแต่วันก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
ความยิ่งใหญ่ของสมาคมคงไม่อาจสรุปจากมูลค่าทรัพย์สินขององค์กรและการได้คนมีชื่อเสียงเข้าร่วมให้การสนับสนุนซึ่งมีชัยได้ชัดเจน เพราะดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว เช่นเดียวกับชื่อของเขาที่ได้กลับกลาย เป็นชชื่อที่เรียกขานถุงยางอนามัยเมื่อหลายปีก่อนและตราบเท่าทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าจะวิเคราะห์หรือจับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสมาคม ได้นำมาซึ่ง ความสำเร็จทุกครั้งของสมาคม
เมื่อสมัยรณรงค์การวางแผนครอบครัวนั้น เราใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยไม่ออกจากที่ทำงานไปไหนเลย เพื่อศึกษาถึงรายละเอียด ทุกแง่มุม ทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระทั่งเรื่องศาสนา
"ผมศึกษาพระไตรปิฏกอย่างละเอียด เพื่อให้รู้ว่า การคุมกำเนิดจะขัดกับหลักศาสนา หรือไม่ ก็ไปพบคำสอนว่าการเกิดเป็นเหตุแห่งทุกข์ นั่นเป็นประเด็นที่พระพุทธเจ้า เองก็ได้มองเห็นมาแล้วเมื่อ 2,500 กว่าปี" มีชัย กล่าวถึงตัวอย่างการเตรียมตัวด้านข้อมูล
เวลานั้น เขาลงดำเนินการรณรงค์ทุกรูปซึ่งเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว
ในช่วงระหว่างการรณรงค์นอกจากจะมีแผนงานแน่นอนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ในแต่ละวัน ตัวของมีชัยเอง ก็จะพกพาถุงยางอนามัยติดตัวไปด้วยทุกหนทุกแห่ง เพื่อเตรียมไว้แจกแก่ผู้พบเห็น ไม่ว่าจะอยู่บนเครื่องบิน รถไฟ รถเมล์ หรือแม้แต่ในร้านอาหารที่เขาพาครอบครัวไปนั่งกินข้าวกันในวันหยุด
เขากล่าวว่า ถ้าจะวัดความสำเร็จของสมาคมออกมาเป็นตัวเลขคงลำบาก แต่สิ่งหนึ่งที่เขาดีใจมาก ก็คือในปัจจุบันนี้ ทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว และคุมกำเนิดของคนไทย ได้เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง แม้แต่ในชนบทห่างไกล เป็นเพราะทุกหน่วยงานได้หันมาให้ความสนใจในด้านนี้อย่างจริงจัง
จากสถิติการเกิดของคนไทยที่เพิ่มขึ้นถึงปี ละ 4.2% เมื่อปี 2517 ในปีที่เริ่มรณรงค์การวางแผนครอบครัว มาเหลือเพียง 1.4% ในปัจจุบัน คงจะเป็นตัวเลขวัดผลการรณรงค์ของเขาได้บ้าง
เรื่องโรคเอดส์ ซึ่งใครต่อใครออกมาโวยวายให้ข่าวเสียใหญ่โต เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการหยุดยั้งมันโดยด่วน จนกลายเป็นความขัดแย้งที่จับต้นชนปลายกันลำบาก เมื่อต้นปี 2530
แต่พอมีชัย จับเรื่องเดียวกันนี้ กลับกลายเป็นว่าได้รับความสำเร็จค่อนข้างดีในปัจจุบัน
กระแสต่อต้านลดน้อยลง ความร่วมมือจากภาครัฐบาลและหน่วยงานเอกชน มีมากขึ้น อย่างไม่น่าเชื่อ
"ผมคิดว่า เราต้องเข้าใจถึงทัศนคติ และพฤติกรรมของคนไทย ตลอดทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างละเอียดถ่องแท้เสียก่อน จึงค่อยวางแผนรณรงค์ สมาคมของเรารณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ไม่ค่อยได้รับแรงต่อต้านจากใคร มีแต่ความร่วมมือให้ผมได้มีโอกาสได้ชี้แจงถึงภัยภิบัติของมันและวิธีที่จะป้องกันมันได้" มีชัย กล่าวถึงวิธีการทำงาน ในการประสานงานกับหน่วยงานอื่น
มีชัยเอาตัวเองทุ่มไปอย่างสุดตัวก่อนที่จะรณรงค์ ในวงกว้าง ภายใต้ชื่อโครงการ "ไทยสู้เอดส์"
เขาขอเข้าพบและชี้แจงต่อผู้นำในภาครัฐบาลและเอกชนด้วยตนเอง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงปลัดกระทรวง อธิบดีกรมกอง และกองทัพขอแรงสนับสนุน ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และแนวทางป้องกัน หรือแม้แต่ผู้นำทางสังคมอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และอีกหลายคน ก็ไม่เว้นที่มีชัยจะเข้าไปชี้แจงด้วยตัวเอง
