หลังสงคราม ดุลอำนาจจะหันมาที่ซาอุ และอียิปต์


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อ่าวเปอร์เซีย ไม่ใช่มีสาเหตุที่เกิดจากการขัดแย้งในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง หรือสงครามอื่น ๆ คราวนี้ ฝ่าย ที่ทำผิดพยายามที่จะต่อสู้ว่าตัวนั้นไม่ผิด ด้วยวิธีการที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่าวัวพันหลัก หรือวิธีการที่เรียกว่า confused the issue ภาษาทางการฑูตพูดว่าใช้วิธี linkage strategy

องค์การสหประชาชาติบอกว่า เหตุเกิดจากการที่ประเทศสมาชิก คืออิรัก ไม่ปฏิบัติตามมติสหประชาติ ที่ให้ถอนทหารจากคูเวต เมื่อไม่ทำก็บังคับให้เป็นไปตามข้อบังคับเท่านั้นเองคือ อนุญาตให้ใช้กำลังทางทหารกดดันให้ภารกิจเสร็จสิ้นโดยเร็ว และเสียเลือดเสียเนื้อน้อยที่สุด ซึ่งมีเป้าหมาย เพื่อผลักดัน ให้อิรักถอนทหารจากคูเวต และคืนอำนาจอธิปไตย ให้คูเวตเท่านั้น ส่วนเรื่องปาเลสไตน์ และอิสราเอล ให้เจรจากันภายหลัง

ฝ่ายอิรักใช้วิธีการต่อสู้ที่เรียกว่า วัวพันหลัก คือ บอกว่าไม่ใช่ แต่ว่าเป็นเรื่องของอิสราเอล เรื่องของปาเลสไตน์ สำหรับมีจุดมุ่งหมายต้องการเข้ามาเป็นใหญ่ในพื้นที่ ต้องการที่จะเข้ามาคุมบ่อน้ำมัน อิรักรู้ตัวว่าถ้าสู้ด้วยกำลังย่อมต่อสู้ไม่ได้ แผนการของอิรักจึงต้องใช้การขยาย linkage เอาโยงกับเรื่องอื่นเพื่อจะใช้เหตุการณ์ขยายวง จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมไปโจมตีอิสราเอล ซาอุฯ แทนที่จะสู้กับสหรัฐ และพันธมิตรเป็นด้านหลัก

ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ ดุลอำนาจในตะวันออกกลาง จะอยู่ทางอิรัก ในตะวันออกกลาง มีพวก funddanentalist หรือพวกหัวรุนแรง กับพวก modernate คือพวกกลาง ๆ อย่างพวกอียิปต์ ซาอุฯ ถ้ามีการยุติสงครามและพันธมิตร สามารถทำตามมติสหประชาชาติได้ องค์การสหประชาาติสามารถเป็นหลักในการควบคุม ก็คงจะมีการเจรจากัน อำนาจจะมาอยู่ทางฝ่ายกลาง ๆ มากขึ้น

ปัญหาอิสราเอลมันเกี่ยวโยงมาจากผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประชาชนชาวอิสราเอล ถูกพวกนาซีเยอรมัน และรัสเซีย ฆ่าตายมากมายนับล้าน คนอิสราเอลกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ เพื่อหนีภัยสงครามและการฆ่า มองในแง่นี้ อิสราเอลก็ควรจะมีถิ่นฐานที่อยู่แน่นอน สหประชาชาติ ก็กำหนดให้อยู่ตรงนี้ ทีนี้ก็มีปัญหาว่า บางประเทศในโลกอาหรับก็ยอมรับ บางประเทศก็ไม่ยอมรับ การต่อสู้จึงเกิดขึ้น

ปัญหาที่ผมเข้าใจอยู่ก็คือ โลกอาหรับบางประเทศ ไม่ยอมรับว่าอิสราเอลเป็นประเทศอยู่ ถ้ายอมรับผมเชื่อ อิสราเอลก็คงยินดี ร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อแก้ปัญหา อย่างปาเลสไตน์ ถ้าหากเขาเป็นเชื้อชาติหนึ่ง เขาควรจะมีถิ่นฐานที่อยู่อันหนึ่ง ตรงนี้ ผมว่าไม่มีปัญหาแต่หมายความว่าจะต้องยอมรับการดำรงอยู่ซึ่งกันและกัน

