|
คุณหมอแก้ไขธุรกิจ ของ ว่องกุศลกิจ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
เธอเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพลร่วม 15 ปี เหลืออีกปีเดียวเธอก็จะได้ยศ น.อ. แต่ชีวิตกลับหักเหสู่วงการธุรกิจเต็มตัวในปี 2528 โดยมารับผิดชอบการบริหารเงินทุนยูไนเต็ด จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ในช่วงซึ่งบริษัทประสบปัญหาการเงินอันเป็นผลพวงจากการทำงานที่ผ่านมา ประจวบกับผลกระทบจากการลดค่าเงินบาท ในปี 2527 และการจำกัดเพดานขยายสินเชื่อ 18%
"นาวาอากาศโท ลักษมี พุทธพงษ์ศิริพร" จึงต้องวางมือจากงานแพทย์ประจำวัน และลาออกจากโรงพยาบาล โดยมิพักที่จะมีเวลาการรอการตัดสินใจ แล้วมาทั่งทำงานเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายบริหารสำนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนงานที่สำคัญที่สุดของบริษัท
ทันทีที่ลักษมีเข้าทำงานในวันแรก ก็สร้างความสงสัยแก่คนของบริษัทกันอย่างมากว่าเธอคือใคร จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลงานอันเป็นหัวใจของบริษัทได้ ยิ่งกว่านั้น เธอไม่เคยบริหารธุรกิจมาก่อน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีคำถามและคำสบประมาทจากคนรอบข้างว่า "จะอยู่รอดได้กี่วัน"
อาศัยว่า ลักษมีเป็นคนที่ทางกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เจ้าของบริษัทส่งมา จึงสร้างความเกรงใจต่อไคร ๆ
นี่เป็นผลจากการเข้าไปปรับองค์กรค่อนข้างมาก เพื่อความอยู่รอดของบริษัท แต่แทบจะไม่มีใครรู้ว่าลักษมี คือ 1 ใน 7 พี่น้อง ว่องกุศลกิจ" ตระกูลธุรกิจน้ำตาลที่มีชื่อเสียงของไทย
"ตอนนั้นไม่มีใครช่วย" ลักษมีกล่าวถึงความจำเป็นของลักษณะธุรกิจครอบครัว ซึ่งอยากเห็นว่าทายาทของตนเข้ามาบริหารมากกว่าเป็นคนนอก โดยเฉพาะในยามที่บริษัทมีปัญหา "ช่วยหลวงมามากแล้ว มาช่วยที่บ้านบ้าง" นั่นเป็นคำพูดที่ให้ลักษมีตอบรับทันที แม้ว่าตนจะไม่เคยบริหารธุรกิจมาก่อน
แต่อาศัยว่ามีความผูกพันกับพี่น้องมาก เพราะพี่ชายคนที่ 2 คือกมล ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลมิตรผล เดิมเป็นคนส่งเสียให้เรียน และพี่คนอื่น ๆ ก็ให้ความอบอุ่นทุกอย่าง สำหรับกมลนั้น ลักษมี กล่าวว่า "เปรียบเหมือนพ่อ" เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อผู้เป็นพี่จะให้ช่วยอะไรก็ไม่ขัดข้อง อีกเหตุผลหนึ่งก็คิดว่า "พี่ ๆ คงไว้ใจและรู้จักดีว่า เป็นคนสมถะและมัธยัสถ์" จึงให้มาดูแลสินเชื่อและบริหารภายใน
ขณะนั้น กุศล ผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผล พี่ชายคนโต มาเสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจ กมลเป็นผู้จัดการโรงงาน สุนทร เป็นประธาน วิมล พี่สาวคนเดียว แต่งงานแล้วก็ออกเรือนไป วิทูรย์ ซึ่งแม้จะจบเภสัชมา แต่ก็มาช่วยงานแลป (LAB) ด้านน้ำตาลจนกลายมาเป็นแกนของกลุ่ม ขณะที่ชนินท์ น้องชาย ไปทำธุรกิจโรงแรม และพัฒนาที่ดิน เช่นโรงแรมเชียงอินทร์ อมรินทร์พลาซ่า หรือไฮแอทฯ จึงเหลือลักษมีเพียงคนเดียวที่ดูยังจะไม่มีภาระทางธุรกิจ
ฐานะบริษัทตอนนั้น ขาดทุนจากการลดค่าเงินบาท ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปี 2528 พอปิดงบขาดทุน 8 ล้านบาท "การขาดทุนไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเราที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ แต่เพราะรัฐลดค่าเงินบาทลงประมาณ 2 บาท" เธอให้เหตุผลการขาดทุน
