เจาะกึ๋นฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สคูล

โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ผลการสำรวจสุดยอดบิสสิเนส สคูล ของอเมริกา ในระยะหลัง จะปรากฏว่าฮาร์วาร์ด บิสสิเนศ สคูล ไม่ได้ตำแหน่งแชมป์เฉกเช่นที่ผ่านมาก็ตาม แต่ในความรู้สึกในคนวงการแล้ว ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ฮาร์วาร์ด ยังเป็นหนึ่งตลอดกาลอยู่นั่นเอง

บิสสิเนส สคูล น้องใหม่ที่ก้าวมาทาบรัศมี นั่นเป็นเพียงการขึ้นมาอย่างฉาบฉวยเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือเหล่าน้องใหม่นั้นอย่างมาก ก็เป็นได้เพียง "บิ๊ก" แต่สำหรับฮาร์วาร์ดแล้ว คำที่เหมาะสมที่สุด ก็คือ "เกรท" อันหมายถึงความยิ่งใหม่

ความยิ่งใหม่ของฮาร์วาร์ดนั้นเป็นผลมาจากการสั่งสมอันยาวนานเกือบศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ความเก่าแก่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้คงกะพันชาตรี และสามารถเบียดขับบิสสิเนส สคูลอื่น ๆ ให้ถอยไปอยู่ข้างหลังได้เพราะเงื่อนไขประการสำคัญอยู่ที่อิทธพลของฮาร์ดวาร์ดที่มีต่อโลกธุรกิจอเมริกามากกว่า

อิทธิพลของฮาร์วาร์ด เป็นผลมาจากบรรดาศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้ได้ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของอมริกา 500 บริษัท (หรือที่รู้จักในนามของฟอร์จูน) เป็นจำนวนมากกว่าสถาบันที่ตามมาอย่างไม่เห็นฝุ่น

นอกจากศิษย์เก่าที่ก้าวขึ้นในตำแหน่งสูงสุดแล้ว ในระดับรอง ๆ จากนั้น ก็มีจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงผู้บริหารระดับกลางอีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผู้ประกอบการและผู้บริหารจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาร่ำเรียนคอร์สอบรมเข้มข้นในช่วงสามเดือน

คนเหล่านี้ คือศิษย์เก่านั่นเอง และคนเหล่านี้เองที่เป็นคนสร้างชื่อให้สถาบันแห่งนี้ในเวลาต่อมา

อิทธิพลของศิษย์เก่าเหล่านี้ได้กลายเป็นข่ายใยที่เกื้อหนุนศิษย์เก่ารุ่นใหม่ก้าวกระโดดในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว และนี่คือประโยชน์ประการสำคัญ ของการเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ศิษย์เก่ารุ่นพี่และรุ่นน้องต่างพากันผลักดันซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดข่ายใยฮาร์วาร์ดไปทั่วอเมริกาหรืออาจจะทั่วโลกก็ได้

ความยิ่งใหญ่ของฮาร์วาร์ดนี่เอง ทำให้ผู้คนให้ความสนใจสถาบันนี้อย่างล้นหลาม กระทั่งทำให้มีผู้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับฮาร์วาร์ดเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของสถาบันแห่งนี้ หนังสือส่วนใหญ่ที่เขียนเกี่ยวกับฮาร์วาร์ด ส่วนใหญ่แล้วเป็นการเขียนสิ่งที่ฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สคูล สอนหรือสิ่งที่ฮาร์วาร์ดไม่สอน มากกว่า หรือไม่ก็เป็นการพูดถึงในแง่ทำอย่างไรจึงจะสอบเข้าสถาบันแห่งนี้ให้ได้

สามปีที่ผ่านมา มาร์ค เจพอล เขียน the empire builders power money and ethics inside the Harvard business school ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงในแง่ลบ ในทำนองว่า อาจารย์หลายคนใช้ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งทำมาหากิน ฯลฯ ยังความโกรธแค้นให้กับคณบดีที่ชื่อ แมคอาเธอร์ เป็นอย่างมาก

เมื่อปีที่แล้ว เดวิด ดับบลิว อี วิง อดีตลูกหม้อฮาร์วาร์ด อีวิงได้ เขียน "เจาะกึ๋นฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว" ที่ทรงอิทธิพล นอกจากนี้ เขายังเป็นอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดด้วย ชีวิตของเขากว่าสี่สิบปี วนเวียนอยู่กับสถาบันแห่งนี้ตลอดมา ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่าแกนเรื่องของหนังสือเล่มนี้ จะออกมาในแง่ "โม้" เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอีวิงบอกไว้แต่เริ่มต้นแล้วว่า นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่กล่าวถึงฮาร์วาร์ด จากสายตาของคนในเอง