ประเด็นตรงนี้ มันยุ่งอยู่ก็เพราะว่า ประเทศอาหรับหัวรุนแรงบางประเทศ เช่น อิรัก มีศักยภาพทางทหารมาก แต่ถ้าประเทศกลาง ๆ มีเหตุมีผล อย่างอียิปต์ ซาอุฯ มีพลังอำนาจทางการเมือง การทหารมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ที่จะสำเร็จลง

เมื่อเหตุการณ์ยุติลง ผมเชื่อว่าคงจะต้องมีการจัดองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมาเป็นองค์กรที่จะดูแลความสงบในพื้นที่นั้น ที่สำคัญที่สุดผมเชื่อว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศภายนอกคงจะไม่พยายามเข้าไปเป็นผู้มีบทบาทชี้ขาดอะไร คงจะให้ประเทศในพื้นที่ อย่างเช่นอียิปต์ ซาอุฯ เข้ามาเป็นแกนชักชวนประเทศอื่น ๆ ให้เข้ามาเพื่อรักษาความสงบในพื้นที่

โลกต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องภูมิภาคมากกว่า ในขณะภูมิภาคอ่อนแอหาผู้นำไม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องหาพลังจากภายนอกเป็นเรื่องที่ธรรมดาของภูมิรัฐศาสตร์

ปัญหาตะวันออกกลางเรื่องหวั่นเกรงว่ากำลังจากภายนอกที่จะเข้าไป ผมว่าประเด็นนี้ต้องพิจารณาอยู่สองประการ ว่าพลังภายนอกเข้ามาเพื่อที่จะครอบงำและเข้ามามีผลประโยชน์ หรือเข้ามาเพื่อที่จะช่วยให้กำลังท้องถิ่น มีเวลาสร้างความเข้มแข็งมากกว่า ถ้าเข้าไปครอบงำจะไม่เป็นผลดีอะไร ผมเชื่อว่าสหรัฐฯ ก็รู้ดีในเรื่องนี้

ดังนั้น ความยืดเยื้อในการแก้ปัญหาตะวันออกกลาง จะอยู่ตรงที่หากไม่มีการปรองดองกันระหว่างประเทศในพื้นที่ จนไม่สามารถพูดจากันได้ ก็มีความจำเป็นที่กำลังภายนอกจะต้องเข้าไปถ่วงดุลอำนาจชั่วขณะในรูปของกำลังสหประชาชาติ ตามมติสหประชาติ ผลที่เกิดขึ้นสหประชาติต้องรับผิดชอบ

เพราะเมื่อถึงขั้นปฏิบัติ ใครละที่จะมีกำลังทำตามนั้นได้ ต้องมีคนมีเงิน ให้กำลังคน สหรัฐฯ คงต้องรับบทบาทนี้ แต่คงเป็นในนามของสหประชาชาติมากกว่า

ปัญหาอยู่ที่ว่า จะจัดระเบียบใหม่กันได้ไหม ต้องใช้เวลากันนานเท่าไหร่

สำหรับปัญหาการดำรงอยู่ของอิสราเอล และการหาถิ่นฐาน ที่อยู่ของปาเลสไตน์ เราต้องยอมรับกันในเรื่องหลักความจริงก่อน คือ เมื่อคนเกิดในโลกนี้ ก็ต้องมีถิ่นฐานที่อยู่ การไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอลนี่ไม่ใช่หลักความจริง ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ให้ถูก อิสราเอลควรมีบ้านอยู่ ปาเลสไตน์ก็ควรต้องมีบ้านอยู่ ถ้าไม่เอาอิสราเอลมาพูด จะแก้ปัญหาปาเลสไตน์ได้อย่างไร เพราะอิสราเอลยึดพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนอยู่

ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมเชื่อว่า โลกอาหรับหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียยุติลง กำลังมีการเปลี่ยนแปลงวิเทศโยบาย ไปในลักษณะที่ประนีประนอมมากขึ้น

เพราะผมไม่เชื่อว่าโลกอาหรับจะมีความคิดเหมือนกันหมด ด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอาจจะมีจริง แต่จากการที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาชั่วระยะหนึ่ง นโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่า ความคิดเห็นในกลุ่มอาหรับ จะต้องแตกต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะผู้นำ ประชาชนด้วย เพราะว่าการศึกษาจะมีส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.