จึงมีความคิดว่าน่าจะผ่อนผันให้ทยอยหักใน 5 ปี คือ 60 เดือน เพื่อให้งบดุลดูสวยขึ้น เพราะผลกระทบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลน่าจะรับผิดชอบ เมื่อเสนอไปยัง กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติในตอนนั้นก็ตอบโอเค ขณะที่หลายคนแย้งว่าทำไม่ได้ ลักษมีก็ยืนยันว่าน่าจะลองดูจนได้ผล
ขณะเดียวกัน เพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ เศรษฐกิจที่ล่อแหลม จนมีข่าวทรัสต์ล้ม บริษัทปิดกิจการไปหลายแห่งนั้น ลักษมีอาศัยความสนใจส่วนตัว ซึ่งรักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ความรู้ด้านธุรกิจ จากการเข้าร่วมประชุมกรรมการของกลุ่มมิตรผลแล้ว เรื่องไหนที่ไม่มีความรู้ก็เข้าคอร์สอบรม
ลักษมีเล่าว่า อีกส่วนหนึ่งที่ได้มาจากวิชาชีพหมอ คือ เรียนรู้ชีวิตของผู้คนทั้งทางด้านธุรกิจและสังคม เพราะคนไข้จะเข้ามาทีละคน จากการพูดคุยกันเรื่อย ๆ ทำให้รู้ว่า แต่ละอาชีพ แต่ละวงการ ในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ภาพพวกนี้ ถ้าเราสนใจ บวกความรู้ที่ได้จากพวกพี่ ๆ ก็ไม่ถึงกับทำให้เรารู้สึกว่าไม่รู้อะไรเอาเลย เหมือนกับที่คนทั่ว ๆ ไปมักจะมองว่าคนที่เป็นหมอคือคนที่ทำงานด้วยยากที่สุด เพราะยืดหยุ่นผ่อนปรนไม่เป็นและจุกจิก" ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจ และความสามารถเฉพาะตัวด้วย สำหรับเธอแล้วมีความคิดว่าทำให้ได้เปรียบด้วยซ้ำไป
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อลักษมีเข้าไปบริหารได้ปรับองค์กรใหม่ ลดกำลังคนส่วนเกินบางส่วนออกไป เข้มงวดค่าใช้จ่ายมากขึ้น งานสำคัญอีกอย่างคือ ตามหนี้เก่าซึ่งคั่งค้างมากเป็นหลักสิบล้านขึ้นไป
แทนที่จะตัดเป็นหนี้สูญเพราะขาดการติดตาม ลักษมีร่วมกับประเสริฐ จันทรโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และกฎหมาย เป็นกำลังสำคัญพร้อมคณะ ใช้วิธีทุกรูปแบบเพื่อทวงหนี้กลับคืนให้มากที่สุด ทั้งด้วยตัวเอง เพื่อนฝูง สายสืบ จนได้คืนมาไม้น้อยกว่า 80%
พร้อมกันนั้นได้ผลักดันให้พนักงานสตรีที่ฝีไม้ลายมือ มีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น โดยเสนอให้ตั้งเป็น ระดับฝ่ายตามความสามารถ
จากผลประกอบการปี 2528 ขาดทุน 8 ล้านบาท พอปี 2529 เริ่มมีกำไรล้านบาทเศษ ปี 2530 กำไร 2 ล้านกว่า ปี 2531 ตัวเลขกำไรเพิ่มเป็น 6 ล้านบาท และปี 2532 เป็น 12 ล้านบาท ส่วนปี 2533 ซึ่งลักษมี ถอนตัวออกมาแล้ว มีกำไร 18 ล้านบาท
อยู่ได้ 5 ปี พอเริ่มปีที่ 6 เมื่อบริษัทเริ่มอยู่ตัว "ถ้าตนอยู่ต่อไป กิจการก็ไม่โตหวือหวา เพราะมีความสามารถจำกัด" ลักษมี เล่าอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากวิญญาณของเธอนั้น ผูกพันอยู่กับวิชาชีพแพทย์ ซึ่งเรียนมาและถนัดมากกว่า
จะเห็นว่า แม้ในช่วงที่ลักษมีต้องไปรับผิดชอบบริษัท ก็ยังพอใจที่จะรักษาคนไข้อยู่ เธอมีคลีนิกเด็กอยู่ในซอยเสนาฯ ถนนพหลโยธิน บางเขน จะผลัดเวรกับเพื่อนไปประจำในช่วงเย็นเพียงวันละชั่วโมง
เมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ถึงปี 2533 เพื่อน ๆ อยากจะเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ จึงชัดชวนลักษมีให้มาช่วยบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งที่ขาดอยู่ และเห็นว่า เธอมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจการเงินมาแล้วในเฉพาะในช่วงวิกฤติ
ลักษมีจึงกลายเป็นเป้าหมายตำแหน่งผู้บริหารของโรงพยาบาลเซ็นทรัล เยนเนอรัล อยู่บริเวณสะพานใหม่ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าดอนเมือง หลังจาก ได้วิฑูรย์ และชนินทร์ พี่ชาย และคนอื่น ๆ มาร่วมร่วมทุนด้วย
