|

ทูน่า ปลอดภัย แม้มีสงคราม
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
สงครามในตะวันออกกลางนอกจากจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความปั่นป่วน ตลาดหุ้นหลัก ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็พลอยผันผวน ซึ่งก็รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย
ในภาวะสงคราม คนที่มีเงินก็ต้องพิจารณาว่าควรจะไปลงทุนด้านไหน ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด บางคนเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 13-14% เป็นอัตราที่น่าพอใจ ก็อาจจะนำเงินไปฝากธนาคารไว้ ในขณะที่หลายคน ที่คาดว่าภาวะสงคราม น่าจะทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น ก็รีบไปซื้อกักตุนหวังเก็งกำไร ทำให้มีเม็ดเงินบางส่วน ที่ถูกถอนออกจากตลาดหุ้น เพื่อเปลี่ยนไปลงทุน ใน 2 แหล่ง ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีเม็ดเงินใหม่ ๆ หลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในความคิดเห็นของอีกหลายคน มีความมั่นใจว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่น่าสนใจอยู่ นอกจากนี้ เมื่อมองถึงอนาคตจากมาตรการต่าง ๆ ของทางการ เช่น การผ่อนคลาย การปริวรรตเงินตรา รวมถึงการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ออกไปตั้งสำนักงานตัวแทนการค้าหลักทรัพย์ในต่างจังหวัดได้ ทำให้เห็นแนวโน้มได้ว่าอัตราการขยายตัวของตลาดหุ้น ยังคงไปอีกไกลในปีนี้
การลงทุนช่วงนี้จึงควรพิจารณาให้ดี คัดเลือกกลุ่มหุ้นที่จะซื้ออย่างละเอียดควรหลีกเลี่ยงกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาโดยเด็ดขาด
กลุ่ม "อาหาร" เป็นกลุ่มที่นักวิเคราะห์ชื่อดังหลายคนแนะนำให้ซื้อ เพราะหุ้นกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลดี ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังสงคราม
"ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร คนเราก็ต้องกินต้องใช้" ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ กรรมการผู้จัดการบริษัท แบริ่ง รีเสริ์ช เคยกล่าวถึงความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ พรธรรมนูญ อานันโนทัย ผู้แทนประจำสำนักงานบริษัท โนมูระ ซีเครียวริตี้ ในประเทศไทย ที่มองว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้น นักลงทุนควรให้ความสนใจกับหุ้นกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
ในจำนวนหุ้นกลุ่มอาหารที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มผู้ผลิตปลาทูน่าส่งออก จัดได้ว่าน่าสนใจที่สุด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาการยาวนานกว่า 10 ปี และปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ต่าง ๆ เริ่มจะเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านที่ตั้งของประเทศที่อยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางการค้าของปลาทูน่า และการที่ไทยมีค่าจ้างแรงงานต่ำจนสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ที่เคยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในอดีตเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเกาหลี
ประมาณกันว่าในปี 2533 ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องส่งออกของไทยอยู่ในระดับ 300,000 เมตริกตัน ซึ่งสูงจากที่เคยผลิตได้ 145,000 เมตริกตัน ในปี 2530 มาก ในด้านมูลค่าการส่งออกในปี 2533 ก็คาดว่าจะทำได้ถึง 17,500 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านบาท ในปี 2534 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 43%
บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่าส่งออก ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีอยู่ด้วยกัน 4 บริษัท ได้แก่ยูนิคอร์ด สงขลา แคนนิ่ง ทรอปิคอลแคนนิ่ง และมีสุราษฎร์แคนนิ่ง ที่เพิ่งจะก้าวเข้ามาในธุรกิจทูน่า หลังจากที่เคยเน้นหนักในด้านการผลิตกุ้งและปูบรรจุ กระป๋อง โดยการประกาศโครงการร่วมทุนกับบริษัท PT Djajati Fishery ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยตั้งบริษัท PT Djajanti surat canning ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้สุราษฎร์แคนนิ่งถือหุ้น 30% บริษัทดังกล่าว จะดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการส่งออก มีกำลังการผลิต 5 ล้านหีบต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยตัวโรงงานตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
