การบังคับใช้กฏหมายในการแก้ปัญหามลพิษ

โดย รัฐ จำเดิมเผด็จศึก
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกวันนี้จะแลไปทางไหน ก็มีแต่คนกล่าวขานถึงสิ่งแวดล้อมกันขรมไปหมด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ พบเห็นได้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ต้นไม้ หรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไม่มีการคาดคิดมาก่อน และกลายเป็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักสูงขึ้น หรือการส่งออกอุตสากรรมไปยังประเทศที่ล้าหลัง เพื่อรักษาวงจรอุตสาหกรรมของโลก

สาเหตุที่เป็นปัญหาเบื้องต้นของสิ่งแวดล้อมก็คือ ทุกคนคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และทุกคนใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นของสาธาณะ เมื่อเป็นของสาธารณะแล้วจึงไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแล้ว ซึ่งโดยนิสัยของคน ถ้าสิ่งใดได้ใช้โดยไม่เสียค่าตอบแทนแล้ว จะใช้อย่างไม่มีขีดจำกัด จนเป็นการใช้อย่างเกินขนาด ได้มีการกล่าวไว้ว่า สิ่งแวดล้อมก็เหมือนกับทุ่งหญ้าที่ทุกคนมีสิทธิ์เอาวัวเข้าไปเลี้ยงได้ ถ้าในละแวกนั้นมีการทำปศุสัตว์อยู่ มีฟาร์มรอบ ๆ นั้น 10 ฟาร์ม ทุกฟาร์ม มีวัวเท่า ๆ กัน คือ 50 ตัว ทุ่งหญ้า ก็สามารถจะหมุนเวียนตัวเองได้ หมายความว่า วัว 500 ตัว ในเขตนี้ กินหญ้าไปแล้ว หญ้าก็จะโตทัน หากว่าฟาร์มทุกฟาร์มต้องการเพิ่มผลผลิตโดยการเพิ่มจำนวนวัวฟาร์มละ 2 ตัว โดยคิดว่า ทุ่งหญ้าเป็นของทุก ๆ คน จะบุกรุกเข้าไปเมื่อใดก็ได้ สุดท้ายหญ้าก็โตไม่ทัน ทุ่งหญ้าก็หมดไป เปรียบเทียบกับสิ่งแวดล้อม หากคนสองคน ทิ้งขยะลงแม่น้ำ น้ำก็ยังไม่เสีย หากคนหลายๆ ทิ้งขยะและโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้ น้ำที่เคยใสก็ดำ ฉันใดก็ฉันนั้น จึงเหมือนทุ่งหญ้าที่กล่าวไว้ข้างต้น

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมองถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผู้ผลิตเพราะเหตุว่า นโยบายของผู้ประกอบการค้าคือต้องการกำไรสูงสุด ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ถึงแม้กฎหมายจะควบคุมตั้งแต่ต้น คือ การตั้งโรงงานจะต้องมีใบขออนุญาตตั้งโรงงานโดยจะมีการตรวจดู และอนุมัติแบบแปลนทั้งหมด รวมถึงระบบการขจัดน้ำเสีย และระบบขจัดมลพิษทางอากาศด้วย เมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะเปิดโรงงานจะต้องมีใบขออนุญาตอีกหนึ่งใบ คือใบอนุญาตประกอบกิจการซึ่งกรมโรงงานจะเข้าไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่า ตามที่ขออนุญาตครั้งแรก มีการก่อสร้างและติตตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จริงหรือไม่ เมื่อได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการใบที่ 2 ทางโรงงานจึงสามารถเดินเครื่องจักรได้ แต่ใบอนุญาตนี้จะมีอายุ 3 ปี ในระหว่างนั้น ทางกรมโรงงานจะมีการออกตรวจบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ซึ่งไม่ได้ตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการบางราย จึงไม่เปิดเครื่องบำบัดน้ำเสียหรืออากาศเสีย จุดนี้จึงเห็นได้ว่าการไม่เปิดเครื่องบำบัดน้ำเสีย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ผลเสียหายมิได้เกิดขึ้นกับตัวโรงงานนั้นเอง แต่เกิดขึ้นกับสังคม ดังนี้จึงเห็นได้ว่า ลำพังการมีมาตรการทางกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นแผ่นกระดาษ หาเป็นการเพียงพอไม่ หากสำคัญ อยู่ที่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้กฎหมายสัมฤทธิ์ผล

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า ในประเทศไทยก็มีกฎหมายที่ควบคุมโรงงาน หากแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสาเหตุมาจากเจ้าพนักงานมีการตรวจตราเพียงเป็นครั้งเป็นคราว และระบบกฎหมายของเราเป็นระบบ command and control หรือการสั่งและควบคุม ธรรมชาติของมนุษย์ก็คือ ไม่ชอบให้มีใครมาสั่งหรือควบคุม เมื่อผู้ควบคุมเผลอ ก็จะมีการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจดูโรงงานได้ตลอดเวลา ในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจตราเจ้าของโรงงานก็คงพยายามที่จะหยุดเดินเครื่องจักรบำบัดน้ำเสีย

ในท้ายที่สุด เมื่อเห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมธุรกิจและเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย ก็คงต้องอาศัยภาคเอกชนเองด้วย ซึ่งจะต้องระมัดระวังในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม และการปลูกฝังสำนึกที่ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นของเรา ถ้าคิดว่าเป็นของเราแล้ว ทุกคนมักจะรักและดูแลของตนเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อม เราคงจะคาดหวังให้เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองผู้ปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียวมิได้ หากแต่เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีพันธะร่วมกันที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพี่ดี เพื่ออนาคตของพวกเราเองในวันข้างหน้า เหมือนดังคำขวัญที่ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชีวิตเป็นภัย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.