ซึ่งจะเห็นว่าได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะมีการตั้งคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติขึ้นมาในปัจจุบัน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงสาธารณสุข ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
ได้รับความร่วมมือจากระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ได้รับความร่วมมือจากองทัพ
ทางภาคเอกชน ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทห้างร้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นตัวเงินและการผลิตเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อสู้กับการคุกคามของโรคเอส์ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ประมาณกันว่า แต่ละแห่งที่ให้การสนับสนุน ต่างก็ทุ่มเงินลงไปไม่น้อยกว่าล้านบาททีเดียว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) บริษัทเอวอน คอสเมติก บริษัท ทีซีมัยซิน บริษัทฮีโร่ มัยซิน บริษัทประกันชีวิต เอไอเอ บริษัทโอกีวี และบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่มีชื่อเสียงเกือบทุกบริษัท
การณรงค์ในวงกว้าง ที่ลงไปสัมผัสกับประชาชนถึงสำนักงาน ที่ทำการต่าง ๆ หรือตามชุมชนนั้น มีชัยลงทุนเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในรูปของการบรรยาย เผยแพร่ความรู้และการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยทีมงานจะเป็นคนเตรียมงานอย่างต่อเนื่องเกือบทั้งปีที่ผ่านมา
จากการสำรวจของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เมื่อปี 2530 ปรากฏว่ามีคนไทย ที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เพียง 4% เท่านั้น แต่ปัจจุบัน จากการสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อปลายปี 2533 ปรากฏว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เพิ่มมากขึ้นเป็น 46% ซึ่งเป็นตัวเลขที่พอจะชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างมากทีเดียว
มีคนสรุปถึงองค์ประกอบแห่งความสำเร็จของมีชัย ไว้มากมาย ต่างกรรมต่างวาระ ตลอดเวลา เขาทำงานสมาคม มา 17 ปี บางคนบอกว่า เขามีเซลล์แมนชั้นยอด เป็นนักการตลาดชั้นเซียน เป็นนักประชาสัมพันธ์มือหนึ่ง เป็นนักบริหารและนักการจัดการชั้นนำ และเป็นนักพัฒนาระดับนานาชาติ
ซึ่งสอดคล้องกับรางวัลที่เขาได้รับอย่างเป็นทางการ จากสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ร่วม 100 รายการ เขาได้รับเชิญเป็นกรรมการ เป็นอาจารย์ พิเศษ เป็นผู้บรรยาย ขององค์กรต่าง ๆ มากมายทั่วโลก เรื่องราวของเขาได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ ในหลายประเทศ
อาจมากกว่านายกรัฐมนตรี ของไทยบางคนเสียอีก!!!
เฉพาะดุษฎี กิตติมศักดิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลสูงสุดที่เขาได้รับนั้น มีอยู่สาขา 3 สาขา จาก 3 มหาวิทยาลัย เขาได้รับดุษฏีบัณฑิตสาขาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย monash เมลเบิร์น ออสเตรเลีย รามคำแหง และสาขาสังคมศาสตร์จากมหวิทยาลัยมหิดล
ยังไม่รวมกับความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นเศรษฐกรอาวุโส ของศูนย์ประสานงานเศรษฐกิจ แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก นักวิเคราะห์วิจัยองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศและเป็นนักศึกษาปัญหาที่เขาได้ร่ำเรียนมาโดยตรงอีกต่างหาก
บางคน ถึงกับกล่าวย้ำว่า ถ้ามีชัยทำธุรกิจ เขาจะเป็นนักธุรกิจที่คู่แข่งต้องหนาวทีเดียว แต่ก็โชคดีไป ที่เขาไม่ได้ทำธุรกิจแข่งกับใคร!!