ในเดือนเดียวกันนั้นปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่าส่งออกอีก 2 ราย ต่างก็มีกิจกรรมทางธุรกิจขนาดใหญ่ ปรากฏเป็นข่าวออกมาเช่นกัน โดยยูนิคอร์ด ผู้ซึ่งเพิ่งซื้อกิจการบัมเบิลบี ซีฟูดส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป่องรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในสหรัฐอเมริกามาได้เมื่อปี 2532 ก็ประกาศโครงการร่วมทุนกับบริษัท ostsee fisch ประเทศเยอรมันนี ตั้งบริษัท unifisch gmdh ขึ้นที่เมือง rostock ประเทศเยอรมันนี เพื่อดำเนินกิจการโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องป้อนตลาดในยุโรป โดยบริษัทดังกล่าว มีทุนจดทะเบียน 20 ล้าน ดอยช์มาร์ก ยูนิคอร์ดถือหุ้น 75% ส่วนโครงการลงทุน ใช้งบประมาณ 120 ล้านดอยช์มาร์ก ในจำนวนนี้ 40 ล้านดอยช์มาร์ก จะเป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาลเยอรมันนี
ตามมาด้วยข่าวการเข้ามาร่วมลงทุนตั้งฐานในประเทศไทยของสตาร์คิช ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระปองรายใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นคู่แข่งสำคัญของบัมเบิลบี ซีฟู้ดส์ โดยมีการคาดเดากันว่า ผู้ร่วมทุนชาวไทยของสตาร์คิช ได้แก่บริษัท ไทยรวมสิน ซึ่งมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกันกับบริษัทสงขลาแคนนิ่ง และหากมีการตกลงร่วมทุนกันจริง สงขลาแคนนิ่ง ก็น่าจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ ด้วยฐานะเป็นผู้ผลิตป้อนให้สตาร์คิชอย่างมีความต่อเนื่องในระยะยาว
"กิจกรรมทางธุรกิจเหล่านี้ มีขึ้นเพื่อลดอุปสรรคในการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลาทูน่า ที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน" กิตติพงษ์ สมิทธิศราการย์ ผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม รับผิดชอบดูแลการลงทุนของกองทุนรวม รับผิดชอบการลงทุนของกองทุนสินภิญโญ 4 และ สินภิญโญ 5 วิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว
อุปสรรคในการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลาทูน่าส่งออก ปัจจุบันสามารถประมวลออกมาได้ เป็น 3 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วยเรื่องแรก ปัญหาวัตถุดิบ ซึ่งปรากฏว่าทุกวันนี้ปลาในแถบน่านน้ำของไทยถูกจับไปจนไม่มีเหลือแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องนำเข้าปลาทูน่ามาจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูก โครงการร่วมทุนของสุราษฎร์แคนนิ่งที่ตั้งขึ้นมา ก็เพื่อจะแก้ปัญหาในจุดนี้ เพราะในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียนั้น พบว่ายังคงมีปลาทูน่าอยู่เป็นจำนวนมาก
อุปสรรคเรื่องที่สอง คือปัญหาด้านการตลาด จากตัวเลขของกรมศุลกากรพบว่า ปัจจุบันตลาดปลาทูน่าของไทยประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา 45% ตลาดยุโรป 35% ตลาดญี่ปุ่น 10% ส่วนที่เหลือ 10% เป็นตลาดอื่น ๆ และเป็นที่ทราบกันแล้วว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ของสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาจำเป็นจะต้องมีการกีดกัน การค้ากับผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าไปจำหน่ายหลายประเภท ซึ่งปลาทูน่าก็มีแนวโน้มว่าจะถูกจัดรวมเข้าไปอยู่ในรายการดังกล่าวนี้ด้วย นอกจากตลาดยุโรปในปีหน้า ก็จะมีการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นสินค้าหลายชนิดที่เคยส่งเข้าไปขายในตลาดหนี้อย่างสะดวกสบายในอดีต ก็จะต้องประสบปัญหาและอุปสรรคมากขึ้น
การเข้าไปซื้อกิจการที่ตั้งอยู่ในตลาดใหญ่ทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวของยูนิคอร์ด ก็มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดอุปสรรคข้อนี้เช่นกัน