ผู้ริเริ่มความคิดคือเพื่อนซึ่งทำงานในร.พ.ภูมิพล ด้วยกันมานาน ได้แก่ พ.ญ.บุปผา สมานชาติ น.พ.ศักดิ์ชัย สรรพวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งมีนายแพทย์พินิจ ทิพทัส ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา
เมื่อใจรักวิชาชีพ มากกว่าประกอบกับโอกาสเหมาะอย่างนี้ ลักษมีจึงไม่รีรอที่จะตอบตกลงหลังจากหารือกับพี่ชายแล้ว โดยมีลิขิต เขมะปานนท์ รับเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทเงินทุนยูไนเต็ด
แม้ลักษมีจะพ้นภาระจากงานเดิมแล้ว แต่ทุกคนก็ยังคุ้นเคยกับการเรียกเธอว่า "พี่หมอ" ซึ่งทำให้ลูกค้าหลายคนแปลกใจ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าหมอจะมาบริหารธุรกิจได้ดี
ยิ่งกว่านั้น ดูจะไม่เป็นที่รู้กันมากนักว่า ลักษมี คือหนึ่งในทายาทของ "ว่องกุศลกิจ" เพราะเธอไม่นิยมกล่าวอวดตัวเอง กระทั่งเมื่อเธอเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาล ความเป็นจริงก็เริ่มแพร่กระจายกันให้ทั่วว่า แท้ที่จริงเธอคือน้องสาวโรงงานมิตรผล หลังจากที่มีคำถามบ่อย ๆ ว่า ทำไมตระกูล "ว่องกุศลกิจ" จึงสนใจงานด้านโรงพยาบาล
โรงพยาบาลแห่งนี้บริหารโดยบริษัท แอดวานซ์ เมดิคอล เซนเตอร์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ถือได้ว่ามีการรวมตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคสาขาต่าง ๆ จากโรงพยาบาลภูมิพล เพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการรักษาให้ได้อย่างเพียงพอแก่ประชาชน ย่านสะพานใหม่ หลักสี่ รามอินทรา บางบัว รังสิต แจ้งวัฒนะ ลำลูกกา ด้วยบริการเพียบพร้อมครบถ้วนเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นหนึ่งของกรุงเทพ
ทั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระคนไข้จากโรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งไม่พอบริการประชาชนในย่านนี้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีเตียงผู้ป่วย 150 เตียง ในระยะแรก และเพิ่มเป็น 300 เตียงในระยะที่สอง จะบริการผู้ป่วยนอกได้วันละ 1,000 คน มีห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านอย่างพร้อมสรรพตลอด24 ชั่วโมง
จุดบริการรักษาที่จะเน้นเป็นพิเศษ คือด้านสูตินารีเวช ศัลยกรรม ซึ่งมีแพทย์เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนมาก และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากภูมิพล อีกด้านหนึ่ง คือเวชศาสตร์การกีฬา คือสภาพความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเล่นกีฬา ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ตามอัตราที่ประชาชนให้ความสนใจการออกกำลังกาย แต่มักจะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาจากการออกกำลัง กายไม่ถูกวิธี
โครงการนี้ ใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท และได้รับการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ เริ่มก่อสร้างไปแล้ว กำหนดเสร็จและเปิดบริการได้ในปลายปีนี้
ลักษมีจะนั่งทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของที่นี่ หลังจากที่ต้องกลายเป็นนักบริหารจำเป็นที่บริษัทเงินทุนยูไนเต็ดมาแล้ว ก็มาเป็นนักบริหารโรงพยาบาลด้วยใจรัก ซึ่งเธอหวังว่าจะทำได้ดียิ่งกว่าเก่า.!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|