เจ้าตัวไม่ปฏิเสธอะไรสักอย่าง เพราะในตัวเขามีอยู่ทั้งหมดที่กล่าวมา อย่างที่มีคนสรุปรวบยอดไว้ว่า มีชัยเป็นคนที่มีแนวความคิดและทักษะในเชิงธุรกิจและเขารู้จักนำมาปรับใช้กับองค์กร สาธารณประโยชน์ที่ไม่หวังกำไรเป็นตัวเงินเท่านั้น
ในขณะที่หน่วยงาน NGO ส่วนใหญ่ยังขาดแนวความคิดและทักษะในด้านนี้อยู่มากทีเดียว
เหตุแห่งความสำเร็จ ของบทบาทและผลงานของสมาคม ที่เกิดจากการทุ่มสุดตัว ของมีชัย จนมีองค์กรระหว่างประเทศและในประเทศให้การช่วยเหลือในด้านเงินทุนและสิ่งของต่าง ๆ มากมายแล้ว อย่างหนึ่งคือการพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการการพัฒนาบุคลากร อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของภารกิจของสังคม และการพัฒนาระบบข้อมูลที่ทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในปัจจุบัน
โครงสร้างองค์กรสูงสุด ตั้งแต่คณะกรรมการ รองลงมาเป็นเลขาธิการและรองผู้อำนวยการ มีรองผู้อำนวยการคนหนึ่งดูแลทางด้านสายปฏิบัติการและสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยสำนักผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนชนบท 1 และฝ่าย พัฒนาชนบท 2
ส่วนทางด้านสายประสานงานและประเมินผลผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลเอง ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายแผนงาน และประเมินผล ฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคม และฝ่ายประชาสัมพันธ์ และป้องกันโรคเอดส์
การจัดรูปองค์กรมีความชัดเจน ในกิจกรรมและภาระหน้าที่ต่าง ๆ ของคนดำเนินการ มีการกระจายงานรับผิดชอบออกไปตามลำดับชั้น ทำให้ เกิดความคล่องตัว และสะดวกต่อการประเมินผลการทำงาน ไม่แตกต่าง กับการจัดรูปองค์กรทางธุรกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะฝ่ายงานต่าง ๆ นั้น ได้ถูกจัดขึ้นให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าธุรกิจที่พยายามแบ่งสายงานตามกลุ่มของลูกค้า เช่นฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น เป็นฝ่ายที่รับผิดชอบโครงการสร้างผู้ประกอบการในชนบท โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
โดยคัดเลือกเอาบุคคลที่มีแววว่าจะสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในชุมชนที่สมาคมมีโครงการพัฒนาไปแล้วมาฝึกหัด แบบตัวต่อตัว เพื่อให้คน ๆ นั้น มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ตลอดทั้งช่วยชี้ช่องทางในการลงทุน และหาแหล่งเงินทุนให้จนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 ราย นอกจากนั้น ยังเป็นฝ่ายประสานงานการพัฒนาอาชีพในโครงการต่าง ๆ ที่สมาคมนำเข้าไปในชุมชน ส่วนฝ่ายงานพัฒนาชนบทนั้น จะอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมทั้งสมาคม ในสนามที่โครงการลงไป
อีกซีกหนึ่ง ซึ่งมีชัยเป็นผู้ดูแลเองนั้น เป็นงานทางด้านประสานงานกับองค์กรภายนอก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขอความช่วยเหลือ สนับสนุนต่อสมาคม ซึ่งเริ่มตั้งแต่การวิจัยและวางแผนกำหนดโครงการพัฒนาต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเสนอให้ผู้สนับสนุนพิจารณา และประเมินผลการปฏิบัติการตามโครงการเพื่อสรุปส่งแก่ผู้สนับสนุนตลอดระยะเวลา ที่ดำเนินงานของโครงการ อุปมาอุปไมย ก็ไม่ต่างกับฝ่ายผลิต กับฝ่ายขายขององค์กรธุรกิจเอกชน
จากนั้น ก็เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีทบาทอย่างมากในการนำเสนอโครงการและผลงาน ของสมาคมต่อประชาชนในมุมกว้าง ตลอดทั้งการรณรงค์โครงการต่าง ๆ เช่น การป้องกันโรคเอดส์ นั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนก็ยกขึ้นมาอยู่กับฝ่ายนี้โดยเฉพาะ ฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีภาระหนักไปทางด้านการเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนและการประสานงานระหว่างพื้นที่กับผู้ให้การสนับสนุน
"ธุรกิจเพื่อสังคม" ความจริงเดิมเป็นเพียงชื่อโครงการหนึ่งในหลายๆ โครงการ ของสมาคมเท่านั้น แต่เนื่องจาก เป็นโครงการใหญ่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องอีกยาวนาน จึงยกระดับความสำคัญขึ้นมาเป็นฝ่าย
ด้านการวิจัย วางแผน และประเมินผล ถ้าเทียบกับสมาคม เพื่อสาธารณะประโยชน์ด้วยกันแล้วคงไม่มีที่ไหนเทียบได้ เพราะที่นี่มีเครือข่ายสาขา กำลังคน ที่พร้อมจะออกสุ่มตัวอย่าง หรือแบบสอบถามใด ๆ ก็ตามได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังมีเครื่อมือในการวิเคราะห์ที่ทันสมัยเดินเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
อย่างกรณีเรื่องสถิติ เกี่ยวกับโรคเอดส์ นับว่าสมาคมแห่งนี้ มีข้อมูลที่ทันสมัย และเป็นระบบ มากที่สุด อาจพูดได้ดีกว่าข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องบางแห่งเสียด้วยซ้ำ!