ส่วนอุปสรรคเรื่องที่ 3 ที่ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่องมาจาก 2 เรื่องข้างต้น แต่ยังมองหาหนทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนไม่ได้ คือปัญหากฎหมายอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวหาว่า มีกองเรือบางแห่ง โดยเฉพาะจากปานามา และเม็กซิโก ที่จับปลาทูน่าโดยมีการทำลายปลาโลมา และเต่าทะเล และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการโจมตีบับเบิ้ลบีว่าเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบจากกองเรือเหล่านี้ แม้ทางยูนิคอร์ด ซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้ส่งวัตดุดิบป้อนให้บัมเบิลบี ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม
"จากที่เคยพูดคุยกับบรรดาผู้จัดการกองทุนด้วยกัน ตอนนี้เรามองว่า กลุ่มทูน่าเป็นกลุ่มที่น่าลงทุน เพราะแนวโน้มของราคาปลา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเริ่มอ่อนตัวลง ปัจจัยนี้จะทำให้หลายบริษัทมีกำไรเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัญหาด้านการตลาดนี้ ทุกบริษัทก็มีโครงการลงทุนเพื่อขยายตลาดของตนเองอยู่แล้ว" กิตติพงษ์ กล่าว
โครงการต่าง ๆ ที่บริษัทผลิตปลาทูน่าส่งออกเหล่านี้ประกาศออกมา คนในวงการหลักทรัพย์มีความเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันออกไป นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย ผู้หนึ่งกล่าวว่า เแม้อุตสาหกรรมปลาทูน่าจะมีอนาคต แต่การที่ยูนิคิร์ตต้องไปกู้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาประมูลซื้อกิจการของบัมเบิลบีนั้น ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระหนี้สินที่สูงเกินไป ยิ่งในระยะหลังที่มีโครงการร่วมทุนกับเยอรมันออกมาอีกนั้น ดังนั้นการที่บริษัทจะสามารถบริหารหนี้สินจำนวนนี้ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองดย่างใกล้ชิด
"ที่สงสัยกันก็คือ กิจการปลาทูน่าในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอีกหลายบริษัท ถ้าต้องการแก้ปัญหาด้านตลาดเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะหาซื้อบริษัทอื่นที่มีราคาถูกกว่าได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปทุ่มซื้อบริษัทใหญ่อันดับ 3 อย่างบัมเบิลบี เข้ามาเลย" นักวิเคราะห์ผู้นี้ให้ความเห็น
ศิริรัตน์ วรเวทวุฒิคุณ นักลงทุนมืออาชีพมองว่าสุราษฎร์แคนนิ่ง เป็นบริษัทที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ เพราะนอกจากปัจจัยพื้นฐานของตัวบริษัทจะดีแล้ว ปัจจัยด้านบวกของบริษัท ก็คือ ยังเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นโอกาสขยายตัวในอนาคตจึงมีอยู่สูงมาก
ด้านกิตติพงษ์ จัดลำดับโครงการที่น่าสนใจของบริษัทเหล่านี้ว่า โครงการยูนิคอร์ดน่าจะเป็นโครงการที่มีแนวโน้มที่สุด เพราะการที่บริษัทมีขนาดและฐานด้านการเงินที่ใหญ่มาก ทำให้ได้เปรียบโครงการบริษัทอื่น
สำหรับโครงการที่น่าสนใจรองลงมานั้น กิตติพงษ์มองว่า ถ้าการเข้ามาของสตาร์คิช เป็นการร่วมทุนกับไทยรวมสินจริง สลขลา แคนนิ่ง ก็น่าจะอยู่ในอันดับนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบริษัทสงขลาแคนนิ่งเองด้วยว่า จะได้เข้าไปมีส่วนในการถือหุ้นอยู่ในบริษัทกลาง ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ระหว่าง 2 ฝ่าย หรือไม่ และหากได้ถือจะได้สัดส่วนเท่าไหร่
ส่วนโครงการของสุราษฎร์แคนนิ่ง นั้น กิตติพงษ์มองว่ามีความน่าสนใจอยู่ในลำดับที่ 3
"ในด้านของทรอปิคอล แคนนิ่ง เท่าที่ติดตามดูจะเห็นว่าโครงการขยายงานของเขานั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อาหารทะเลประเภทกุ้งปูแช่แข็งมากกว่าทูน่า และเนื่องจากบริษัทนี้ มาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่แล้ว ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจึงยังไม่มีโครงการใหม่ประกาศออกมา เหมือนกับอีก 3 บริษัท" กิตพิพงษ์กล่าว
มองในราคาหุ้นเทียบกับผลกำไร ยูนิคอร์ดแม้จะมีปัญหาภาระหนี้สูง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าบริษัทอีก 3 ราย กล่าวคือ อยู่ใน P/E ที่ 4-5 เท่า
จึงวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญต่อบริษัทผลิตและค้าทูน่าชั้นนำของไทย มีความแตกต่างในมุมมองอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วพวกเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมทูน่ายังไปได้ดี แม้ตลาดโลกจะอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสงครามอ่าวเปอร์เซียก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|