อย่างไรก็ตาม การโม้ของอีวิงก็มิได้เกินเลยมากจนเกินไปนัก เพราะสถาบันแห่งนี้ได้เป็นต้นกำเนิดความคิด ทางการจัดธุรกิจไปในมณฑลต่าง ๆ มากมาย เป็นต้นว่า ในทางการตลาด ฮาร์วาร์ด เป็นสถาบันแห่งแรกที่แนะนำแนวความคิด "ส่วนผสมทางการตลาด" (market mix) หรือ กฎ 4 พี อันลือลั่นสนั่นยุทธจักรจวบจนปัจจุบัน ในเรื่องความสัมพันธ์ของลูกจ้าง (employee relation) ฮาร์วาร์ดเป็นผู้ริเริ่มปรัชญาของกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ การจัดการแบบมีส่วนร่วมและการแบ่งปันอำนาจ

ในปริมณฑลของการผลิต (Production and operation) ฮาร์วาร์ด เป็นผู้ผนึกสิ่งที่เกิดในโรงงานและในสำนักงานโดยร้อยรวมเข้ากับความสำเร็จขององค์กร ส่วนในทางการเงินนั้น ก็เป็นผู้ริเริ่มทฤษฏีแนวความคิด discounting future cash flow to their present value และในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจก็เป็นสถาบันแรก ๆ ที่ตระหนักในความสำคัญของสิ่งนี้ และนำมาผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจทางธุรกิจ

ส่วนในด้านการศึกษานั้น ฮาร์วาร์ด เป็นสถาบันแม่บท ที่ใช้ในการเรียนการสอนแบบ "กรณีศึกษา" ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการศึกษาด้านวิทยาการการจัดการทั่วโลก

ด้วยสภาวการณ์ ที่อเมริกากำลังตกเป็นรองประเทศคู่แข่งจากเอเชีย เช่นญี่ปุ่น และมีแนวโน้มจะเพลี่ยงพล้ำให้กับเยอรมัน ความทระนงของอเมริกา กำลังเริ่มเสื่อมถอย พวกเขาเริ่มหาหลักยึดเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจว่าพวกเขา ยังเป็นมหาอำนาจเฉกเช่นเดิม หนึ่งในจำนวนสิ่งที่อเมริกาหวังได้ก็คือ ฮาร์วาร์ด นี่เอง เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตผู้นำองค์กรธุรกิจที่ดีที่สุด ที่อเมริกาจะมีได้ ความยิ่งใหญ่ของมันเทียบเท่า กับโรงเรียนนายร้อย เวสป้อยส์แห่งการศึกษาวิชาการทหารเลยทีเดียว

อีวิงเจาะกึ๋นฮาร์วาร์ดจึงยิ่งยงตราบเท่าทุกวันนี้ อะไรหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คงกระพันชาตรีต่อการทำลายล้าง

หากไม่นำบทนำ ซึ่งถือเป็นบทที่เขาแสดงความทระนงตนของฮาร์วาร์ด สุดขีดแล้ว หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือสิ่งที่นักเรียนเรียน ส่วนที่สอง สิ่งที่อาจารย์สอน ส่วนที่สาม การเข้าไปดูเบื้องหลังการทำงานของโปรเฟสเซอร์ และสุดท้ายสิ่งที่โรงเรียนธุรกิจสามารถทำเพื่ออเมริกา

ในแต่ละส่วนก็คือภาพสำคัญ ๆ ของฮาร์วาร์ด ซึ่งแสดงถึงชีพจรชีวิตของสถาบันนี้ อีวิง แม้จะนำเสนอเรื่องราวของฮาร์วาร์ดแบบเชียร์ด้านเดียว แต่การนำเสนอแต่ละตอนแต่ละเรื่องราวของเขามีชีวิตชีวาเอามาก ๆ เพราะมันเป็นผลมาจากการสัมภาษณ์นักศึกษา อาจารย์ ประกอบกับการเข้าไปสังเกตการณ์จริง ๆ ในการเรียนการสอน แต่ละขั้นตอนดังกล่าวที่เขานำเสนอ อีกทั้งตัวเขานั่นแหละ ก็เป็นอาจารย์ในบางวิชาของฮาร์วาร์ด การถ่ายทอดของเขาชัดแจ้งและเข้าถึงบรรยากาศความรู้สึก

ส่วนที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เขากล่าวถึงการเรียนของนักศึกษาผ่านระบบกรณีศึกษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮาร์วาร์ด และด้วยวิธีการสอนเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นตัวเคี่ยวกรำนักศึกษาของฮาร์วาร์ด และในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวก่อให้เกิดความตึงเครียดในหมู่นักศึกษาเช่นกัน

อีวิง เขียนถึงการแข่งขัน เพื่อหาโอกาสเป็นผู้ถกในระหว่างการเรียนในชั้น และการหาวิธีการสยบความเครียดในลักษณะต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนที่กล่าวถึงสิ่งที่โปรเฟสเซอร์ถ่ายทอด