ในขณะที่ภาคราชการกำลังเตรียมระบบการจัดเก็บ และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ แต่มีชัย ได้ทำตัวเลขที่ก้าวล้ำออกไปไกลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ไปล่วงหน้าแล้วถึง 10 ปี อันเป็นที่มาของคำว่า เอดส์ร้ายกว่าสงคราม และโครงการไทยสู้เอดส์ ที่ผู้คนให้ความสนใจสนับสนุนมากมายในที่สุด
จากข้อมูลจำนวนผู้มีเชื้อเอดส์ 150,000 คน ในปัจจุบัน ซึ่งความจริงมีมากกว่านี้เป็นเท่าตัว ถ้าไม่รีบหาทางหยุดยั้งมันอย่างจริงจัง ภายในปี 2543 จะมีคนติดเชื้อเอดส์ 3.4 ล้านคน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ปัจจุบัน จำนวน 80,000 คน เพียงปี 2539 คนป่วย จะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 คน
"แต่ถ้ารีบดำเนินการต่อต้านมันเต็มที่ในปีนี้อาจพอหยุดยั้งมันได้บ้าง เช่น ถ้าเริ่มกันปี 2535 ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ปริมาณคนติดเชื้อจะลดลงมาเหลือเพียงหนึ่งล้านคน ผู้ป่วยจะลดลงเหลือไม่ถึง 30,000 คน แต่ถ้าเริ่มช้าไปอีกสองปี คือ ไปทำกันในปี 2537 คนติดเชื้อ จะมากกว่า 2 ล้านคน ในปี 2534 และผู้ป่วยจะสูงถึง 200,000 คนและถ้าไปเริ่มทำกันในปี 2539 ผู้ป่วยจะมีสูงถึง 300,000 คน" รายงานของมีชัยวิเคราะห์เอาไว้
รายงาน ของเขายังวิเคราะห์ไปอีกว่า แรงงานที่อยู่ในวัยทำงานที่มีการติดเชื้อเอดส์และเป็นโรคเอดส์ จะสร้างผลผลิตได้ลดลง และจะมีผลกระทบอย่างมากด้านเศรษฐกิจ อย่างในปี 2535 ประเทศชาติจะขาดรายได้การผลิต ที่ควรจะได้ไปถึง 5,000 ล้านบาท และถ้าช้าไปอีกเพียงสองปี ความสูญเสียจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาท
การทำงานอย่างมีการค้นคว้าข้อมูลผสมผสานกับความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการรณรงค์โครงการทุกอย่าง แต่ทั้งหมดนี้มีชัยเห็นอย่างชัดเจนว่า ความเป็นไปได้ การรณรงค์ทุกโครงการ ย่อมขึ้น กับประสิทธิภาพขององค์กร โดยเฉพาะยิ่งคุณภาพของคนทำงานในองค์กร
มีชัย กล่าวว่าสมาคมพัฒนาประชากรฯ รุ่นบุกเบิก 25 คน ที่เป็นทีมงานชุดแรก นั้นยังอยู่ครบ ในปัจจุบัน และส่วนใหญ่จะขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหารแล้วทั้งสิ้น มีเพียงสองคนเท่านั้นที่เข้ามา เสริมในภายหลัง คือไพโรจน์ ศรจิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและประเมินผลมาจากบริษัทเอสโว่ เมื่อ 7 ปี ที่แล้ว กับ ดร. กวี จุติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสังคม อดีตคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับสมาคม เมื่อปีครึ่งที่ผ่านมา
เราคุยกันตั้งแต่แรกแล้ว ว่างานนี้เป็นงานที่จะต้องเสียสละ ต้องมีใจรัก ถ้าจะหวังความร่ำรวย ที่นี่ไม่มีให้ แต่ทุกคนมีฐานะ มีอยู่กินตามสภาพของสังคม เงินเดือนที่นี่ อาจมากกว่าข้าราชการแต่ไม่สูงเท่าเอกชน ทุกคนมีความสุขได้" มีชัยกล่าวถึงอุดมคติการทำงานของเพื่อนร่วมงาน
พนักงานที่จบปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขา จะได้รับเงินเดือนรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประมาณ 5,000 บาท แล้วแต่หน้าที่ หรือพื้นที่รับผิดชอบ ถ้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็อาจมีพิเศษให้บ้าง
เจ้าหน้าที่ทุกคนจะได้รับการฝึกฝน ทั้งทางภาคปฏิบัติในสนามและการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี และด้านการอบรมในขั้นต่อไป จะพัฒนาขึ้นมาจากการอบรมการช่วยเหลือชุมชนในขั้นพื้นฐานทางด้านสุขภาพ อนามัย การอาชีพ เป็นการอบรมทางด้านความรู้ และทักษะทางธุรกิจ ทั้งด้านการเงิน การตลาด การผลิต การบริหาร การจัดการ โดยการสนับสนุนของบริษัท โมเบิลประเทศไทย การบริหารองค์กรแบบนี้ นี้คือความแตกต่างกับ NGO อื่น ๆ และเป็นเหตุให้ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สามารถดำเนินโครงการพัฒนาสังคมได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในอดีต เมื่อ 6 ปีก่อน บทบาทของมีชัย วีระไวทยะ ได้เงียบลงอย่างเห็นได้ชัด เหตุผล 3 ประการ คือ หนึ่ง เขาเข้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับโฆษกรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ จึงทำให้มีเวลาในการทำงานให้กับสมาคมน้อยลง ประการที่สอง-ผลการรณรงค์การวางแผนครอบครัวได้ลงตัวแล้ว หน่วยงานของรัฐรับไปทำเสียเกือบหมด มีชัยรณรงค์ แต่เพียงการทำหมันฟรีในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้น บทบาทของสมาคม จึงไม่โดดเด่น ประการที่สาม-เนื่องจากภาพรวมของประเทศไทยเจริญขึ้นจนจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว ทำให้เงินช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศ ตัดการช่วยเหลือลง ทำให้สมาคมประสบปัญหาทางการเงินในการทำกิจกรรม
