บัณฑิต นิจถาวร มันสมองคนไทย ในไอเอ็มเอฟ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยมายาวนาน ไทยเป็นชาติแรก ๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกร่วมกับชาติมหาอำนาจตะวันตก นับตั้งแต่หน่วยงานนี้ ก่อตั้งและเริ่มดำเนินการหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ความที่เป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศที่สังกัด สหประชาชาติ จึงหาคนรู้จัก หน่วยงานนี้น้อยมาก ว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง ตรงข้ามเมื่อเทียบกับธนาคารโลก ของคนไทย รู้จักมากว่า ในฐานะ เป็นองค์กรทางการเงิน ที่ให้กู้กับรัฐบาลเพื่อโครงการพัฒนาประเทศ

ไอเอ็มเอฟมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับธนาคารชาติทุกประเทศ ที่เป็นสมาชิกในการวางนโยบาย ทางการเงินการคลัง รวมถึงนโยบายทางด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ให้ความช่วยเหลือในรูปการให้การกู้ยืมแก่ธนาคารกลางของชาติสมาชิก ในการรักษาเสถียรภาพดุลการชำระ เงินและทุนสำรองเมื่อมีความจำเป็น

ความแตกต่างที่ชัดเจนกับธนาคารโลกเช่นนี้ ความรับรู้ต่อบทบาท ของไอเอ็มเอฟ จึงอยู่ในวงแคบ เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารชาติ กระทรวงการคลัง และบรรดาสถาบันการเงินเอกชน

"ตุลาคมนี้ ทางธนาคารโลกกับไอเอ็มเอฟ จะร่วมกันประชุมประจำปี สภาผู้แทนธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่กรุงเทพฯ ในประเด็นที่ สำคัญ ๆ ทางนโยบายการเงินการคลังที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบที่สืบเนื่องวิกฤตการณ์ในอ่าวเปอร์เซีย และประเด็นนี้มีผลเชื่อมโยงในสิ่งที่พูดกันในที่ประชุม เป็นที่จับตามองอย่างจดจ่อของชาวโลก" บัณฑิต นิจถาวร นักเศรษฐกิจชาวไทยประจำไอเอ็มเอฟ พูดกับ "ผู้จัดการ"

ไอเอ็มเอฟ เป็นหน่วยงานที่มีพนักงานประจำอยู่ประมาณ 1,700 คน กว่าครึ่งเป็นนักเศรษฐกิจที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีคนไทยที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำอยู่ 7 คน เช่น ชาญ วงสาทร ที่อาวุโสที่สุด และปัจจุบันเป็นหัวหน้า สำนักงานผู้แทนไอเอ็มเอฟ ประจำ เวสเทริ์น ซาเมา ขนิษฐา มีสุข จันทร์เพ็ญ ภัคอธิคม วิภาดา สุนทรสีมะ และบัณฑิต นิจ ถาวร นักเศรษฐศาสตร์ สังกัดฝ่ายเอเซียน เป็นต้น

ในบรรดาคนไทยที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานประจำไอเอ็มเอฟ บัณฑิต นิจถาวร เป็นคนล่าสุด ที่เข้าสังกัด บัณฑิต อายุ 37 ปี จบปริญญาตรีเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัย เอสเส็ก ประเทศอังกฤษ ปริญญาโท และเอก ทางเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัย ในประเทศออสเตรเลีย เขาเข้าทำงาน ในไอเอ็มเอฟ จาการคัดเลือกในโปรแกรม Global recruitment เมื่อปี 2529 ขณะที่ เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ของไอเอ็มเอฟ ทำให้มีความรู้ กิจการทางนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวางเพราะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันดูแลให้การปรึกษา นโยบายของประเทศ ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร

ไอเอ็มเอฟ จะแบ่งสายงานของนักเศรษฐศาสตร์ ออกเป็น 2 ส่วน ตามภูมิภาค และแบ่งตามสายทางเศรษฐกิจเช่นการเงิน การคลัง เป็นต้น

"ผมผ่านโต๊ะฟิลิปินส์ อินเดีย ไลบีเรีย แกมเบีย ไทย โวโลมอนไอร์แลนด์ บังคลาเทศ เวสเทินส์ ซาเมา ภูฐาน มาแล้ว" บัณฑิตเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์จากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ไอเอ็มเอฟ สังกัดสายภูมิภาค และสายการคลังช่วงตั้งแต่แรกเข้าถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 4 ปี