ส่วนที่สอง นี้เป็นคู่แข่งของ what it reall teach as HBS ของฟรานซีส เจ เคลลี่ ได้อย่างสบาย ๆ แต่ในลักษณ์ที่ต่างกันเพราะอีวิง ลงลึกกว่า ทันสมัยกว่า และมีชีวิตชีวากว่า

เขาพาผู้อ่านเข้าสู่อาณาจักรในปริมณฑลสำคัญ ๆ ที่เหล่านักศึกษาเล่าเรียนกันตลอดสองปี ตั้งแต่วิชาการผลิตซึ่งกลับมาเป็นวิชายอดฮิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่อเมริกาเริ่มค้นพบว่าตนเองไปเน้นในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตผลมากจนเกินไปแล้ว

จากนั้นเขากล่าวถึงวิชาพฤติกรรมองค์กรและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร อีวิงกล่าวว่า นี่เป็นวิชาที่เปลี่ยนวิถีทางความคิดของนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ด มากที่สุด และมันเป็นวิชาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกวิชามากที่สุด

อีวิง ออกรสชาติอีกครั้งหนึ่งเมื่อเขาเขียนถึงบทว่าด้วยการตลาด เขาเผยเคล็ดลับในการจัดการลูกค้า และการเป็นผู้บุกตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นเข้าสู่บทว่าด้วยการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้แสวงหาโอกาส ที่เหลือสองบทสุดท้าย คือบทตัวเลข ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยการจัดการเชิงปริมาณและวิชาด้านการเงิน และสุดท้าย ก็คือข้อแนะนำสำหรับการเป็นนักเจรจาและนักตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นสุดท้ายในการเป็นผู้นำองค์กร

ส่วนที่สาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเบื้องหลังการเป็นโปรเฟสเซอร์ ทั้งการอุทิศเวลาให้กับการสอน ซึ่งอีวิงบอกว่าเป็นภารกิจที่ลำบากลำบนมากสำหรับบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย เพราะเขาเรียกบทนี้ว่า ศิลปะการกำราบพยัคฆ์ พูดง่าย ๆ ก็คือการสอนนักศึกษาฮาร์วาร์ด ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหมือนกับการฝึกเสือนั่นเอง เพราะแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่เขี้ยวลากดินทั้งสิ้น ถ้าผู้สอนไม่มีการเตรียมการสอนที่ดี อาจถูกขบกัดได้ ความยากลำบากของผู้สอน นอกจากอยู่ที่การเตรียมการสอนแล้ว ยังอยู่ที่การเขียนกรณีศึกษาด้วย อีวิงบรรยายถึงขั้นตอนและอุปสรรคนานัปการในการเขียนกรณีศึกษาแต่ละชิ้น อย่างไรก็ตามผลที่ได้รับกับคุ้มค่า เพราะกรณีชั้นยอดนั้นจะถูกแพร่ไปทั่วโลก

ในบทสุดท้ายของส่วนที่สาม เป็นเรื่องการจับคู่ของนักเรียนและบริษัท นั่นคือการหางานทำของนักศึกษาในระหว่างใกล้จบนั่นเอง และนี่คือสุดท้ายของการเรียน เพราะการเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดก็เพราะหวังการทำงานในบริษัทดี ๆ และในตำแหน่งที่ดีกว่าเดิมนั่นเอง

ส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นคือส่วนที่โรงเรียนธุรกิจสามารถทำเพื่ออเมริกา อีวิงเขียนบทนี้ได้ไม่ดีมากนักทั้งที่มันเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือ รายละเอียดของบทนี้เป็นอย่างไรเห็นจักต้องไปหาอ่านเอาเอง

เหตุผลเพราะว่า นี่เป็นไคลเม็กซ์ ถ้านำมาเปิดเผยแล้ว ก็เห็นจะคลายความตื่นเต้นไปมาก

อย่างไรก็ตาม อ่านหนังสือเล่มนี้ โปรดทำใจว่าเรากำลังอ่านหนังสือที่คน ๆ หนึ่งที่ผูกพันกับสถาบันหนึ่งกว่าสี่สิบปีและคน ๆ นั้นกำลังเขียนถึงสถาบันที่ว่า ดังนั้นการมองในมุมเดียวเป็นสิ่งปรากฏอยู่ตลอดหนังสือเล่มนี้ คือการนำเสนอได้อย่างมีชีวิตชีวา เพราะการเข้าถึงข้อมูลทั้งนักศึกษาและอาจารย์เอง

ก็ยอมซื้อมาอ่านเถอะ ถ้าคิดว่าอยากเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดรับรองไม่เสียเงินเปล่า


ชื่อหนังสือ inside the harvard business

ผู้เขียน David W.Ewing

ผู้พิมพ์ Times Books

ปีที่พิมพ์ 1990

ผู้จำหน่าย Asia Books Co.,Ltd

จำนวนหน้า 292 หน้า

ราคา 698 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.