"เป็นความจริง ที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศลดลง เพราะต่างประเทศเห็นว่า ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมากแล้ว และก็มีผลกระทบต่อสมาคมพอสมควร รวมทั้งองค์กรต่ง ๆ ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน ที่อาศัยเงินสนับสนุนจากส่วนนี้ก็กระทบอย่างถ้วนเช่นกัน" มีชัย กล่าวยอมรับ
แต่สมาคม จะต้องดำเนินตามวัตถุประสงค์ต่อเนื่อง มีชัยจึงได้ขายที่ดินมรดก มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ที่พัทยา มาเป็นกองทุนเพื่อนำรายได้จากดอกเบี้ยใช้จ่ายในสมาคม
"ทรัพย์สินที่ผมได้มาจากมรดกนั้น ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ผมไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในอนาคตเมื่อผมตายไปแล้ว ผมก็จะขอแบ่งทรัพย์สินคือบ้านที่ผมอยู่ทุกวันนี้ออกเป็นสองส่วน เพื่อให้กับภรรยากับลูกครึ่งหนึ่ง และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง จะยกให้กับสมาคม" มีชัยกล่าวถึงแผนการขายที่ดิน เพื่อนำรายได้มาจุนเจือ รายจ่ายของสมาคม
การรณรงค์ เรื่องการวางแผน ครอบครัวของมีชัย และสมคมของเขา ผลออกมาในระดับที่น่าพอใจ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาทำมาก ซึ่งว่ากันที่จริง การวางแผนครอบครัว เป็นเพียงจุดเริ่มต้นจุดแรกเท่านั้น ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาความยากจน
มีชัยมีข้อมูลที่ทำให้เขาเชื่อว่า แม้นการรณรงค์คุมกำเนิดการเพิ่มของประชากร จะก้าวหน้าไปมาก สามารถลดการเพิ่มของประชากรลงจากร้อยละ 3-4 เหลือ 1.6% ก็ตาม แต่ยังมีประชาชนในชนบทกว่า 60% ยังมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีถึง 10 ล้านคน ที่มีรายได้เพียงไม่ถึง 3,000 บาทต่อปี ในขณะที่คนรวย ซึ่งมีเพียง 20% ของคนทั้งประเทศ กลับมีส่วนแบ่งรายได้ ถึง 60%ของรายได้ทั้งหมด
สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ท้าทายนักพัฒนาสังคมอย่างเขา
แม้ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมเป็นต้นมา สมาคมมีโครงการต่าง ๆ มาก ถึง 49 โครงการ บางโครงการได้รับการสนับสนุนแบบเฉพาะกิจ พอหมดโครงการไปแล้วก็เลิก แต่บางโครงการซึ่งส่วนใหญ่ เป็นโครงการต่อเนื่องในระยะยาว และก็ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
โครงการที่สมาคม ทำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน มันแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ คือการวางแผนครอบครัว และสาธารณสุขมูลฐาน การรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ โครงการพัฒนาชุมชน โครงการสังคมสงเคราะห์และบรรเทาสาธารณภัยชุมชน โครงการบริการและเผยแพร่ความรู้ และโครงการธุรกิจเพื่อสังคม "งานวางแผนครอบครัว ถือว่าเป็นจุดแข็งที่สุดของสมาคมทั้งในแง่ความสำเร็จและภาพพจน์" คนทำงานพัฒนาสังคม พูดถึงการทำงานของมีชัยให้ฟัง
การวางแผนครอบครัว และสาธารณสุขมูลฐาน นอกจากการรณรงค์ เผยแพร่ความรู้แล้วยังได้รับการอบรมและสร้างอาสาสมัครวางแผนครอบครัว ประจำชุมชนต่าง ๆ ตั้งคลีนิกชุมชน และมีหน่วยบริการเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตามกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านในชนบท ในพื้นที่ราบ และบนภูเขา ศูนย์อพยพ โรงงาน โรงเรียน และชุมชนแออัดในเมือง
ด้านการพัฒนา ได้ทำโครงการพัฒนาชุมชน ออกมาหลายรูปแบบ หลายโครงการ ซึ่งเน้นการกระทำควบคู่ไปกับการรณรงค์วางแผนครอบครัวมาตั้งแต่เริ่มแรก เช่นการยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ การส่งเสริมอาชีพ ยกระดับรายได้ ปรับปรุงสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 43 อำเภอ ใน 11 จังหวัด มีประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุน ประมาณ 113,000 ครอบครัว ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โอ่งน้ำ ฝายกักน้ำ รวมทั้งการปลูกป่า เป็นต้น