เวลานี้ บัณฑิตนั่งทำงานที่แบงก์ชาติ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการขึ้นตรงต่อ ศิริ การเจริญดี และวิจิตร สุพินิจ "มันเป็น external assignment ที่ทางไอเอ็มเอฟ อนุญาตให้มา 2 ปี หลังจากทางอดีตผู้ว่าการชวลิต ธนะชานันท์ ขอยืมตัวผมกับทางไอเอ็มเอฟ" บัณฑิต เล่าที่มาของการนั่งเป็นที่ปรึกษาแบงก์ชาติ ซึ่ง เขากล่าวว่าเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ ราวเดือนธันวาคม ปี 2532 เขาเคยมาที่แบงก์ชาติร่วมกับเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ในการสนทนาเพื่อรับทราบข้อมูล สถานการณ์ทางการเงินที่แบงก์ชาติดูแลอยู่

ภารกิจในการที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของบัณฑิต ครอบคลุมบทบาทการร่วมศึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการแบงก์ชาติในการพัฒนาระบบการเงินตามแผนงาน 3 ปีข้างหน้า ที่แบงก์ชาติมีเป้าหมายทางนโยบายแจ่มชัด ที่จะผ่อนคลายให้ระบบการเงิน มีการแข่งขันเสรีทุกด้าน

"ผมเกี่ยวข้องในประเด็นการพัฒนาระบบการเงิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินออม และประสิทธิภาพทางการจัดสรรทรัพยากรทางด้านการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 2 ตลาดใหญ่ คือหนึ่ง ตลาดเงินและตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์" บัณฑิต เล่าถึงบทบาทในการเป็นที่ปรึกษา โดยย้ำว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น กับงานการประชุมสภาผู้แทนไอเอ็มไเอฟ เวิร์ลแบงก์ ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคมนี้

การพัฒนาระบบการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินออม เป็นหัวใจของการบริหารนโยบายการเงินในภาพรวมช่วงจากนี้ไป เนื่องจากความต้องการใช้เงินของภาคเศรษฐกิจ ยังมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังกระตุ้นการออกมา โดยพยายามลดภาระการดำเนินงานของสถาบันการเงิน และผ่อนคลายการควบคุมเพื่อเปิดให้มีการแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกันการให้ความคุ้มครองกับผู้ลงทุน โดยมาตรการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง และการสร้างสภาพคล่องในตลาดหุ้นก็เป็นเป้าหมายของการพัฒนาในส่วนของตลาดทุน เพื่อการระดมเงินออมระยะยาว

"ทางแบงก์ชาติมีนโยบายเรื่องนี้มาก่อนที่ผมจะมานั่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการที่นี่ ทางไอเอ็มเอฟ ไม่มีส่วนเข้ามาชี้นำการสร้างนโยบายนี้ อย่างที่บางคนเข้าใจแต่อย่างใด" บัณฑิต พูดถึงสถานภาพที่แท้จริงของไอเอ็มเอฟ

ปัจจุบันไทยไม่มีหนี้ตกค้างกับไอเอ็มเอฟแล้ว นับตั้งแต่ช่วงที่เราประกาศรับพันธะข้อ 8 ของไอเอ็มเอฟ ที่มีความหมายถึงการยอมรับปฏิบัติที่จะยกเลิกระเบียบใด ๆ ที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายเงินตรา ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับไอเอ็มเอฟ เป็นลักษณะอิสระต่อกันในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ไอเอ็มเอฟ เป็นเพียงให้ คำแนะนำเท่านั้น เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2531 บัณฑิต กล่าวว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟ ที่เข้าไปในประเทศไลบีเรีย ซึ่งอยู่ในทวีปอัฟริกาตะวันตก เนื่องจากทางกระทรวงการคลังของไลบีเรีย โทรเลขด่วนถึงไอเอ็มเอฟ เพื่อขอคำแนะนำด้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราการแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล

เขามีเวลาเพียง 5 วัน ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้น นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุด ในการทำงานที่ไอเอ็มเอฟ ที่เขากล่าวว่ามีวัฒนธรรมในการทำงานที่สูงส่ง มีวินัย มีท่วงทำนองในการสื่อสารที่กระชับมิตร ตรรกะทางวิชาชีพที่ดีเยี่ยม

ไอเอ็มเอฟ เป็นหน่วยงานองค์การระหว่างประเทศ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ ระดับชั้นยอดของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การเป็นสตาฟหนึ่งในจำนวนนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ถึงนับพันคน ที่นั่งทำงานในวอชิงตัน และที่อื่น ๆ ทั่วโลก ตามประเทศต่าง ๆ นับว่าเป็นการพิสูจน์ ถึงความเป็นยอดฝีมือ ในการเป็นมันสมองด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังให้กับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ

มองในแง่นี้บัณฑิตและสหายอีก 6 ท่าน ในไอเอ็มเอฟ คือ ทรัพยากรอันมีค่าของชาติ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.