โครงการสังคมสงเคราะห์ และบรรเทาสาธารณภัย เป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาฟื้นฟูสมรรถภาพ และเสริมอาชีพ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเด็กกำพร้า ผู้ติดยาเสพติด เยาวชนที่ว่างงาน โดยมีการจัดตั้งศูนย์พัฒน การเคลื่อนที่เข้าไปในบริเวณงานต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน มีเด็กที่อยู่ในการอนุเคราะห์ของสมาคม ประมาณปีละ 170 คน
โครงการฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ เป็นโครงการที่เน้นทางด้านการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการฝึกอบรม สัมมนา ผลิตสื่อ วิจัย และประเมินผล ซึ่งนอกจากจะทำกันเฉพาะภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันทางสมาคม ยังรับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ ให้เป็นผู้ทำการฝึกอบรม ให้แก่ตัวแทนจากประเทศยากจนอื่น ๆ รวมกัน 45 ประเทศ จากทั่วโลก ซึ่งในปีหนึ่ง จะมีการอบรมประมาณ 8 หลักสูตร มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณปีละ 230 คน ขณะนี้อบรมไปแล้วประมาณ 1,700 คน
การเข้าทำงานการเมืองในระยะสั้น ในฐานะรัฐมนตรีช่วยชุดพลเอกเปรม การไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ในฐานะอาจารย์รับเชิญเป็นเวลาสิบปี ช่วงเวลาที่มีชัย และสมาคมของเขา ขาดการสื่อสารกิจกรรมพัฒนาสังคมกับสื่อมวลชนไประยะหนึ่ง จนบางคนคิดว่า สมาคมพัฒนาฯ หยุดการพัฒนาสังคมแล้ว เพราะปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประดัง เช่น ขาดมีชัยเนื่องจากไปสอนหนังสือต่างประเทศ เงินทุนสมาคมร่อยหรอ ขาดการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ
แต่สถานการณ์โรคเอดส์ ทำให้มีชัยกลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปีเศษนี่เอง ทั้งที่ก่อนหน้า สมมาตร ทรอย นักพัฒนาสังคม ที่ลงทุนบินจากอเมริกามาเมืองไทย เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลและคนไทยป้องกันและต่อต้านการแพร่ระบาดเอดส์ ได้กระทำโครงการไปก่อนแต่ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง รัฐบาล สมัยนั้นพลเอกเปรม กำลังรณรงค์ปีท่องเที่ยวไทย ต้องการปกปิดเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว สอง-ตัวบุคลิกสมมาตร ทรอย เป็นคนตรงไปตรงมาแบบอเมริกันชน ไม่สามารถแสวงหาแรงสนับสนุน จากสถาบันเอกชนและรัฐได้
ในด้านกลับกัน มีชัยกลับรณรงค์ เรื่องนี้สำเร็จในเวลาต่อมา หลังจากนั้น ไม่เพียงเพราะปัจจัยด้านบุคลิกภาพ ที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ ตัวยง มีความยืดหยุ่น และมีประวัติการเป็นนักพัฒนาสังคมด้านการวางแผนครอบครัว ที่คนทั้งประเทศรู้จักเท่านั้น หากยังได้การสนับสนุนจากรัฐ ยอมรับความจริงในภัยคุกคามจากเอดส์ด้วย
ถ้ามองในแง่นั้น ก็คงไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะความจริง เรื่องการระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคเอดส์ที่รักษาไม่ได้ตายลูกเดียว มีชัยได้เสนอต่อรัฐบาล ให้หาแนวทางป้องกันตั้งแต่ สมัยที่เขาเป็นโฆษกรัฐบาล ( 2527-2528) แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลพลเอกเปรม เรื่องจึงเงียบไป
เมื่อคนไทยต้องตกตะลึงกับข่าวการแพร่โรคเอดส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากถูกหน่วยงานรัฐปกปิดมานาน เขาถึงได้ถือโอกาสนี้กระโดดเข้ามาทุ่มอย่างสุดตัว อีกครั้งหนึ่งในโครงการ "ไทยสู้เอดส์" ซึ่งได้รับการต้อนรับและการสนับสนุนอย่างล้นหลามในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยกระบวนการวางแผนทำงานที่คลาสสิก ที่สุด
พร้อมกับการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของเขานี่เอง มีชัยได้เริ่มทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคมในเชิงรุกไปด้วย หลังจากที่สมาคมของเขาได้เริ่มต้น ทดลองทำมาแล้วโดยลำพังกว่า 5 ปี
บางคนบอกว่าโครงการธุรกิจเพื่อสังคม หรือ the thai business initative in rural development -T Bird) ถ้าจะมองในแง่กลยุทธ์แล้วจะเห็นว่า เป็นการหันเข้ามาระดมทุน เพื่อการพัฒนาภายในประเทศมากขึ้น หลังจากที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเริ่มมีปัญหา และนับวันจะยิ่งได้รับความสนับสนุนน้อยลงเรื่อย ๆ
เพื่อเป็นโครงการส่งเสริม และสนับสนุนเอกชน ให้เข้าร่วมในการพัฒนาชนบท ซึ่งมีชัยบอกว่า "มิติใหม่ในการพัฒนาชนบท" เพราะไม่ใช่การบริจาคเงินผ่านสมาคม แต่ธุรกิจเอกชน จะได้เข้าเป็นผู้อุปการะหมู่บ้านในชนบทโดยตรง สมาคมเป็นแต่เพียงผู้ประสานงานให้เท่านั้น
เขากล่าวว่า การศึกษาและได้ทดลองทำมานานของสมาคมพบว่า นอกจากความยากจน จะเกิดขึ้นจากความแห้งแล้งโดยธรรมชาติ การพัฒนาและการกระจายรายได้ในภาครัฐบาล ไปไม่ทั่วถึงแล้ว สาเหตุใหญ่อีกอันหนึ่งของพวกเขาก็คือ เขายังขาดทักษะในเชิงธุรกิจอยู่ 4 ลักษณะ คือทักษะในการผลิต การจัดการ การตลาด และการเงิน ซึ่งไม่ใช่ความสันทัดของฝ่ายรัฐบาล และองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์จะทำได้ แต่สิ่งเหล่านี้ มีอยู่ในองค์กรธุรกิจเอกชน อย่างพร้อมมูลอยู่แล้ว
มีชัยบอกว่าประเด็นหลักของโครงการนี้ ไม่ใช่การขอเงินจากบริษัท แต่เป็นการขอความรู้ และทักษะในเชิงธุรกิจ ที่พนักงานของบริษัทมีอยู่พร้อมแล้วไปให้แก่ชาวชนบท เป็นการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน โดยไม่ใช่เป็นการสังคมสงเคราะห์
"เพราะการสอนให้คนรู้จักจับปลาได้ ย่อมดีกว่าการนำปลาไปให้ และถ้าสอนให้เขาเลี้ยงปลา กินเอง ก็ยิ่งดีกว่า" มีชัยกล่าวปฏิญญาในการพัฒนาชนบทไทย
การเข้าสู่โครงการนี้ของธุรกิจเอกชน จะเริ่มด้วยงานธุรกิจ เอกชนเสนอตัวมาเองหรือทางสมาคมเสนอโครงการไปตามกลุ่มเป้าหมายที่เห็นว่าเป็นบริษัทที่มีกำลังพอที่จะช่วยเหลือชาวชนบทได้ โดยมีชัยจะเป็นผู้บรรยายชี้แจงถึงรายละเอียดและเป้าหมายของโครงการต่อผู้บริหารและพนักงานของบริษัทเองเป็นยกแรก
จากนั้น จะเป็นการเลือกคณะทำงานจากเหล่าพนักงานของบริษัท ที่จะให้การสนับสนุนคณะทำงานเหล่านี้ ได้ออกไปดูตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทางสมาคม มีรายชื่ออยู่แล้ว เพื่อเลือกว่าจะเข้าร่วมพัฒนาในหมู่บ้านใด
เมื่อเลือกหมู่บ้านได้แล้วคณะทำงานก็จะร่วมกันศึกษาว่า ความต้องการของชาวบ้านคืออะไร สิ่งที่เขาขาดแคลน และจะต้องดำเนินการเร่งด่วนคืออะไร รวมไปถึง การศึกษาถึงแนวทางการให้การพัฒนาส่งเสริมวิชาชีพ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คณะทำงานเห็นว่าเหมาะสม
ในระหว่างการดำเนินการตามโครงการจะมีเจ้าหน้าที่ของสมาคมคอยประสานงาน เข้าดูแลดำเนินการตามโครงการหรือจะให้พนักงานของบริษัทแต่ละคน หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปประจำอยู่ในหมู่บ้านเองก็ได้
วิธีหลังนี้จะให้ผลดีกว่าการจ้างคนข้างนอกเข้ามาดำเนินการแทนเพราะชุมชนก็จะได้ทักษะทั้ง 4 ดังกล่าวนั้น จากคนที่มีความรู้และประสบการณ์จริง ๆ ในขณะเดียวกันพนักงานของบริษัทก็จะมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้น
มีชัยกล่าวว่า โครงการนี้นอกจากธุรกิจเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ภาพพจน์ที่ดีในสังคมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างให้พนักงานรู้จักเสียสละ สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตโดยการช่วยเหลือคนอื่น ธุรกิจเอกชนหลายบริษัทได้เข้าร่วมโครงการและลงไปในพื้นที่แล้ว หลายบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ขณะนี้ เช่น บริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทขายจักรเย็บผ้าที่มีประวัติยาวนานในเมืองไทย และประสบความสำเร็จอย่างมากในการเปิดศูนย์ฝึกอาชีพตัดเย็บ
โดยเริ่มตั้งศูนย์แห่งแรกที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ก็ได้จบไปแล้ว 3 รุ่น ๆ ละ 15 คน ซึ่งนักเรียนที่จบออกมาก็รวมกลุ่มกันรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งได้เป็นอย่างดี ขณะนี้กำลังจะขยายไปเปิดศูนย์ที่อำเภอไผ่ ขอนแก่น
บริษัทกรุงเทพประกันภัย เข้าร่วมโครงการโดยเลือกเอาหมู่บ้านในเขตอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร โดยชัย โสภณพนิช ได้ไปพบมาด้วยตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงความต้องการของชาวบ้าน เพื่อที่จะทำเป็นโครงการพัฒนาต่อไป
นอกจากนี้ สมาคมยังได้นำโครงการในทำนองเดียวกันนี้รุกเข้าไปกลุ่มธุรกิจเอกชนญี่ปุ่น ที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยโดยเฉพาะ โดยใช้ชื่อเฉพาะกลุ่มขึ้นมาอีกต่างหาก คือ the japan business intiative in rural development หรือ J-BIRD ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการรณรงค์ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสถานทูตญี่ปุ่น
ปัจจุบันนอกจากสมาคม จะมีรายรับจากเงินสนับสนุน ในแต่ละโครงการที่กำลังทำต่อเนื่องอยู่แล้ว สมาคมยังมีรายรับจากเงินบริจาคที่ไม่ระบุโครงการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ มีชัยไปเปิดสาขาขึ้นที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในชื่อ population and development international หรือ PDI โดยมี ดร. เฮนรี่ เดวิด เป็นผู้ดูแล และออสเตรเลียกำลังอยู่ในระหว่างจดทะเบียนขออนุญาต ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานเอกชนต่าง ๆ บริจาคเงินให้แก่สมาคมสามารถนำไปหักภาษีในประเทศของเขาได้
"เพราะการที่เขามาบริจาคที่ประเทศไทยนั้น ไม่สามารถนำไปหักภาษีในบ้านของเขาได้ การไปเปิดสาขาในบ้านเขา จึงเป็นการสะดวกสำหรับเขามากขึ้นในเรื่องภาษี ซึ่งนอกจากสหรัฐฯ กับออสเตรเลียแล้ว ยังมีแผนที่จะไปเปิดสาขาอยู่ในอีกหลายประเทศ ขณะนี้กำลังติดต่ออยู่" มีชัยกล่าวถึงอีกทางหนึ่งในการระดมทุนช่วยเหลือ
นอกจากนี้ สมาคมยังมีหน่วยงานที่ทำรายได้บ้างเล็กน้อย อย่างเช่นคลีนิกและหน่วยบริการเคลื่อนที่ซึ่งเข้าไปตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่คนงานในบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ ในราคาถูก โดยให้นายจ้างเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งลูกจ้างที่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและนายจ้างที่ถือว่าได้บริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมด้วย
ร้านอาหารที่อยู่ในระดับมาตรฐานพอสมควรที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งของสมาคม แต่ก็เป็นรายได้เพียงเล็กน้อย โรงแรมที่เขาค้อประมาณ 30 ห้อง ก็พอทำรายได้เลี้ยงตัวมันเองได้ ซึ่งมีชัยบอกว่ามีแผนการที่จะโอนกิจการนี้ให้ชุมชนบนเขาค้อเป็นผู้บริหารเอง
แม้แต่การเข้าเป็นกรรมการของบริษัทโมบิลออยล์ ไทยแลนด์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่หนทางหนึ่งในการระดมทุนเข้าช่วยเหลือในประเทศของมีชัยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าหลังจากที่เขาเสนอโครงการธุรกิจเพื่อสังคมไปให่แก่โมบิลแล้ว โมบิลก็ได้เสนอให้เข้าไปเป็นกรรมการด้วย เพราะแนวความคิดที่เสนอไปนั้นตรงกับทางบริษัท ที่ต้องการที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์ของบริษัทไปในทางนี้อยู่แล้ว
"ผมก็รับในเงื่อนไขผมว่าเข้ามาเป็นกรรมการ ไม่ใช่เข้ามาช่วยหาเงินเข้าบริษัทล้วน ๆ อย่างกรรมการบริษัททั่วไป แต่เข้ามาขอใช้เงิน โดยขอให้เงินสนับสนุนโครงการ T-BIRD และก็ขอเงินจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในการจำหน่ายสินค้า เริ่มต้นด้วยเงินหนึ่งล้านบาท และขอความช่วยเหลือจากโมบิลให้ช่วยฝึกอบรมความรู้ และทักษะทางธุรกิจให้แก่คนของเรา เพื่อคนของเราจะได้นำความรู้นั้นไปแนะนำต่อชาวบ้านได้ ส่วนเงินเบี้ยเลี้ยงกรรมการที่จะให้ผมเดือนละ 50,000 บาทนั้นผมยกให้สมาคมหมด" มีชัย กล่าวถึงความเป็นมาในการตัดสินใจเข้าไปเป็นกรรมการของโมบิล ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามที่จะหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนทุกรูปแบบ
มีชัยกลับมาพร้อมความสำเร็จของโครงการรณรงค์ไทยสู้เอดส์ และกำลังทำงานพัฒนาสังคมที่ยิ่งใหญ่เพื่อปลุกจิตสำนึกการพัฒนาชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองโดยวิธีการร่วมมือกับสถาบันเอกชน มองในมุมกลับ สิ่งนี้คือกลยุทธ์การบริหารโครงการพัฒนาสังคมที่มีชัยได้แสดงบทเรียนสำหรับผู้ที่ล้มเหลว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|